อนุทิน ยืนยันจะฉีดวัคซีนโควิด-19 คนแรก เพื่อความเชื่อมั่นของประชาชน
2021.01.15
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
ในวันศุกร์นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยืนยันแก่สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ตนเองพร้อมจะเป็นผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 คนแรกของประเทศไทยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยเชื่อว่า วัคซีนโควิด-19 ต่อให้ประสิทธิภาพต่ำก็ไม่ทำให้เกิดอันตราย ด้าน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมใช้เงินกู้ 2.99 พันล้านบาทเพื่อใช้รับมือโควิด-19
นายอนุทิน กล่าวกับสื่อมวลชน หลังประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีที่ ทำเนียบรัฐบาลว่า วัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลจะนำเข้าเพื่อมาฉีดให้กับประชาชนนั้น ถึงแม้มีรายงานข่าวว่าวัคซีนบางตัวมีประสิทธิภาพไม่สูงมาก แต่จะไม่ทำอันตรายกับประชาชน โดยตนเองพร้อมที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นคนแรกของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจ หลังถูกสื่อมวลชนขอคำยืนยันเรื่องดังกล่าว
“ยืนยันอยู่แล้วนะครับ วัคซีนที่มีอยู่ในโลกนี้ทุกวันนี้เนี่ย สำหรับโควิด มันมีการพิสูจน์ แล้วก็มีการยืนยันแล้วว่า ต่อให้บางวัคซีนอาจจะมีประสิทธิผลเพียง 50-60-70 เปอร์เซ็นต์ก็แล้วแต่ แต่ทุกวัคซีนเนี่ย ไม่ทำให้โรคนี้พัฒนาไปจนเป็นอาการหนักพูดง่าย ๆ ถ้าป่วยอยู่แล้วก็ไม่ป่วยหนักขึ้น” นายอนุทิน กล่าว
การเปิดเผยของนายอนุทินครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ก่อน กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนในประเทศต้นทางแล้ว 5 ชนิด คือ 1. วัคซีน บ.ไฟเซอร์ฯ สหรัฐอเมริกา/เยอรมนี มีประสิทธิภาพ 95 เปอร์เซ็นต์ 2. วัคซีน บ.โมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา ประสิทธิภาพ 94.5 เปอร์เซ็นต์ 3. วัคซีน บ.แอสตราเซเนกา อังกฤษ/สวีเดน ประสิทธิภาพ 62-90 เปอร์เซ็นต์ 4. วัคซีนสปุตนิกวี รัสเซีย ประสิทธิภาพ 92 เปอร์เซ็นต์ และ 5. วัคซีน สถาบันผลิตภัณฑ์ชีววิทยาปักกิ่ง จีน ประสิทธิภาพ 79 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ วัคซีน บ.ซิโนแวค ของจีน ประสิทธิภาพ 78 เปอร์เซ็นต์ อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน ในประเทศจีน และไทย โดยล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่ากำลังพยายามให้วัคซีนที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย ผ่านการขึ้นทะเบียน ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 แม้ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า ที่ประเทศบราซิลได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน บ.ซิโนแวคแล้วพบว่า มีประสิทธิภาพโดยรวมเพียง 50.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่า วัคซีนจำเป็นต้องมีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนอินเทอร์เน็ตว่า วัคซีนดังกล่าวอาจทำอันตรายกับผู้ที่ถูกฉีด หรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่รัฐบาลจะฉีดให้ประชาชน
“ถ้าป่วยก็ไม่ตาย พูดง่าย ๆ ไม่ถึงขั้นพัฒนาไป ถ้าได้รับวัคซีนแล้วโรคก็ทุเลาลง ต่อให้มีการติดเชื้อบ้าง แต่ผมก็เชื่อว่า ในอนาคตอีกไม่นาน เขาก็ต้องมีการปรับปรุงแล้วก็มีการพัฒนาไปจนถึงผู้ที่ได้รับวัคซีน ก็น่าจะมีประสิทธิผลที่มากขึ้น ถ้าดูจากรายงานของข่าว วัคซีนยี่ห้อนี้ประสิทธิผลกี่เปอร์เซ็นต์ มากบ้างน้อยบ้าง... ในทางการแพทย์ ก็บอกว่ามันไม่เหมือนกัน มันเทียบกันแบบนั้นไม่ได้… แพทย์ทุกท่านก็ยังมีความมั่นใจว่าเราต้องมุ่งเน้นการฉีดวีคซีนให้พี่น้องประชาชนมากที่สุด” นายอนุทิน กล่าว
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เปิดเผยแก่สื่อมวลชน หลังการประชุม คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 1/2564 ในวันเดียวกันว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ช่วงแรกจะมีเงื่อนไขเฉพาะ
“วัคซีนโควิด-19 เป็นของใหม่ ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะป้องกันได้มากแค่ไหน แต่เชื่อว่ามีจุดมุ่งหมายคือ ลดการนอนโรงพยาบาล และอัตราการตาย จนกว่าจะได้คำตอบชัดเจนว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ดังนั้น จึงมุ่งหมายในกลุ่มเสี่ยงมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ห้ามฉีดในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากวัคซีนไม่ได้ทดลองในคนกลุ่มนี้” ศ.นพ.ยง กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวหลังการประชุมเดียวกันยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมที่จะเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขการเยียวยา
“การเปิดลงทะเบียนวัคซีน จะเน้นในกลุ่มเสี่ยงก่อน ซึ่งต้องให้คณะทำงานหารือกันว่าจะเปิดอย่างไรบ้าง แต่เบื้องต้นเป็นการให้ฉีดโดยสมัครใจ จึงต้องเปิดให้ลงทะเบียน… ปกติการฉีดวัคซีนทุกอย่างมีผลข้างเคียง แต่ต้องอยู่ในระดับที่นานาชาติรับได้ และมีระบบการติดตามหลังจากฉีดอย่างน้อย 4 สัปดาห์ แต่ต้องมีระบบเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่นที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีค่าทดแทนผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีน แต่ในกรณีของวัคซีนโควิด-19 ขอให้คณะทำงานได้หารือกันก่อน” นพ.โอภาส กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ให้ข้อมูลบนแฟนเพจโดยสรุปว่า ประเทศไทยจะสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศในปี 2564 โดย วัคซีน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน มูลค่า 1,228 ล้านบาท จะถูกนำเข้าประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 นี้ ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุจะได้รับการฉีดก่อน 2 แสนโดส เดือนมีนาคมและเมษายน จะได้รับอีก 8 แสนโดส และ 1 ล้านโดส ตามลำดับ ขณะที่อีก 26 ล้านโดส ซึ่งรัฐบาลได้จองกับบริษัท แอสตราเซเนกา มูลค่า 6,049 ล้านบาท จะมีการส่งมอบในเดือนพฤษภาคม และส่วนที่จัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส ซึ่งยังไม่ระบุมูลค่าสัญญาซื้อขาย จะทยอยอนุมัติและส่งมอบต่อไป โดยหากเป็นไปตามข้อมูลนี้ จะทำให้รวมทั้งหมดไทยจะมีวัคซีน 63 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชาชนอย่างน้อย 30 ล้านคน ซึ่งต้องฉีด 2 โดส แต่ละโดสห่างกัน 4 สัปดาห์
สปสช. เตรียมใช้เงินกู้เพิ่มเติม 2.99 พันล้านบาท รับมือโควิด-19
ในวันเดียวกัน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุม สปสช. เตรียมใช้เงิน จาก พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 จำนวน 2,999.69 ล้านบาท มาเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19
“งบ 2,999.69 ล้านบาทนี้ คาดว่าจะใช้เฉพาะในช่วง 6 เดือนก่อน หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะมีการทำเรื่องขอเพิ่มเติมอีกครั้ง ซึ่งจะมีการปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างต้นทุนบริการบางอย่างที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ค่าตรวจแลบ ที่ปัจจุบันลดลง เป็นต้น” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
ทั้งนี้งบประมาณส่วนนี้ เป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากงบประมาณปกติของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะใช้ในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 เบื้องต้นจัดสรรเป็นค่าบริการ กรณีโควิด-19 จำนวน 2,228.68 ล้านบาท ในนั้น เป็นค่าบริการป้องกันการติดเชื้อฯ 1,972.84 ล้านบาท ตามเป้าหมายบริการ 486,700 คน ค่ารักษาพยาบาล 255.85 ล้านบาท เป้าหมายบริการ 3,022 คน
และรายการอื่นที่เกี่ยวข้อง 771.01 ล้านบาท ในนั้น เป็นค่าบริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 317.61 ล้านบาท เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการกรณีโควิด-19 จำนวน 87.4 ล้านบาท และค่าบริการตามสิทธิประโยชน์ระบบบัตรทองในกลุ่มคนว่างงาน 366 ล้านบาท
ในวันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยประจำวันนี้ว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 188 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 154 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 34 ราย รวมติดเชื้อสะสม 11,450 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสมยังอยู่ที่ 69 คน
โดยถ้านับเฉพาะการระบาดระลอกใหม่จากเดือนธันวาคม 2563 ถึงปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อ 7,213 ราย ในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,481 ราย เป็นการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 3,260 ราย และผู้มาจากต่างประเทศ 472 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 2,856 ราย เสียชีวิตรวม 9 ราย