ราชทัณฑ์ฉีดวัคซีนโควิดให้ผู้ต้องขังแล้ว 2.3 หมื่นราย ในเรือนจำ 18 แห่ง
2021.06.11
กรุงเทพฯ
ในวันศุกร์นี้ กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่าสามารถฉีดวัคซีนให้กับผู้ต้องขังแล้วกว่า 2.3 หมื่นราย ในเรือนจำ 18 แห่ง จากเรือนจำทั้งหมด 143 แห่งทั่วประเทศ จากจำนวนนักโทษกว่าสามแสนคนทั่วประเทศ หลังจากที่พบการระบาดในเรือนจำต่าง ๆ อย่างหนักในช่วงก่อนหน้านี้
ด้านกระทรวงแรงงาน ได้ประกาศปิดศูนย์ฉีดวัคซีนสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้ง 45 แห่ง โดยอ้างว่าปรับปรุงสถานที่ โดยเลื่อนให้เปิดในวันที่ 28 มิถุนายน 2564
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยผ่านเอกสารว่า ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มดีขึ้น โดยพบติดเชื้อรายใหม่ 294 ราย มีผู้ต้องขังที่ยังรักษาตัวจากโควิด-19 รวม 8,747 ราย และเสียชีวิตจากการติดเชื้อสะสม 26 ราย
“กรมราชทัณฑ์ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกรมควบคุมโรคมาแล้ว 40,000 โดส และยังอยู่ระหว่างการจัดสรรเพิ่มเติมจนครอบคลุมทั้งหมด… ซึ่งได้ดำเนินการฉีดวัคซีน แก่ผู้ต้องขังไปแล้ว 23,329 ราย ในเรือนจำและทัณฑสถาน จำนวน 18 แห่ง… อยู่ระหว่างดำเนินการ 21 แห่ง ซึ่งได้สั่งการเร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด” นายอายุตม์ กล่าว
นายอายุตม์ ระบุว่า เรือนจำที่ฉีดวัคซีนให้กับผู้ต้องขังแล้ว คือ เรือนจำกลางสมุทรปราการ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษปทุมธานี เรือนจำกลางระยอง เรือนจำพิเศษพัทยา ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เรือนจำกลางนครปฐม ทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำอำเภอไชยา เรือนจำอำเภอธัญบุรี สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร เรือนจำคลองเปรม เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทัณฑสถานหญิงธนบุรี เรือนจำพิเศษธนบุรี เรือนจำพิเศษมีนบุรี และเรือนจำจังหวัดภูเก็ต
“เรือนจำและทัณฑสถานที่ไม่พบการแพร่ระบาดเท่าเดิมที่จำนวน 129 แห่ง ขณะที่ยังพบการแพร่ระบาด 12 แห่งคงเดิม และในวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อที่รักษาหายเพิ่มขึ้นมากถึง 3,021 ราย… มียอดหายป่วยสะสมแล้ว 21,559 ราย หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 30,488 ราย” นายอายุตม์ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์ได้เริ่มเปิดเผยจำนวนผู้ต้องขังซึ่งติดโควิด-19 ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง นับเป็นครั้งแรก โดยที่ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อรวมกันกว่า 2.8 พันคน หลังจากที่ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎรที่เพิ่งได้รับการประกันตัวออกจากทัณฑสถานหญิงกลาง เปิดเผยว่า ตนเองติดโควิด-19
และต่อมาทำให้กรมราชทัณฑ์เริ่มเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำอื่น ๆ ทั่วประเทศ เป็นรายวัน โดยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมี ผู้ต้องขังทั้งหมด 311,693 ราย จากเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง
ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ ทำให้มีการเรียกร้องจากประชาชน ให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังบางส่วน เพื่อบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาด และให้เร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้ต้องขังด้วยเช่นกัน
กระทรวงแรงงานปิดศูนย์ฉีดวัคซีน 45 แห่ง เลื่อนฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตนเป็น 28 มิ.ย. 64
กระทรวงแรงงาน ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า สำนักงานประกันสังคมจะหยุดให้บริการศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเขตกรุงเทพฯ 45 แห่ง เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 12-27 มิถุนายน 2564
“เพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องความต่อเนื่อง สถานที่ การให้บริการ สำนักงานประกันสังคม จึงขอปิดปรับปรุงระบบการให้บริการศูนย์เป็นการชั่วคราว โดยมีกำหนดเปิดให้บริการอีกครั้ง ในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ทั้งนี้ จะแจ้งให้สถานประกอบกิจการ และผู้ประกันตน ทราบคิวนัดหมายใหม่อีกครั้ง” เอกสารข่าวกระทรวงแรงงาน ระบุ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสื่อมวลชนสอบถามไปยังกระทรวงแรงงานให้ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานมิได้ตอบเรื่องนี้
มติ ศบค. ยกเลิกสเตทควอรันทีนทางอากาศ
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค. มีมติให้ยกเลิกสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) และจะให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศใช้สถานกักกันโรคทางเลือก (Alternative Quarantine) แทน
“ทางอากาศก็จะยกเลิกเลย ทางบกกำลังพิจารณาอยู่… ก็เป็นไปตามมติของ ศบค. เมื่อปลายมีนา เพราะพบว่า คนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศไทยน้อยมากแล้ว อาจจะไม่มีแล้วก็ได้ ศบค. ก็มองว่าอาจจะเป็นภาระด้านงบประมาณของรัฐบาล ก็เลยพิจารณาที่จะให้ผู้เดินทางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง แต่ก็กำลังพิจารณาว่าจะทำอย่างไรที่จะใช้ อัลเทอร์เนทีฟควอรันทีน ที่เหมาะสม” พล.อ.ณัฐพล กล่าวแก่สื่อมวลชน ที่ทำเนียบรัฐบาล
พล.อ.ณัฐพล ระบุว่า หากมติยกเลิกสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ก็จะมีผลในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยในวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ที่ประชุม ศบค. จะมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการจัดการสถานกักกันโรคทางเลือกให้มีราคาที่เหมาะสมสำหรับประชาชนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และต้องกักตัว 14 วัน ตามมาตรฐาน ศบค.
วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ขอขึ้นทะเบียน อย. แล้ว
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ยื่นเอกสารขออนุญาต สำหรับวัคซีนโคเมอร์เนตี (Comirnaty Vaccine) ซึ่งเป็นวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค โดยขณะนี้กระบวนการอยู่ระหว่างการพิจารณาของ อย. ในขณะที่รัฐบาลไทยได้สั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส
นพ.ไพศาล ระบุว่า ปัจจุบัน อย. ได้ขึ้นทะเบียนให้แก่วัคซีนโควิด-19 จาก 5 บริษัทแล้ว ประกอบด้วย วัคซีนแอสตราเซนเนกา นำเข้าโดยบริษัท แอสตราเซนเนกา (ประเทศไทย) จำกัด, วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม, วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน นำเข้าโดยบริษัท แจนเซน-ซีแลค จำกัด, วัคซีนโมเดอร์นา นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด และวัคซีนซิโนฟาร์ม นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และมีวัคซีนจากอีก 2 บริษัท ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสาร คือ วัคซีนโควาซิน นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และวัคซีนสปุตนิก วี นำเข้าโดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด
ในวันเดียวกัน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 189,828 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,290 ราย มีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 27 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 1,402 ราย คิดเป็น 0.74 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย ปัจจุบัน
โดยประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 5,667,058 โดส เป็นเข็มแรก 4,143,444 ราย และเข็มที่สอง 1,523,614 ราย