ไทยเตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งแรก 14 ก.พ. 64 นี้
2021.01.25
กรุงเทพฯ
ในวันจันทร์นี้ กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ประเทศไทยจะได้ฉัดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ โดยจะเปิดให้แพทย์ลงทะเบียนรับวัคซีนออนไลน์ก่อนในวันที 12 กุมภาพันธ์ 2564 โดยวัคซีน 5 หมื่นโดสจากแอสตราเซเนกาจะเข้าประเทศไทยและถูกฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงก่อน ขณะเดียวกันชี้ว่า วัคซีนโควิด-19 มีผลข้างเคียงเพียง 1 ในล้านเท่านั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัย
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เปิดเผยแก่สื่อมวลชนที่กระทรวงสาธารณสุขว่า วัคซีนชุดแรกจะถูกนำเข้าประเทศไทยในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้ โดยได้มีการประชุมทำความเข้าใจกับหน่วยงานสาธารณสุขกว่า 800 หน่วยทั่วประเทศเรื่องการฉีดวัคซีนแล้ว
“วัคซีนจะมาต้นกุมภาพันธ์ แล้วจะต้องมาผ่านกระบวนการต่าง ๆ ก่อน และกระจายวัคซีนได้ในสัปดาห์ที่ 2 จากนั้น คาดว่าประมาณ สัปดาห์ที่ 3 ถึงจะสามารถฉีดได้ แต่ ปลัด สธ.เสนอให้ฉีดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม การฉีดก็ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ โดยให้บุคลากรการแพทย์ที่ทำงานหน้าด่านในพื้นที่เสี่ยงลงทะเบียนได้ที่แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” วันที่ 12 กุมภาพันธ์ นี้ ส่วนประชาชนกำลังพิจารณาช่องทางการลงทะเบียนที่เหมาะสมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม รองนายกฯ (นายอนุทิน) ได้เน้นย้ำว่า การฉีดต้องเป็นธรรม โปร่งใส ไม่ให้มีการเหลื่อมล้ำ” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ ให้ข้อมูลว่า วัคซีน 50,000 โดสแรก จะถูกฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง และกลุ่มเสี่ยงจะเกิดโรคก่อน โดยจะเลือกพื้นที่เสี่ยงที่สุดในการฉีด เช่น จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร อ.แม่สอด จ.ตาก และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะมีการพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องวัคซีนในวันที่ 29 มกราคม 2564
“การฉีดวัคซีนก็มีผลข้างเคียงได้อาจจะ 1 ต่อ 1 ล้าน ก็ต้องตามดูจากประเทศอื่น ๆ ส่วนในประเทศไทยเราได้เตรียมการอยู่ จึงต้องมีระบบติดตาม โดยต้องฉีดในสถานพยาบาลที่มีอุปกรณ์เครื่องมือพร้อมในการฉีด บางครั้งอาจจะแพ้ง่าย เราก็ต้องช่วยเขาให้ดีที่สุด ซึ่งเราได้เตรียมไว้แล้ว หลังจากนั้นต้องติดตามว่าฉีดแล้ว 7 วัน หรือ 1 เดือน จะมีปัญหาหรือไม่ เพราะความปลอดภัยต้องมาอันดับหนึ่ง โดยระยะแรกจะต้องฉีดในโรงพยาบาลก่อน จึงค่อยพิจารณาให้ฉีดในสถานีอนามัยที่มีความพร้อม” นพ.โสภณ กล่าว
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า กระทรวงสาธารณสุขจะมีระบบติดตามผู้ที่ได้รับวัคซีน เพื่อให้ทราบว่าได้รับผลข้างเคียงหรือไม่
“วัคซีนล็อตแรกจะมาจากแอสตราเซเนกา กุมภาพันธ์ 50,000 โดส และหลังจากนั้นจะตามมาในเดือนมีนาคม-เมษายน… ในการให้บริการวัคซีน โควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นวัคซีนที่ค้นพบขึ้นมาใหม่ อาจจะมีปัญหาอุปสรรคบ้าง ความไม่สะดวกบ้าง และมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงบ้าง แม้ว่า จะมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์แต่ว่าก็ขอให้พี่น้องประชาชน ไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไป ทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีการจัดระบบ ในการเฝ้าสังเกตอาการหลังจากที่ได้รับวัคซีน” นายอนุทินระบุ
ขณะเดียวกัน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่เริ่มมีการฉีดให้ประชากรในต่างประเทศผลข้างเคียงน้อยกว่าวัคซีนตัวอื่น ๆ ถือว่ามีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าประมาณ 6-7 พันคน จะถูกฉีดเป็นกลุ่มแรก และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับงานควบคุมป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยงหลักพันคนเป็นกลุ่มที่ 2 และ กลุ่มที่ 3 จะฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อแล้วอาการรุนแรง หรือเสี่ยงเสียชีวิต เช่น ผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ และโรคไต ซึ่งคาดว่ามีประมาณหลักแสนคน อย่างไรก็ตาม ทุกคนที่ฉีดต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ
ทั้งนี้ บุคลากรที่จะเป็นผู้ฉีดวัคซีนต้องผ่านการอบรมชี้แจงให้ความรู้ การใช้ระบบต่าง ๆ โดยจะได้มีการส่งอุปกรณ์การฉีดไปยังพื้นที่ต่าง ๆ 2.5 ล้านชุด ในการฉีดต้องพูดคุยทำความเข้าใจและลงนามความยินยอม เมื่อฉีดเสร็จต้องนั่งรออย่างน้อย 30 นาที เมื่อกลับบ้านก็จะต้องติดตามผลต่ออีก ในวันที่ 1, 7 และ 28 พร้อมทั้งเตือนให้มาฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 อีก
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยจะสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ในปี 2564 โดยจะเป็นการนำเข้าวัคซีน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน มูลค่า 1,228 ล้านบาท และอีก 26 ล้านโดส จากบริษัท แอสตราเซเนกา ประเทศอังกฤษ/สวีเดน มูลค่า 6,049 ล้านบาท และระบุว่า จะสั่งซื้อจาก บริษัท แอสตราเซเนกา อีก 35 ล้านโดสในอนาคต แต่ยังไม่ระบุมูลค่าสัญญา โดยในการฉีดประชาชนต้องฉีดคนละ 2 โดส แต่ละโดสห่างกัน 4 สัปดาห์ ต่อมารัฐบาลเปิดเผยว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ของไทยจะเป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และผลิตวัคซีนตามสูตรของแอสตราเซเนกา โดยจะมีกำลังผลิต 200 ล้านโดสต่อปี อย่างไรก็ตาม ยังมิได้มีการเปิดเผยรายละเอียดสัญญาการผลิตวัคซีนนี้