ภาพคนตายข้างทางจากโควิด-19 สร้างความขุ่นเคืองบนสื่อออนไลน์

นายแพทย์ในภาคีบุคลากรสาธารณสุข เรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ลาออก
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.07.21
กรุงเทพฯ
ภาพคนตายข้างทางจากโควิด-19 สร้างความขุ่นเคืองบนสื่อออนไลน์ เจ้าหน้าที่กู้ภัยเก็บศพผู้เสียชีวิตที่มีอาการปอด ซึ่งอาจจะติดเชื้อโควิด-19 ที่ริมถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ วันที่ 20 กรกฎาคม 2564
ศรุมณย์ นรฤทธิ์/เบนาร์นิวส์

ประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแสดงความขุ่นเคืองต่อรัฐบาล หลังจากที่มีการอัพโหลดภาพศพผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งนอนอยู่บนถนน ในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัส โดยกล่าวหารัฐบาลเพิกเฉยต่อการช่วยเหลือประชาชนที่ขาดโอกาสเข้ารับบริการรักษาพยาบาลจากภาครัฐ

สื่อออนไลน์ได้เผยแพร่ภาพของชายอย่างน้อยสองรายเสียชีวิต อยู่ที่บริเวณหน้าศึกษาภัณฑ์พานิช (เดิม) และที่ตรอกบ้านพานถม ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เขตพระนคร เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยในวันพุธนี้ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้ข้อมูลว่า ตามข้อมูลการชันสูตรเบื้องต้นโดยแพทย์คนหนึ่ง มีอาการปอดบวมและอาจจะมีเชื้อโควิด

“ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่มีรัฐบาลประชาธิปไตย ที่มุ่งมั่นรับใช้ประชาชน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน... และเลือดเย็นพอที่จะเห็นคนตายอย่างไร้ศักดิ์ศรีกลางถนน เพราะเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ” นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัว

ด้าน นายสมจิต สมใจ เจ้าของธุรกิจส่วนตัวอายุ 36 ปี กล่าวแสดงความตกใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

"ไม่นึกว่าจะได้เห็น คนนอนตายข้างถนนในประเทศเรา หดหู่จนไม่รู้จะหดหู่ยังไงแล้ว ธุรกิจก็แย่ สังคมก็แย่ กราบรัฐบาลเลยครับ รีบเอาวัคซีนเข้ามาฉีดคนทีเถอะ" นายสมจิต กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นอกจากนั้น ประชาชนส่วนหนึ่งได้กล่าวหารัฐบาลว่ามีความล่าช้าในการสั่งวัคซีน แต่กลับใช้การออกกฏบังคับควบคุมประชาชน รวมทั้งให้ความสำคัญต่อวัคซีนซิโนแวคที่มีข้อสงสัยในประสิทธิภาพ และพึ่งพา บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่เป็นผู้รับจ้างผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกามากเกินไป

ทั้งนี้ นพ. สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ จากภาคีบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ร่วมเดินขบวนประท้วงรัฐบาลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กล่าวว่า ระบบสาธารณสุขของไทยล้มเหลวแล้วในปัจจุบัน

“ลาออกเถอะครับ ให้คนทำงานเป็นมาทำดีกว่า… สถานการณ์ตอนนี้ ก็เป็นอย่างที่เห็น เกินการควบคุมแล้ว เข้าสู่ภาวะแบบเดียวกับ อิตาลี อินเดีย เคยเจอแล้วเรียกว่า ล้มเหลวทางสาธารณสุข และตัวเลขติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ไม่มีแนวโน้มจะลดลงเลย” นพ. สันติ กล่าว

“สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือ รีบหาวัคซีน หรือยืมวัคซีนจากต่างประเทศ เร่งฉีดให้บุคลากร และกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิต เริ่มฟูลล็อกดาวน์ ปิดสถานที่เสี่ยง และเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เร่งระดมตรวจเชื้อคนให้ได้มากที่สุดเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออก เคลียร์โรงพยาบาลสนาม ให้รับคนไข้ที่มีอาการ คนไข้ที่ไม่มีอาการให้กักตัวที่บ้านให้เยอะที่สุด” นพ. สันติ กล่าวเพิ่มเติม

ทางด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้กล่าวตอบโต้กับฝ่ายประชาชนที่ออกมาประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รวมทั้งไม่ได้โต้ตอบกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ แต่ในวันเดียวกันนี้ ได้เปิดเผยหลังร่วมประชุมกับผู้บริหารบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศว่า รัฐกำลังร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหา

“วันนี้ ภารกิจที่สำคัญที่สุดของเรา คือเราต้องรีบทุ่มเททุกอย่าง เพื่อจัดการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศให้ได้ โดยเร่งเรื่องการได้รับและการฉีดวัคซีนให้เร็วยิ่งขึ้น” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ด้าน นพ. นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวขอโทษประชาชนที่การจัดหาวัคซีนมีความล่าช้า ทั้งชี้แจงว่า ไทยกำลังพิจารณาจะเข้าร่วมโครงการ COVAX ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก แต่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด

“การดำเนินการที่เราจัดหาวัคซีนอาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของข้อจำกัดที่มี แต่ก็จำเป็นต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชน ที่ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติแม้ว่าจะได้พยายามเต็มที่แล้ว แต่ก็จัดหาวัคซีนไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ซึ่งสถานการณ์ก็เป็นสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด รวมทั้งสถานการณ์ของการกลายพันธุ์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราคาดหมายได้ล่วงหน้า” นพ. นคร กล่าว

นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยต้นปี 2563 พบผู้ติดเชื้อสะสม 439,477 ราย เสียชีวิตสะสม 3,610 ราย คิดเป็น 0.82 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อ สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว 14,805,120 โดส ในนั้นเป็นผู้ที่รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว 3,512,541 ราย

210721-TH-covid-vaccines-rollout.jpg

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งไม่สามารถหาโรงพยาบาลรักษาได้ มานั่งรอเจ้าหน้าที่ดำเนินการที่ข้างทำเนียบรัฐบาล วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

เตียงขาดแคลน

นพ. วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลในประเทศไทยมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยประมาณ 1.5 แสนเตียง ซึ่งเมื่อดูตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นรายวัน แสดงให้เห็นว่าจำนวนเตียงที่จะรองรับผู้ป่วยกำลังเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ กรุงเทพฯ ได้เปิดศูนย์พักคอยสำหรับผู้ติดเชื้อ 23 แห่ง เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่ยังไม่สามารถหาโรงพยาบาลได้ 2,950 ราย

ประเด็นความล่าช้า นายภานุวัฒน์ บุตรสิงห์  พนักงานขับรถส่งสินค้าอายุ 24 ปี เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองหาสถานที่ตรวจเชื้อ 4 วัน และหลังจากทราบว่าติดเชื้อ ต้องใช้เวลาหาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอีก 5 วัน

“ผมคิดว่าที่ผมต้องเจอ ปัญหาโรงพยาบาลไม่พอ เริ่มมาจากรัฐบาล เพราะถ้าจัดการทุกอย่างดี ฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เยอะ ๆ ผู้ป่วยคงไม่เยอะจนเตียงล้นแบบนี้ ประชาชนต้องนอนรอเตียง เสียชีวิตมากขนาดนี้ ถ้าแนะนำรัฐบาลได้ก็อยากแนะนำว่าให้ลาออกแล้วให้คนที่บริหารเก่งกว่านี้มาทำดีกว่า” นายภานุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน น.ส. นวพร สุนันท์ลิกานนท์ ศูนย์วิจัยเด็กและเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชี้ว่า รัฐควรดำเนินมาตรการต่าง ๆ บนพื้นฐานของข้อมูล

“ล็อกดาวน์ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด รัฐบาลควรให้ข้อมูลและเหตุผลดี ๆ กับประชาชน รวมถึงชัดเจนในเรื่องมาตรการเยียวยา ทางออกคือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนเพื่อให้เขาออกไปทำงาน หรือเดินทางได้ ไม่ใช่ขอความร่วมมือให้อยู่บ้านแต่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ความเสี่ยงมันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดี" น.ส. นวพร กล่าว

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และกฤติน ลิขิตปริญญา ในกรุงเทพฯ คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงานข่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง