สภาฯ เห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน เยียวยาโควิด-19

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.06.10
กรุงเทพฯ
สภาฯ เห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน เยียวยาโควิด-19 แม่ค้าขายปลาแห้งเข็นรถข้ามถนน ในย่านเยาวราช กรุงเทพฯ วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสบดีนี้ สภาผู้แทนราษฎร มีมติรับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 หลังจากโดนผลกระทบจากการระบาดโควิดระลอกที่รุนแรงกว่าเดิม โดย พ.ร.ก. ฉบับนี้ เป็นการกู้เงินเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ในปีที่ผ่านมา

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออภิปราย พ.ร.ก.กู้เงินฯ เริ่มขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ก่อนจะมีการลงมติในวันที่ 10 มิถุนายน 2564 โดยมีผู้เข้าประชุม 469 คน แต่ไม่ออกเสียง 2 คน มีมติเห็นชอบ 270 เสียง ไม่เห็นชอบ 196 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง ซึ่งทำให้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ผ่านความเห็นชอบของสภา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการลงรายละเอียดว่า จะกู้เงินจำนวนนี้จากสถาบันการเงินแห่งใดบ้าง ขณะที่ ทางฝ่ายค้านติว่าขาดการชี้แจงรายละเอียดและเป้าหมายของการใช้เงิน

“บริบทที่ทุกประเทศได้เผชิญร่วมกันปัจจุบันก็คือ ผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ปกติ ดังนั้น การกู้เงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการให้ประเทศนี้ผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้” นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการเปิดการอภิปราย

พ.ร.ก.กู้เงินฯ มี 9 มาตรา และมีบัญชีแนบท้าย ซึ่งโดยสรุปวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาทนี้ จะถูกจัดสรรสำหรับใช้ใน 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ต่อไปนี้

1. เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาล และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากร วงเงิน 30,000 ล้านบาท รับผิดชอบโดย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานของรัฐที่ ครม. มอบหมาย

2. เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง วงเงิน 300,000 ล้านบาท รับผิดชอบโดย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่ ครม. มอบหมาย และ

3. เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงานหรือโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 170,000 ล้านบาท รับผิดชอบโดย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่ ครม. มอบหมาย

ในการอภิปรายนั้น ประเด็นที่ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ไม่มีรายละเอียดการใช้จ่ายเงินที่ละเอียดเพียงพอ เป็นประเด็นที่ถูกอภิปรายจากฝ่ายค้านจำนวนมาก

“เงินกู้ หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ มันต้องใช้เฉพาะใน 1 ปีให้จบ และเป็นกิจกรรมที่ชัดเจน เช่น ระงับยับยั้งการระบาด เยียวยาแค่นั้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจจำเป็นไหมครับ จำเป็น แต่อย่าเอามาใช้ในเงินกู้” นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าว

ขณะที่ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องระบุกรอบการใช้เงินให้ชัดเจน รวมถึงเป้าหมายของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ด้วย

“ถ้าจริงใจกับประชาชนจริง บอกได้ไหมว่า ถ้าเกิดกู้ 5 แสนล้านนี้ จะมีอะไรเกิดขึ้น พี่น้องประชาชนจะกลับคืนสู่สภาวะปกติภายในกี่เดือน กี่ปี รายได้ปกติจะกลับคืนมา ไปทำงานได้ จะฉีดวัคซีนเสร็จภายในกี่ปี หรือกู้เงินก้อนนี้ได้ จะมีวัคซีนเพิ่มอีกกี่ยี่ห้อ พูดกันไปเลย และพี่น้องประชาชนจะได้นับถอยหลังว่า เหลืออีกกี่เดือน... ท่านไปแก้มาใหม่แล้วใส่รายละเอียดมา” นายณัฐชา กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ชี้ว่า พ.ร.ก.กู้เงินฯ ฉบับนี้จำเป็นต้องออกเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ไม่สามารถรอ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปกติได้

“การออกพระราชกำหนดฉบับนี้ ก็เพื่อให้มีน้ำ ก็คือเงิน ที่ใกล้ไว้ดับไฟ ก็คือความทุกข์ร้อนของประชาชนหลายสิบล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นไฟที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้อย่างรุนแรง” นายไพบูลย์ กล่าว

นายกฯ ยืนยัน กู้เงินอย่างรอบคอบแน่นอน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงระหว่างการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า รัฐบาลเสนอ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ด้วยความละเอียดรอบคอบ และถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

“รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรด้วยความไม่ละเอียดรอบคอบ ประชุมไม่รู้กี่ประชุม คณะทำงานไม่รู้กี่คณะทำงาน พอประชุมทบทวน ท่านก็ว่าช้า ไม่ทบทวนท่านก็บอกทุจริต ไปว่ากันในกระบวนการยุติธรรม ผมยืนยัน… ผมเอาข้อเท็จจริงมาสู้ท่าน ผมไม่ได้เอาเรื่องโกหกบิดเบือนมาสู้ท่าน ผมเป็นคนนึงที่ถวายสัตย์ปฏิญาณไว้แล้วว่า ผมจะเป็นคนที่ไม่พูดโกหก เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้าน นายอาคม กล่าวหลังฟังการอภิปรายว่า “ข้อเสนอแนะข้อท้วงติงต่าง ๆ ซึ่งกระผมก็จะรับไป ดำเนินการ แล้วก็ปรับปรุงที่สำคัญเรื่องของการปรับปรุงวิธีการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายละเอียดของกรอบแผนงาน”

ในวันเดียวกัน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 187,538 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,310 ราย มีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 43 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 1,375 ราย คิดเป็น 0.73 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย

นักวิชาการชี้ กู้รอบนี้แล้วเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น คือหายนะ

นายซาไล บาวี นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า พรก.กู้เงินฯ ฉบับนี้ อาจทำให้หนี้สาธารณะสูงกว่ากรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่เคยทำหนดไว้

“60 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี คือเพดานสูงสุดที่รัฐบาลสามารถเป็นหนี้ได้ การที่ พรก.ฉบับนี้ ถูกโหวตให้ผ่านจากรัฐสภานั้น อาจทำให้หนี้สาธารณะมาจนสุดเพดานที่ราว ๆ 59 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนี้จะกู้ไม่ได้แล้ว รัฐบาลเคยกู้มาแล้วเป็นวงเงินสูงถึง 1 ล้านล้านบาท แต่จนถึงปัจจุบัน เรายังไม่เห็นแสงสว่างของการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนเลย การกู้เงินเพิ่มในครั้งนี้ ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน แต่ทำให้ประชาชนเห็นว่า พวกเขาจะมีหนี้เพิ่ม โดยที่ปัญหากับโควิดก็ยังต้องเผชิญไม่ได้หายไปไหน” นายซาไล กล่าว

“การกู้ครั้งนี้ น่าจะเป็นลมหายใจสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์แล้ว และหากไม่สามารถแก้ไขได้ ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจะหายนะของจริง เพราะประชาชนไม่สามารถสร้างรายได้ เนื่องจากธุรกิจยังถูกปิดและโอกาสจะฟื้นนั้นยาก สุดท้ายอาจต้องกู้นอกระบบเพิ่มขึ้นอีก หนี้ในครัวเรือนจึงไม่มีทางลดแน่ ๆ ขณะที่หนี้สาธารณะจะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้จีดีพีในประเทศไม่เติบโต เรามองเห็นแค่ทางตัน” นายซาไล ระบุ

ในปี 2563 รัฐบาลเคยออกพระราชกำหนด 3 ฉบับ รวมวงเงินกู้ 1.9 แสนล้านบาท เพื่อใช้แก้ไขสถานการณ์โควิด-19 มาแล้ว ประกอบด้วย 1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท 2. พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท และ 3. พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2564 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปี 2564 ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ 8.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 51.9 เปอร์เซ็นต์ ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยระดับหนี้สาธารณะของไทย ในปีงบประมาณ 2564 นี้ จะอยู่ที่ประมาณ 56 เปอร์เซ็นต์ ตามกรอบความวินัยการเงินทางการคลังไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ต่อจีดีพี

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง