นายกฯ : ระบาดใหม่ในโควิด-19 เป็นภัยร้ายแรง อาจพิจารณามาตรการเข้ม
2020.12.22
กรุงเทพฯ และปัตตานี
ในวันอังคารนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่า จะลงโทษขบวนการค้าแรงงานที่หมายรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเด็ดขาด โดยได้ตำหนิผู้นำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย ว่าเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาที่เริ่มมาจากตลาดอาหารทะเล ในสมุทรสาคร เมื่อนับตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้วนั้น ได้ทะลุหลักพันแล้วในวันอังคารนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงการณ์เน้นย้ำว่า การระบาดใหม่ของโควิด-19 เป็นภัยร้ายแรงสำหรับประเทศ พร้อมตำหนิผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จนเกิดการระบาดรอบใหม่ ที่กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีการกระจายเชื้อไปยังประชาชนในอย่างน้อย 27 ราย ใน 8 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว
“ในส่วนของขบวนการนำแรงงานเถื่อนเข้าประเทศนั้น จะต้องถูกดำเนินคดี ถูกทำลายให้สิ้นซาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ หรือประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพราะการแพร่ระบาดครั้งนี้ ตรวจพบผู้ติดเชื้อจากแรงงานต่างด้าวมากที่สุด” นายกฯ กล่าวในแถลงการณ์
“เราต้องจำไว้ว่า เพียงคนไม่กี่คนที่ละเลยความรับผิดชอบต่อสังคม และมีพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัว จะสร้างปัญหาให้คนเป็นล้าน ๆ ได้ ผมจึงต้องขอให้คนไทยทุกคน ใช้ชีวิตในแต่ละวัน อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับที่สูงมากกว่าปกติ” นายกฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องมีความระมัดระวัง เรื่องการกำหนดมาตรการผ่อนคลายอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทย รวมถึงการปรับมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในประเทศ เช่น การทำกิจกรรมต่าง ๆ การตรวจคัดกรอง การเว้นระยะห่าง รวมถึงการจัดกิจกรรมฉลองปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
“เมื่อต้นปี ตอนที่โควิดเริ่มเป็นภัยร้ายแรงของโลก มีประเทศที่ไม่เข้มงวดปกป้องดูแลเรื่องสุขภาพและสาธารณสุขด้วย เพราะกังวลว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของตัวเอง ปัจจุบันประเทศเหล่านี้ล้วนเจอผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจทั้งสิ้น เพราะสุดท้ายแล้ว การระบาดของโควิดทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ เมื่อคนเป็นโควิดเยอะ สุดท้ายก็สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจอยู่ดี เพราะฉะนั้นสำหรับผมมันชัดเจนมาก ว่าการเข้มงวดเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน และสาธารณสุขของประเทศ เป็นวิธีที่จะปกป้องความเสียหายต่อเศรษฐกิจไม่ให้รุนแรงมากกว่าที่เรากำลังเจออยู่” นายกฯ กล่าวเพิ่มเติม
ในช่วงเช้า นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงรายงานความคืบหน้าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวนทั้งสิ้น 427 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 16 ราย ซึ่งมีประวัติเชื่อมโยงกับตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร จากการคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าวอีก 397 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าพักในสถานกักกันโรคอีก 14 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 5,716 คน
โฆษกฯ ศบค. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ในพื้นที่ตลาดกลางกุ้งมีการคัดกรองไปแล้ว 5,838 ราย และยังต้องรอผลการตรวจอยู่ ทั้งนี้จากการสอบสวนโรค พบว่า ลูกค้าประจำที่เดินทางไปซื้อขายสินค้าที่ตลาดกุ้งประมาณ 1,000 คนนั้น กระจายตัวอยู่ใน 22 จังหวัด จึงขอให้คนที่เคยไปซื้อของที่ตลาดกุ้งในช่วงเวลาดังกล่าวเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจหาเชื้อ โดยให้แจ้งว่าตนมีความเชื่อมโยงกับตลาดกุ้ง
ทั้งนี้ รายชื่อ 22 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร เพชรบูรณ์ นครราชสีมา สมุทรปราการ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี กรุงเทพฯ และ สงขลา
“ใน 22 จังหวัดนี้ บางจังหวัดพบผู้ติดเชื้อแล้ว บางจังหวัดยังไม่พบ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเหล่านี้ไม่ควรตื่นตระหนก ศบค. เพียงให้ข้อมูลเพื่อเฝ้าระวัง ให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อม รวมทั้งเป็นการย้ำให้ผู้ที่มีประวัติเดินทางไปตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร รีบแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่หรือเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ
หลังจากการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวด ธุรกิจบางหมวด เช่น ร้านอาหาร การท่องเที่ยวในประเทศ ได้ฟื้นตัวขึ้นมา ทำให้มีความต้องการแรงงานต่างด้าวมากขึ้น จึงมีรายงานการเล็ดลอดของแรงงานเมียนมา ลาว และกัมพูชา เข้ามาทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
ในส่วนของภาคใต้นั้น แรงงานไทยในมาเลเซีย และแรงงานลาว กัมพูชา และเมียนมา ต่างได้ลักลอบผ่านแดนกลับมาโดยมีขบวนการนำพามนุษย์ให้ความช่วยเหลือ
ล่าสุด เมื่อตอนเช้าตรู่ของวันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่ในจังหวัดนราธิวาส ได้จับกุมแรงงานประมงเพศชาย สัญชาติลาว จำนวน 32 คน ได้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ในพื้นที่บ้านแฆแบะ ม.1 ต.นานาค อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ฝั่งตรงข้ามหมู่บ้านกำปุงบากง ปาเซร์มัส รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย จากการตรวจสอบ ทั้งหมดมีหนังสือเดินทางสัญชาติลาวถูกต้อง แต่ไม่มีการประทับตราเข้ามาในราชอาณาจักรแต่อย่างใด
พล.ต.ต.นรินทร์ บูสมัน ผบก.ภ.จว.นราธิวาส ระบุว่า แรงงานกลุ่มดังกล่าวให้การว่า พวกตนเป็นแรงงานมาจากรัฐยะโฮร์
“เรามีแรงงานตรงนี้ 5 สัญชาติ สัญชาติเวียดนาม ลาว เขมร พม่า จีน ที่อยู่กับเราตอนนี้ รวมกับของเดิมแล้วตั้งแต่วันที่ 7 และวันนี้อีกรวมแล้ว 100 คน กระจายอยู่ที่ตาม สภ.ต่าง ๆ ของจังหวัดนราธิวาส ทั้งหมด ซึ่ง 3 สัญชาติ ลาว เขมร พม่า เรารอผลักดันเลย ในส่วนของพม่า ตอนนี้ค่อนข้างยาก ระหว่างประเทศยังตกลงกันไม่ได้ เขาไม่ยอมรับคนของเขา ปัญหาตอนนี้ที่เจอมันไม่ใช่ปัญหาของที่เราผลักดันไม่ได้ แต่มันเป็นปัญหาประเทศเขาที่ไม่ยอมรับคนของเขา ก็เหมือนกับเรา เมื่อก่อนเราก็ปิดประเทศเราก็ไม่รับคนของเราที่อยู่ในมาเลเซีย เรามีการตกลงกันสักพักหนึ่ง ก่อนเราจะเปิดรับคนของเรา” พล.ต.ต.นรินทร์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
พล.ต.ต.นรินทร์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ทางตำรวจพบปัญหาไม่มีระบบโลควอรันทีนสำหรับแรงงานต่างชาติอย่างสมบูรณ์ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เอง มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ