ประยุทธ์ : มหิดลเตรียมทดลองวัคซีนโควิด-19 ในคน มี.ค. นี้
2021.02.18
กรุงเทพฯ

ประเทศไทยเตรียมทดลองวัคซีนโควิด-19 ซึ่งพัฒนาโดย มหาวิทยาลัยมหิดล ในเดือนมีนาคม 2564 และคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนใช้จริงได้ภายในปี 2565 ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเตรียมทดลองวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในคน ระยะแรกเริ่มปลายเดือนเมษายนถึงต้นพฤษภาคมนี้เช่นกัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันพุธนี้ว่า ไทยเตรียมทดลองวัคซีนโควิด-19 ซึ่งพัฒนาโดย มหาวิทยาลัยมหิดล ในเดือนมีนาคม 2564 นี้และคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนใช้จริงได้ภายในปี 2565
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุ วัคซีน 2 แสนโดสแรก จากประเทศจีนจะมาถึง และถูกฉีดให้ประชาชนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้
พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่อาคารรัฐสภาว่า รัฐบาลไม่เคยช้าเรื่องวัคซีนโควิด-19 โดยชี้ว่า การพัฒนาในประเทศมีความก้าวหน้า
“ข่าวดีคือ ไทยสามารถทดลองฉีดวัคซีนของเราเองในมนุษย์ได้แล้ว เริ่มมีนาคม 2564 เป็นการพัฒนาวิจัยวัคซีนโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยมหิดล มีความร่วมมือระหว่างสถาบันวัคซีน กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม เฟสสอง เมษา-พฤษภา 64 เฟสสาม ปลายปี ถ้าเราทำได้อย่างนี้จริง ก็จะใช้เวลาสักปีหนึ่ง 64-65 ก็จะจดทะเบียนได้ตามที่กำหนดไว้แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วัคซีนโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาคู่ขนานไปกับวัคซีน mRNA ของคณะแพทย์ศาสตร์จุฬา มีความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูง ผลข้างเคียงน้อย โดยตั้งเป้าที่จะผลิตให้ได้ 25-30 ล้านโดสต่อปี หรืออาจจะถึง 60 ล้านโดสต่อปี
ขณะที่ ในวันพฤหัสบดีนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล พร้อมด้วย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการแถลงข่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน "ChulaCov19" ว่า หลังจากมีการนำวัคซีน ChulaCov19 ทดสอบในลิงเข็มที่ 2 ลิงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง ทำให้มีความพร้อมจะเดินหน้าทดสอบวัคซีนในคน
โดยคาดว่าการทดสอบในอาสาสมัคร จะเริ่มได้ในช่วงปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคมนี้ โดยเฟสแรกทดสอบที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 72 คน และเฟส 2 ทดสอบที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และร่วมกับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล 300-600 คน
ด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการแถลงว่า วัคซีนชนิด mRNA สร้างจากสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด 19 ไม่ได้เป็นส่วนที่ก่อให้เกิดเชื้อ เมื่อร่างกายรับชิ้นส่วนสารพันธุกรรมเข้าไป จะทำการสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ mRNA จะสลายไปในไม่กี่วัน หลังจากร่างกายสร้างโปรตีนแล้ว โดยไม่มีการสะสมในร่างกาย
ด้าน นายอนุทิน ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาวัคซีน โดยได้อนุมัติเงิน 3 พันล้านบาทให้กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติแล้วในปี 63 ที่ผ่านมา ส่วนวัคซีนของชิโนแวค ประเทศจีนจะถึงไทย ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
“ผมขอให้คำยืนยันครับว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์ วัคซีนล็อตแรก 2 แสนโดส จะมาถึงเมืองไทย และจะพยายามฉีดให้เร็วที่สุด ผมขอให้คำยืนยันครับว่า ภายในเดือนมีนาคม วัคซีนล็อตที่สองจะมาถึงเมืองไทย 8 แสนโดส ภายในเดือนเมษายน วัคซีนล็อตที่สาม อีก 1 ล้านโดส จะมาถึงเมืองไทย ภายในปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นมิถุนายน วัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย แต่ยี่ห้อแอสตราเซเนกา ไม่ใช่ยี่ห้อสยามไบโอไซเอนซ์จะทำการส่ง และนำไปฉีดให้พี่น้องประชาชนคนไทยจนครบถ้วน” นายอนุทิน กล่าว
ขณะเดียวกัน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน โดยชี้ว่า รัฐบาลดำเนินการล่าช้าในการจัดหาวัคซีนโควิด-19
“จากการนำเสนอของกรมควบคุมโรคในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน… กำหนดแผนการจัดหาวัคซีนเอาไว้ 65 ล้านโดส ภายใน 3 ปี ปี 64 จะฉีดให้ประชาชน 11 ล้านคน 65 อีก 11 ล้านคน ปี 66 ฉีดเพิ่มอีก 10 ล้านคน นี่คือความตั้งใจเดิมของพลเอกประยุทธ์ ชี้ได้ชัดว่าเป็นแผนการฉีดวัคซีนที่ช้ามาก ๆ และการประชุม ครม. ในวันที่ 5 มกรา มีมติให้กระจุกความเสี่ยงซื้อวัคซีนเพิ่มจากแอสตราเซเนกา 35 ล้านโดส ที่น่าสงสัย ไม่ได้ระบุถึงงบประมาณในการจ่ายเงินซื้อล่วงหน้า ถ้าไม่จ่ายเงินล่วงหน้า อีก 35 ล้านโดสจะได้เมื่อไหร่ ไม่เลื่อนแน่นะ” นายวิโรจน์ กล่าว
“มันเกิดอะไรขึ้นครับ 172 ประเทศเข้าโคแวกซ์ แต่ประยุทธ์ และนายอนุทินไม่เอา จะเอาแต่แอสตราเซเนกาเจ้าเดียว แถมเป็นแอสตราเซเนกา เมดอินไทยแลนด์ที่ผลิตโดยบริษัทเอกชนที่เพิ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี… ที่น่าเศร้าที่สุดคือ 25 มกราคม 2564 ปรากฏเป็นข่าวว่า รัฐบาลอินเดียได้เสนอขายวัคซีนแอสตราเซเนกาจำนวน 2 ล้านโดส ในราคาทุนให้กับประเทศไทย แต่ไม่มีการตอบกลับจากประเทศไทย” นายวิโรจน์ กล่าว
จากข้อมูลของรัฐบาล ไทยจะนำเข้าวัคซีนจาก 2 บริษัท ประกอบด้วย 2564 วัคซีน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน มูลค่า 1,228 ล้านบาท และอีก 26 ล้านโดส จากบริษัท แอสตราเซเนกา ประเทศอังกฤษ/สวีเดน มูลค่า 6,049 ล้านบาท โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะเป็นบริษัทรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และผลิตวัคซีนตามสูตรของแอสตราเซเนกา ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังผลิต 200 ล้านโดสต่อปี และรัฐบาลมีแผนที่จะสั่งซื้อจากแอสตราเซเนกาอีก 35 ล้านโดสในอนาคต แต่ยังไม่ระบุมูลค่าและกำหนดการ ทั้งนี้ สำหรับการฉีดวัคซีน แต่ละคนต้องฉีดคนละ 2 โดส แต่ละโดสห่างกัน 4 สัปดาห์
ในวันนี้เช่นกัน พ.ญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ประเทศพบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 150 ราย ในนั้นเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ 8 ราย มีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 249 ราย กลับบ้านแล้ว 23,946 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 1,083 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 25,111 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 82 ราย