กรุงเทพมหานครประกาศปิดสนามกีฬา สถานที่สาธารณะ

รพ.ธรรมศาสตร์ ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจคนป่วยโควิด หากเข้าข่ายสองกรณี
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.07.23
กรุงเทพฯ
กรุงเทพมหานครประกาศปิดสนามกีฬา สถานที่สาธารณะ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเดินทางโดยเรือ เพื่อเข้ามาตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนที่อยู่ในชุมชนห่างไกลจากตัวเมือง ในจังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
Photo: Benar

กรุงเทพมหานคร ประกาศปิดสนามกีฬา สถานที่สาธารณะ และร้านตัดผม-เสริมสวย มีผลในวันศุกร์นี้ ท่ามกลางการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่วันละมากกว่าหนึ่งหมื่นราย ติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์

ในวันศุกร์นี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พบผู้ป่วยรายใหม่ 14,575 ราย รวมยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 438,844 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 114 ราย ยอดสะสมเพิ่มเป็น 3,811 ราย เป็นประวัติการณ์ทั้งสองยอด ขณะที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลต่าง ๆ 143,744 ราย มีผู้ป่วยล้นเตียงอย่างน้อยสามพัน

“ศปก.ศบค. ได้เสนอแนะให้กรุงเทพมหานครพิจารณาสั่งปิดสถานที่หรือกิจการเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19... ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” กรุงเทพมหานคร ระบุในการประกาศ

สถานที่ที่ต้องปิดการบริหารชั่วคราวประกอบด้วย 1. สนามกีฬาทุกประเภท 2. สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ต่าง ๆ 3. ลานกีฬา 4. ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรศการ 5. ศูนย์การเรียนรู้ และหอศิลป์ 6. ห้องสมุดสาธารณะ 7. พิพิธภัณฑ์ 8. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน 9. ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ร้านทำเล็บ และร้านสัก และ 10. สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬา สระว่ายน้ำสาธารณะ

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จำต้องเลือกจัดลำดับการช่วยเหลือผู้ป่วย

เมื่อวานนี้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ประกาศไม่ใส่ท่อช่วยหายใจให้ผู้ป่วยโควิด-19 หากเข้าหลักเกณฑ์สองในสี่ข้อ เพราะอุปกรณ์ไม่เพียงพอ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังรุนแรงต่อเนื่องมาจากเดือนเมษายน และมีผู้ป่วยรายวันในหลักหมื่นมาหนึ่งสัปดาห์ติดต่อกัน

โรงพยาบาลฯ ระบุว่า สำหรับผู้ป่วยหากไม่ได้มีการระบุด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร ทีมสหสาขาวิชาจะร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบว่า จะมีการใส่เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ ซึ่งในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้แสดงเจตนาล่วงหน้า แพทย์จะไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ หากเข้าหลักเกณฑ์ 2 ใน 4 ข้อ ต่อไปนี้ คือ 1. อายุมากกว่า 75 ปี 2. ป่วยเป็นโรคที่มีค่าคะแนน Charlson Comorbidity Index (CC) มากกว่า 4 เช่น โรคมะเร็งที่มีการแพร่กระจาย และโรคเอดส์ (AIDS) 3. ผู้ป่วยที่มีความเปราะบางระดับปานกลาง, รุนแรง, รุนแรงมาก, อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต หรือ Clinical Frailty Scale (CFS) มากกว่าหรือเท่ากับ 6 และ 4. เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 โรงพยาบาลฯ ได้ประกาศงดรับคนไข้ใหม่ และคนไข้ที่ไม่ได้นัด เนื่องจากเตียงที่มีอยู่กว่า 400 เตียงเต็มแล้ว

ขณะเดียวกัน พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ระบุว่า ทั่วประเทศกำลังขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข โดยก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ลดปริมาณผู้ที่รอรับการรักษาริมถนนด้วย

“บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีความเป็นห่วง เพราะว่าเมื่อก่อนหน้านี้ เราก็ขอความร่วมมือบุคลากร จากต่างจังหวัดโยกมาช่วย กทม. ปริมณฑล ตอนนี้ หลายจังหวัดเองก็มีสถานการณ์ที่หนักขึ้น บางที่ระบบเตียงขึ้นไปที่ 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว ดังนั้นบุคลากรก็ต้องมีการโยกกลับไปดูแลสถานการณ์ในพื้นที่” พญ. อภิสมัย กล่าว

หมอภาคีบุคลากรสาธารณสุขชี้ สถานการณ์วิกฤต

ด้าน นพ. สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ จากภาคีบุคลากรสาธารณสุข กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ ในไตรมาสที่ 4 อาจช้าเกินไปที่จะแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยปัจจุบัน

“ตอนนี้ ไม่ใช่ค่อนข้างวิกฤต คือ วิกฤตแล้ว ผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นทุกวัน มาตรการรัฐก็ดูไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ผู้ติดเชื้อแพร่ไปในชุมชนหมดแล้ว ระบบสาธารณสุขล้มเหลวไปแล้ว รัฐต้องให้คนออกจากบ้านน้อยที่สุด” นพ. สันติ

นพ. สันติ กล่าวอีกว่า ในการใช้ขนส่งสาธารณะต้องมีมาตรการมากกว่าการใส่หน้ากาก โดยให้ระดมใช้ราปิดเทสต์ให้มากที่สุดเพื่อแยกเชื้อ หากใครไม่มีอาการกักตัวที่บ้าน ทำโรงพยาบาลให้พร้อมรับผู้ป่วยที่มีอาการให้ได้มากที่สุด และจัดหา mRNA ให้เร็วที่สุดมากที่สุด และระดมฉีดโดยเร็วที่สุด

ด้าน น.ส. นวพร สุนันท์ลิกานนท์ ศูนย์วิจัยเด็กและเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชี้ว่า “สถานการณ์นี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลบริหารสถานการณ์ล้มเหลวมอย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่ของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การจัดหา และกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง

ณ วันศุกร์นี้ มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 15,388,939 โดส เป็นผู้ที่ได้รับครบสองเข็ม 3,583,759 ราย

องค์การเภสัชฯ เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนโมเดอร์นาแล้ว

นพ. วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า ในวันศุกร์นี้ อภ. และ บริษัท แซดพี เทอราพิวติกส์ ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย ได้ลงนามในสัญญาซื้อ-ขายวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท โมเดอร์นา 5 ล้านโดสแล้ว แต่ไม่มีการเปิดเผยมูลค่าสัญญา ซึ่งจะสามารถจัดส่งมายังประเทศไทย ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ต่อเนื่องไตรมาส 1 ปี 2565

สำหรับการจัดสรรนั้น วัคซีนจะถูกส่งให้กับโรงพยาบาลเอกชน 277 แห่งทั่วประเทศ ในปริมาณ 3.9 ล้านโดส ส่วนอีก 1.1 ล้านโดส จะจัดสรรให้ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี และศิริราช โดยช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเปิดให้ประชาชนจองวัคซีนในราคาประมาณ 1,500-1,700 บาทต่อเข็ม

ขณะเดียวกัน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน - 19 กรกฎาคม 2564 มีผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของซิโนฟาร์มแล้ว 615,867 ราย มีผู้ที่ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ 84,775 ราย ซึ่งพบ 769 คน มีอาการไม่พึงประสงค์ตั้งแต่เล็กน้อยไปถึงปานกลาง เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง