นายจ้างของเขาที่ตลาดอาหารทะเลติดเชื้อโควิด-19 ก่อน คนงานชาวเมียนมาบอก

รายงานพิเศษแก่เบนาร์นิวส์
2020.12.23
นายจ้างของเขาที่ตลาดอาหารทะเลติดเชื้อโควิด-19 ก่อน คนงานชาวเมียนมาบอก เจ้าหน้าที่ใช้ลวดหนามกันคนเข้าไปในตลาดกุ้ง ในระหว่างการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563
เอพี

คนงานชาวเมียนมารายหนึ่งที่ทำงานในประเทศไทย ได้ติดเชื้อโควิด-19 ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธว่า เขาติดเชื้อไวรัสนี้จากนายจ้างคนไทย ในตลาดอาหารทะเลสดขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ในสมุทรสาคร จังหวัดชายฝั่งทะเล ใกล้กรุงเทพฯ  

เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กล่าวว่า คนงานต่างด้าวที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายน่าจะเป็นสาเหตุของการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มากกว่าครั้งก่อน ที่เกิดขึ้นในตลาดอาหารทะเลสดขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ตลาดแห่งนี้มีคนงานจากเมียนมาหลายร้อยคน ติดเชื้อไวรัสนี้

นายออง ชเว คนงานชาวเมียนมาที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 และกำลังได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ กล่าวว่า เขาติดเชื้อมาจากนายจ้างของเขา ซึ่งติดเชื้อโควิดก่อน

จากนั้น แม่ พี่สาว และน้องสะใภ้ของนายจ้าง ทุกคนติดโควิดกันหมด” เขาบอก “จากนั้น คนซื้อกุ้งคนหนึ่งในตลาดแห่งนั้น ก็ติดเชื้อด้วย ผมเป็นคนที่หกที่ติดเชื้อโควิด

อย่างไรก็ตาม นายออง ชเว ซึ่งไม่มีอาการเจ็บป่วยแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ติดเชื้อโควิด กล่าวว่า นายจ้างของเขาป่วย เพราะเชื้อไวรัสเข้าปอด

เราทำงานด้วยกัน และเธอก็รู้สึกไม่สบายมาซักระยะหนึ่งแล้วเขากล่าว

เธอใส่หน้ากากบ้าง ไม่ใส่บ้าง” เขากล่าว “หลังจากไม่สบายสามวัน เธอไปหาหมอ หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่มานำตัว ผม ภรรยาและลูกของผม และเพื่อนร่วมงานของผมพร้อมภรรยาของเขาไปตรวจหาเชื้อ ต่อมา ผมได้รับแจ้งว่าผมติดเชื้อโควิด และผมก็ถูกส่งตัวมาโรงพยาบาลนี้”

ประเทศไทยสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ได้ดี และนับตั้งแต่ที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในไทยเมื่อเดือนมกราคม จนถึงวันที่ 17 ธ.ค. มีผู้ติดเชื้อเพียงประมาณ 4,200 คน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนสูงกว่ามาก

แต่เมื่อวันจันทร์ จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นจนถึงเกือบ 5,300 ราย หลังจากตรวจพบผู้ติดเชื้อกว่า 900 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพชาวเมียนมาที่ตลาดแห่งนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกล่าว แรงงานต่างด้าวประมาณ 5,000 คน ถูกกักตัวไว้ในจังหวัดสมุทรสาคร

ในวันพุธ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยอยู่ที่ 5,762 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตคงที่ 60 ราย ขณะที่เมียนมารายงานว่า มีผู้ติดเชื้อ 118,869 ราย และผู้เสียชีวิตจำนวน 2,507 ราย

นายเคน กี ผู้อำนวยการ Aid Alliance Committee (AAC) ประจำประเทศไทย กลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานพม่าในประเทศไทย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขไทยบอกว่า ร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่กลุ่มนี้ เป็นคนงานอพยพชาวเมียนมา”

รัฐบาลไทยยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการกักตัวผู้ติดเชื้อ 900 กว่ารายเหล่านี้” เขาเสริม “ตอนนี้ คนงานอพยพกำลังวิตกกันว่า ตัวเองอยู่ในหมู่คนงาน 5,000 คน ที่ถูกกักตัวหรือไม่”

'ไม่เหมือนเดิม'

นายเคน กี ยังกล่าวด้วยว่า ข่าวนี้ทำให้มีการเลือกปฏิบัติต่อชาวเมียนมาในไทย

ร้านค้าบางร้านไม่อยากขายของให้ลูกค้าชาวเมียนมา” เขากล่าว “บนรถเมล์ ผู้คนปฏิบัติกับชาวเมียนมาแตกต่างไปจากเดิม มันไม่เหมือนแต่ก่อน ตอนนี้ คนงานอพยพชาวเมียนมากำลังอยู่ด้วยความหวาดระแวง”

หลังการระบาดที่ตลาดดังกล่าว เมื่อคืนวันอังคาร นายจ้างโรงงานพลาสติกแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร ได้นำตัวคนงานอพยพชาวพม่าจำนวน 14 คน ไปปล่อยทิ้งไว้นอกกรุงเทพฯ หกคนจากจำนวนนี้อยู่ในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย แต่ที่เหลืออยู่อย่างผิดกฎหมาย นายเคน กี กล่าว

นายจ้างของคนงานเหล่านั้นโกหกพวกเขา บอกว่าจะพาไปทำงานอีกที่หนึ่ง” เขาบอก “คนงานเหล่านี้โทรศัพท์ถึงเราตลอด หลังจากถูกนำไปปล่อย นายจ้างปล่อยพวกเขาไว้ข้างถนน และไม่กลับไปหาอีกเลย”

AAC ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากสถานีตำรวจในท้องที่ และกระทรวงแรงงานไทย เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบคนงานเหล่านี้ และนำตัวไปเพื่อกักตัวไว้ นายเคน กี กล่าว

เรดิโอ ฟรี เอเชีย ไม่สามารถติดต่อขอรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่แรงงานประจำสถานทูตเมียนมา ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ที่ไปพบกับคนงานชาวเมียนมาที่ถูกทิ้งเหล่านี้ได้

เมื่อวันพุธ เจ้าหน้าที่สถานทูตพม่าได้เดินทางไปยังส่วนที่ถูกปิดอยู่ของตลาดมหาชัย ในสมุทรสาคร และได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทยในท้องที่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และองค์กรการกุศลต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานแก่คนงานที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ และแก่คนงานที่กำลังรอการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เขากล่าว

AAC ยังขอให้เจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมา จัดเตรียมหมายเลขโทรศัพท์เพื่อให้คนงานติดต่อกับสถานทูตได้ในกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมตัว แต่เจ้าหน้าที่ได้ประกาศว่า ในช่วงการระบาดใหญ่นี้ จะไม่มีการจับผู้อพยพที่ผิดกฎหมาย นายเคน กี กล่าว

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแรงงานชาวเมียนมาประมาณ 3 ล้านคน โดยแรงงานชาวเมียนมาทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายประมาณ 500,000 คน ทำงานอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร เขากล่าว

รายงานโดย เนเรน ชอว์ สำหรับเรดิโอ ฟรี เอเชีย ภาคภาษาเมียนมา แปลโดย ยี คอง เมียน มอง เขียนเป็นภาษาอังกฤษโดย โรแซนน์ เจริน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง