ไทยทดลองฉีดวัคซีนที่พัฒนาเองให้อาสาสมัครเข็มแรก
2021.03.22
กรุงเทพฯ
ในวันนี้ ประเทศไทยประเดิมฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นในประเทศให้อาสาสมัครกลุ่มแรก ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปลายปีนี้จะได้สูตรที่ดีที่สุดไปศึกษาต่อในระยะที่ 3 และปี 2565 จะยื่นขอทะเบียนตำรับและผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ 25-30 ล้านโดสต่อปี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนที่วิจัยและพัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรมและมหาวิทยาลัยมหิดล จะช่วยให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาวัคซีนต่างชาติน้อยลง
“การผลิตวัคซีนในครั้งนี้เป็นการผลิตโดยคนไทยเพื่อคนไทย โดยใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ของบุคลากรองค์การเภสัชกรรม ถือเป็นความหวังและเป็นขีดความสามารถใหม่ของประเทศไทยที่จะผลิตวัคซีนได้เอง ลดการพึ่งพาต่างชาติ กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า ในวันนี้ มีการประเดิมฉีดเข็มแรกในอาสาสมัครกลุ่มแรกก่อน 18 คน โดยจะเปิดรับอาสาสมัครเข้าทดลองรวม 460 คน
ด้าน นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ขึ้นใช้เองในประเทศนั้น องค์การเภสัชกรรม ได้ร่วมมือกับสถาบัน PATH (Program for Appropriate Technology in Health) แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ส่งหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นที่พัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์ Mount Sinai ในนิวยอร์กและมหาวิทยาลัยเท็กซัส มาให้ใช้วิจัยพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นมีการตัดแต่งพันธุกรรมไวรัสนิวคาสเซิล ให้มีโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) ของไวรัสโควิด-19 จึงมีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดโรค เพิ่มจำนวนในไข่ไก่ฟักได้
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า องค์การเภสัชกรรมมีเทคโนโลยีนี้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน จากการทดสอบความเป็นพิษในหนูแรทที่อินเดีย ทดสอบประสิทธิภาพและการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูแฮมสเตอร์ที่สหรัฐอเมริกา มีความปลอดภัย กระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้รับอนุญาตให้ฉีดวัคซีนเพื่อศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 นี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่องค์การเภสัชกรรมวิจัยพัฒนานั้น จะมีการทดสอบกับสารเสริมฤทธิ์ (Adjuvant) และจะเลือกสูตรที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจหาประสิทธิผลในการศึกษาวิจัยระยะต่อไป
“วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายที่องค์การเภสัชกรรมดำเนินการอยู่นี้ ยังต้องมีทำการศึกษาวิจัยในมนุษย์ในระยะที่ 3 ในกลุ่มอาสาสมัครจำนวนมาก และการวิจัยที่หลากหลายกว้างขวางมากขึ้น จึงจำเป็นต้องร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการสนับสนุนการดำเนินงานให้สำเร็จ เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนยา กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้สำเร็จ เพื่อให้สามารถทำการผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมได้ต่อไป” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาวิจัยจะเปิดรับอาสาสมัคร 460 คน ซึ่งทุกคนต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 และไม่มีประวัติแพ้ยาหรือวัคซีน โดยจะมีการตรวจคัดกรอง ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือด
“สำหรับการศึกษาวิจัยจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 จำนวน 210 คน อายุ 18-59 ปี โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกศึกษาในอาสาสมัคร 18 คนก่อน เริ่มด้วยวัคซีนขนาดที่ต่ำที่สุด และค่อยเพิ่มไปยังขนาดที่สูงขึ้น และส่วนที่ 2 ศึกษาในอาสาสมัคร 192 คน จากนั้นจะวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเลือกให้ได้ขนาดหรือสูตรวัคซีนวิจัย 2 สูตร นำไปวิจัยต่อในระยะที่ 2 ประมาณเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยในอาสาสมัครอายุ 18-75 ปี จำนวน 250 คน สำหรับการศึกษาระยะที่ 2 คาดว่าจะทราบผลภายในปลายปีนี้” ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง กล่าว
นอกจากนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า คาดว่าภายในปี 2565 จะขอรับทะเบียนตำรับและเริ่มผลิตวัคซีนได้ โดยผลิตได้ 25-30 ล้านโดสต่อปี
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด-19 รวม 1,117,300 โดส แบ่งเป็น ของบริษัท ซิโนแวค ไบออนเทค จำกัด จากประเทศจีน 1,00,000 โดส และของบริษัท แอสตราเซเนกา จากประเทศอังกฤษ/สวีเดน 117,300 โดส เริ่มฉีดให้กับประชาชนกลุ่มแรก ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ตามแผนของรัฐบาล ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564
ไทยจะนำเข้าวัคซีน 2 ล้านโดส จากซิโนแวค มูลค่า 1,228 ล้านบาท และอีก 26 ล้านโดส และจากแอสตราเซเนกา มูลค่า 6,049 ล้านบาท และ ครม. เพิ่งอนุมัติงบประมาณการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม 35 ล้านโดส มูลค่า 6,387 พันล้านบาท จากแอสตราเซเนกา ซึ่งจะทำให้ในปี 2564 ประเทศไทยจะมีวัคซีน 63 ล้านโดส เพียงพอสำหรับฉีดประชาชน 31.5 ล้านคน
และล่าสุดมีแผนที่จะนำเข้าวัคซีนซิดนแวคอีก 5 ล้านโดส แต่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดการนำเข้า ขณะนี้ ตามการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 62,941 ราย แบ่งเป็น บุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข อสม. 31,066 ราย เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 7,147 ราย บุคคลที่มีโรคประจำตัว 4,182 ราย ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 35 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 20,511 ราย