ประเทศไทยพัฒนาฟาวิพิราเวียร์ สูตรน้ำเชื่อมสำเร็จ ใช้กับผู้ป่วยโควิดเด็ก-ผู้สูงอายุ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.08.05
กรุงเทพฯ
ประเทศไทยพัฒนาฟาวิพิราเวียร์ สูตรน้ำเชื่อมสำเร็จ ใช้กับผู้ป่วยโควิดเด็ก-ผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเตรียมเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยโควิด-19 จากห้องคอนเทนเนอร์เย็น โรงเก็บศพ เพื่อบรรจุโลงด้านนอกของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564
เอเอฟพี

จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์แบบน้ำเชื่อมเพื่อใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 เด็ก และผู้สูงอายุได้แล้ว โดยให้บริการศุกร์นี้ ขณะที่มีการติดเชื้อพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง

นพ. นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยผ่านแฟนเพจโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ว่า การพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์แบบน้ำเชื่อมครั้งนี้ สืบเนื่องจาก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวาควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงเป็นห่วงเด็กที่ติดโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่พิสูจน์ได้ว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กได้ จึงจำเป็นต้องมียาไว้ลดอาการรุนแรงของโรค 

“จำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ผู้ป่วยโควิด-19 จะสามารถเข้าถึงยารักษาโรคฟาวิพิราเวียร์ได้อย่างรวดเร็ว โดยทรงเป็นห่วงประชาชนและเด็กเล็ก เพื่อสนองพระนโยบายดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการพัฒนาและคิดค้นสูตร ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) เพื่อต้านเชื้อไวรัสสำหรับเด็ก และผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด ตำรับแรกในประเทศไทย” นพ. นิธิ ระบุ

แฟนเพจโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ระบุว่า ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ เป็นความร่วมมือของสถาบันฯ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด ที่ได้ร่วมกันพัฒนาและคิดค้นสูตรตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งทดลองแล้วในผู้ป่วยเด็ก 12 ราย อายุระหว่าง 8 เดือน ถึง 5 ปี ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พบว่าได้ผลดีและไม่มีผลข้างเคียง

นพ. นิธิ ระบุว่า ปัจจุบัน จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย สามารถผลิตยาน้ำเชื่อมฯ สำหรับผู้ป่วยได้ 300 รายต่อสัปดาห์ ซึ่งราชวิทยาลัยฯ ยินดีที่จะให้มอบตำรับยาน้ำเชื่อมฯ ให้โรงพยาบาลอื่นที่สนใจไปผลิตใช้เอง และสำหรับผู้ติดเชื้อยืนยันที่ต้องการยาชนิดนี้ก็สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อขอรับยาได้ โดยใช้ใบสั่งยากจากแพทย์ โดยการใช้ต้องมีติดตามผลอย่างเป็นระบบ ยามีอายุจำกัดเพียง 30 วัน และต้องเก็บในอุณหภูมิ 30 องศา

ก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤษภาคม 2564 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ปฏิเสธคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศไทย ทำให้ ปัจจุบัน ไทยไม่มีผู้ถือสิทธิขาดผลิตยาชนิดนี้ และสามารถผลิตในประเทศเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างไม่ผิดกฎหมายสิทธิบัตร

ยอดติดเชื้อทำลายสถิติที่ 20,920 รายต่อวัน

พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ไทยยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้เป็นการทำลายสถิติจำนวนผู้ติดเชื้ออีกครั้งที่ 20,920 ราย มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตวันนี้ 160 คน และจำนวนผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ในระบบ 213,910 ราย

ด้าน นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อ 2,547 ราย ระหว่างวันที่ 24-30 กรกฎาคม 2564 พบการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา 1,993 ราย คิดเป็น 78.2 เปอร์เซ็นต์ สายพันธุ์อัลฟา 538 ราย คิดเป็น 21.2 เปอร์เซ็นต์ และสายพันธุ์เบตา 16 ราย คิดเป็น 0.6 เปอร์เซ็นต์

สธ. ประกาศรักษาฟรีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19

ในช่วงดึกของวันพุธที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และบุคคลกลุ่มเป้าหมาย ที่ได้รับการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยการฉีดวัคซีนตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมการป้องกันและขจัดโรคติดเชื้อโควิด-19 กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 (ฉบับที่ 2) ที่ระบุเกี่ยวกับการให้การรักษาตามสถานพยาบาลที่รัฐกำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิด-19

ทั้งนี้ไม่รวมถึงวัคซีนทางเลือกที่ให้บริการโดยสถานพยาบาล ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ซึ่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับการฉีดวัคซีน เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน ดังระบุตามประกาศลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ปัจจุบัน ไทยสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนแล้ว 18,961,703 โดส โดยเป็นผู้ที่รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว 4,178,702 ราย ขณะที่ในจำนวนผู้รับวัคซีนทั้งหมด เป็นผู้รับวัคซีนทางเลือกของซิโนฟาร์มประมาณ 1.2 ล้านโดส

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง