ธนาธรรับทราบข้อกล่าวหา ม.112 ไลฟ์วัคซีนพระราชทาน
2021.03.30
กรุงเทพฯ
ในวันอังคารนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาประมวลกฎหมายอาญา ม.112 กับพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง จากกรณีไลฟ์เฟซบุ๊ก “วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ใครเสีย?” เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 โดยนายธนาธร ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ขณะที่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุ ดำเนินคดีตามกฎหมายไม่มีการดำเนินการสองมาตรฐาน
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของนายธนาธรกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า นายธนาธรได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย รองผู้กำกับการสอบสวน สน.นางเลิ้ง ในเวลา 10.00 น. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา กรณีการไลฟ์บนเฟซบุ๊กแฟนเพจคณะก้าวหน้า และเพจส่วนตัวของนายธนาธร ซึ่งมีเนื้อหาวิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลที่มีความล่าช้า และตั้งข้อสังเกตถึงการถ่ายโอนเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากบริษัท แอสตราเซเนกา มายังบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์
“คำฟ้องเป็นการตัดต่อข้อความที่เลือกนำบางคำพูดออกมาฟ้อง โดยไม่ได้ดูเนื้อหาโดยรวมทั้งหมด แต่ถ้าดูโดยรวมทั้งหมด มันไม่ผิดหรอก สิ่งที่เราพูดเป็นความจริงหมด ปัญหาก็เกิดขึ้นทุกวันนี้ วัคซีนตัวนี้มีปัญหา ก็เกิดการขาดแคลน ฉีดไม่ทันจริง เราจะต่อสู้ในแนวทางเดียวกันกับคดีที่ดีอีเอสเคยฟ้อง” นายกฤษฎางค์ กล่าว
นายกฤษฎางค์ ระบุว่า นายธนาธรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้ระบุวันนัดนายธนาธร ในครั้งต่อไป
ขณะที่ นายธนาธร กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า กรณีที่ถูกดำเนินคดี ตนเองกระทำด้วยเจตนาดี มีความบริสุทธิ์ใจ หากใครได้ย้อนกลับไปฟังสิ่งที่ตนพูดวันนั้นจะพบว่า ไม่มีข้อความใดเลยที่ล่วงละเมิด ม.112 และ จะเห็นว่าสิ่งที่พูดไปได้ปรากฏเกิดขึ้นจริงแล้วในสองเดือนที่ผ่านมา การจัดหาวัคซีนโดยขึ้นกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งมากเกินไปเป็นความเสี่ยง
“เราพยายามเรียกร้องคุณประยุทธ์มาตลอดว่า อย่าดึงสถาบันฯ มาปกปิดความล้มเหลวการบริหารจัดการของตัวเอง คุณประยุทธ์ ได้ดึงสถาบันฯ เข้ามาปกปิดการบริหารที่ผิดพลาดของตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า การถูกหมายเรียกวันนี้จึงไม่ได้เหนือความคาดหมาย” นายธนาธร ระบุ
“เนื้อหาก็ปรากฏเป็นจริงตามนั้นว่า มีความเสี่ยงเกิดขึ้นจริง การไลฟ์ของเราทำให้รัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการจัดซื้อจัดหาวัคซีน ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงวัคซีนที่หลากหลาย รวดเร็วมากขึ้น เราก็ยืนยันว่า สิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงวัคซีนเร็วขึ้น ทำให้ประเทศไทยได้มีโอกาสเปิดประเทศอีกครั้ง” นายธนาธร กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวแก่สื่อมวลชนที่ สน.นางเลิ้งว่า คดีนี้ นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ว่า นายธนาธรทำความผิด พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานมาระยะหนึ่ง และมีพยานหลักฐานที่เชื่อว่า นายธนาธรมีความผิดจริงตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ ม.112 จึงได้ออกหมายเรียกให้นายธนาธร มารับทราบข้อกล่าวหา
“คดีนี้ใครก็มาแจ้งได้ นายอภิวัฒน์เขาได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบการกระทำความผิดนี้ว่า มีบุคคลเผยแพร่ข้อความที่ไม่เป็นความจริงที่ทำให้เกิดความเสียหาย หากนายธนาธร มีพยานหลักฐานอะไรก็ให้นำเข้าสู่สำนวน ทางพนักงานสอบสวนจะได้รวบรวมพยานหลักฐาน ให้ความเป็นธรรมเต็มที่ และเมื่อรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จก็จะไม่คุมตัว” พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าว
“คดีนี้ไม่ได้สองมาตรฐาน หรือเลือกปฏิบัติ เพราะพนักงานสอบสวนทำตามพยานหลักฐาน ใครจะวิจารณ์ก็เป็นสิทธิ แต่พนักงานสอบสวนก็ต้องทำหน้าที่ในกรอบของกฎหมาย” พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม
คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 นายธนาธร ได้แถลงผ่านไลฟ์บนเฟซบุ๊กแฟนเพจ “คณะก้าวหน้า” และเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัว ในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ใครเสีย” วิพากษ์-วิจารณ์ ความล่าช้าในการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล ที่มีความล่าช้า และไม่ครอบคลุมต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ ขณะเดียวกันระบุว่า การจัดซื้อเป็นการหวังผลทางการเมือง รวมถึงพาดพิงถึงในหลวง ร.10 ด้วย
ทำให้ต่อมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ส่งตัวแทนไปแจ้งความต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้เอาผิดนายธนาธร ในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และร้องให้ศาลมีคำสั่งลบข้อความที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊ก
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันทีี่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญาได้ยกคำร้องของดีอีเอส ที่ร้องขอให้ศาลอาญาออกคำสั่งบังคับให้นายธนาธร ระงับการเผยแพร่วิดีโอแถลงดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ข้อความที่นายธนาธรระบุ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
“เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดแล้ว แม้ว่าผู้คัดค้านจะบรรยายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด แต่ก็มิได้มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นชัดเจนเป็นการกล่าวหา หรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริตต่อพระองค์ ไม่ว่าในทางใด ๆ จึงไม่มีลักษณะชัดเจนหรือเห็นได้ในทางภาวะวิสัยที่แสดงว่า ข้อความนี้อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงตามที่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ แต่อย่างใด” ตอนหนึ่งของคำสั่งศาลระบุ