โควิด : สถิติผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงถึง 2,070 ราย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และมารียัม อัฮหมัด
2021.04.23
กรุงเทพฯ และปัตตานี
โควิด : สถิติผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงถึง 2,070 ราย เจ้าหน้าที่ตรวจสอบประชาชนที่เข้าแถวเพื่อรอการตรวจเชื้อโควิด-19 ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) วันที่ 23 เมษายน 2564
เอพี

ในวันศุกร์นี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แถลงว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 2,070 ราย เป็นสถิติสูงสุดของการพบผู้ติดเชื้อในหนึ่งวันของประเทศไทย ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ประเมินว่าหากผู้ติดเชื้อในประเทศยังเพิ่มขึ้นวันละ 1,500 ราย จำนวนเตียงที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงอีก 19 วันเท่านั้น 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ประเทศไทยทำลายสถิติการพบผู้ติดเชื้อในหนึ่งวันอีกครั้ง ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นด้วย 

“ตัวเลขวันนี้อยู่ที่ 2,070 ราย เป็นการทำนิวไฮของระลอกนี้ ทำให้ยอดรวมสะสมแตะที่ 5 หมื่นวันแรก 50,183 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้นวันนี้ 4 ราย เสียชีวิตสะสม 121 ราย ระลอกนี้เท่ากับว่าเป็นการยืนยันสะสมอยู่ที่ 21,320 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุกในชุมนุมเพียง 5 พันเศษๆ แล้วก็เป็นผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามาในระบบบริการ 16,151 ราย มีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 19,873 ราย ทำให้เกิดความหนาแน่นในโรงพยาบาล” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว 

“ตอนนี้ เตียงไอซียู มีทั้งหมด 262 เตียง ต้องพยายามขยายเข้าไป กทม. เตียงที่ว่างอยู่นะตอนนี้ที่เป็นไอซียู 69 เตียง ถ้าหากมีการติดเชื้อประมาณ 1,500 รายต่อวัน ก็จะเกิดการใช้เตียงจำนวนมากทีเดียวต่อวัน ประมาณซัก 52 เตียงต่อวัน ทั้งประเทศ กทม. ประมาณ 10-13 เตียงต่อวันจะใช้ได้อยู่เต็มที่ 6-8 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนนี้มีเตียงทั้งหมดคงเหลือประมาณ 1,000 เตียง รองรับได้อีกประมาณ 19 วัน”  นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติม 

ขณะที่ นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยในการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขว่า ปัจจุบัน อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ในระลอกการระบาดเมษายน 2564 นี้ ใกล้เคียงกับการเสียชีวิตช่วงการระบาดระลอกที่ธันวาคม 2563 

“ตอนระบาด มกราคม 63 อัตราป่วยแล้วเสียชีวิตอยู่ที่ 1.4 (เปอร์เซ็นต์) ตอนการระบาดระลอกปลายเดือน ธันวา 63 จะอยู่ประมาณร้อยละ 0.1 ตอนนี้ การระบาดระลอกเดือนเมษาอยู่ร้อยละ 0.13 แต่ยังไงนี่เป็นเพียงแค่ช่วงเริ่มต้น” นพ. โอภาส กล่าว 

โดยสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในการระบาดระลอกมกราคม - 14 ธันวาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อ 4,237 ราย รักษาหาย 98.58 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิต 60 ราย คิดเป็น 1.42 เปอร์เซ็นต์ ระลอก 15 ธันวาคม 2563 - 31 มีนาคม 2564 ติดเชื้อ 24,626 ราย รักษาหาย 99.86 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิต 34 ราย คิดเป็น 0.14 เปอร์เซ็นต์ และระลอกเมษายน 2564 ติดเชื้อ 21,320 ราย เสียชีวิต 27 ราย คิดเป็น 0.13 เปอร์เซ็นต์ 

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวแก่สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ประเมินว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลได้ประกาศใช้จะเห็นผลภายใน 2 สัปดาห์ 

“วันนี้ คนที่ติดเชื้ออยู่ไม่ใช่ติดเชื้อเมื่อวาน ติดเชื้อตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ เราก็หวังว่าหลังจากเขาได้รับยา หรือว่าคนที่ไม่แสดงอาการภายในวงรอบ 2 สัปดาห์เขาก็น่าจะหาย แล้วก็ถ้าไม่มีกลุ่มก้อนใหม่ขึ้นมา ก็น่าจะลดลงตามหลักของระบาด… เราหวังว่าหลังจากนี้ไป 2 สัปดาห์มันน่าจะลงมา ถ้าคนให้ความร่วมมือเต็มที่ช่วงนี้ อยู่กับบ้าน ทำงานที่บ้าน” นายอนุทิน กล่าว 

นายกฯ เตรียมงบเยียวยา/ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3.8 แสนล้านบาท 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ระบุว่า รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณสำหรับการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว 

"รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไว้อีกประมาณ 3.8 แสนล้านบาท โดยมาจาก พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2.4 แสนล้านบาท งบกลางปีงบประมาณ 2564 อีก 9.9 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายบรรเทาโควิด-19 อีก 4 หมื่นล้านบาท โดยฝ่ายเศรษฐกิจได้เตรียมโครงการที่จะช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภค รวมไปถึงโครงการที่จะก่อให้เกิดการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะใช้ในการช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเจริญเติบโตให้ได้โดยเร็ว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 

มาเลเซียจับ 42 คนไทยที่พยายามข้ามพรมแดนคืนบ้านเกิด 

นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก เปิดเผยว่า ชาวไทยที่พยายามหลบหนีกลับประเทศบ้านเกิดโดยผิดกฎหมาย หลังมาเลเซียขีดเส้นตาย ในวันที่ 21 เมษายน อาจต้องติดคุกที่มาเลเซีย 

“คนไทย 42 คนที่ถูกจับกุมในครั้งนี้ ได้เตรียมลักลอบเดินทางกลับไทยอย่างผิดกฎหมาย ในช่วงค่ำของวันที่ 21 เมษายน 2564 หลังด่านพรมแดนรันเตาปันยังปิดทำการ โดยติดต่อนายหน้ามาเลเซีย เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 6,000 บาทต่อคน เดินทางมาจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ถือเอกสารปลอม ตำรวจมาเลเซียได้จับกุมตามมาตรการจับกุมผู้ที่พำนักในมาเลเซียเกินกำหนด และผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยทั้งหมดจะเข้ากระบวนการสืบสวนสอบสวนอย่างน้อย 14 วัน และอาจถูกตัดสินจำคุกอย่างน้อย 3 เดือน” นายรุ่งเรือง กล่าว 

ทั้งนี้ การจับกุมดังกล่าวสืบเนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียได้ออกมาตรการ MCO (The movement control order) เพื่อลดการเดินทางและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ชาวต่างชาติและแรงงานไทยในมาเลเซีย ไม่สามารถต่อวีซ่าหรือเดินทางได้ตามปกติ แต่หลังจากที่มาตรการ MCO สิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ทำให้ชาวต่างชาติต้องเดินทางออกจากมาเลเซีย ภายในวันที่ 21 เมษายน 2564

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง