ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.05.27
กรุงเทพฯ
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ถือป้ายบอกตำแหน่ง "ว่าง" ให้ประชาชนเข้ามารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ภายในสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ กรุงเทพฯ วันที่ 24 พฤษภาคม 2564
รอยเตอร์

นายนิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชี้แจงในวันพฤหัสบดีนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่าด้วยอำนาจในการนำเข้าวัคซีน โดยสถาบันจะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เป็นทางเลือกให้กับประเทศเพื่อเสริมกับการจัดการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ แต่จะลดปริมาณลงเมื่อรัฐบาลจัดหาวัคซีนเองได้มากเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

ทั้งนี้ รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบกับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล่าช้า ในการจัดหาวัคซีน และความสับสนของการจัดการให้ประชาชนลงทะเบียน เพื่อฉีดวัคซีน

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ออกประกาศบนเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ฉุุกเฉินอื่น ๆ โดยระบุถึง สิ่งที่สถาบันสามารถดำเนินการได้ในสถานการณ์โควิด-19

“ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ ที่จำเป็น ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดหามาเพื่อการให้บริการสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ถือเป็นทรัพย์สินของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีทั้งปวง” ประกาศที่ลงนามโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ระบุ

ต่อมาในวันพฤหัสบดีนี้ นายนิธิ เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ประกาศดังกล่าวของสถาบันเป็นเครื่องมือสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข โดยเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย

“การที่ราชวิทยาลัยฯ จะมาช่วยจัดหาวัคซีน ”ตัวเลือก” มาให้นั้น เมื่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอในการป้องกันการระบาด ทางราชวิทยาลัยจะค่อย ๆ ลดปริมาณวัคซีนตัวเลือกนี้ลง เช่นเดียวกับ ยา และเวชภัณฑ์อื่น ๆ ที่สามารถผลิตได้ในประเทศ ราชวิทยาลัยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในประเทศ โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ” นายนิธิ กล่าว

โดยในวันเดียวกัน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ส่งข้อความเชิญชวนสื่อมวลชนให้ไปร่วมงาน แถลงข่าว “แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก ‘ซิโนฟาร์ม’ โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 ที่ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้วย

ขณะเดียวกัน นายอนุทิน เปิดเผยผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ออกอากาศทางช่อง 9 ระบุว่า ตนเองเพิ่งทราบข่าวประกาศดังกล่าวของราชวิทยาลัยฯ แต่จะเดินทางไปร่วมฟังแนวทางนำเข้าวัคซีนของสถาบันแน่นอน

“ผมได้รับการเชิญจาก คุณหมอนิธิ มหานนท์ ให้ไปร่วมฟังการแถลงข่าวนโยบายเรื่องการนำเข้า บริหารจัดการ วัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นอาทิตย์แล้ว ประกาศที่ออกมาเมื่อวาน ผมก็ต้องไปนั่งถาม อ.วิษณุ เครืองาม ท่านรองนายกฯ ก่อนว่า กระทรวงสาธารณสุขจะต้องทำตัวอย่างไร เพราะว่า ผมเพิ่งเห็นประกาศแบบนี้ออกมา จริงเท็จอย่างไรต้องไปเช็คกับฝ่ายกฎหมายก่อน ถ้าเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง เราพร้อมอยู่แล้ว” นายอนุทิน ระบุ

ต่อประเด็นดังกล่าว นายวิษณุ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ประกาศดังกล่าวเป็นสิ่งที่ ราชวิทยาลัยฯ ต้องดำเนินการเพื่อใช้อำนาจนำเข้าวัคซีน และยาที่มีความจำเป็น แต่เป็นประกาศชั่วคราวเฉพาะในช่วงที่มีความขาดแคลน

“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีอำนาจตามกฎหมายของเขาเอง ที่จะออกประกาศแบบนี้ได้ เมื่อจะมีการนำเข้าอะไรต่อมิอะไร ถ้าเขาไม่ออกประกาศแบบนี้มา เขาจะนำเข้าไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำให้สามารถนำเข้าได้โดยอิสระ เพราะยังจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ เช่น ต้องไปขออนุญาต อย. อะไรด้วย” นายวิษณุ ระบุ

“ในกรณีอย่างนี้ โรงพยาบาลของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยของรัฐ มันเข้านิยามตรงนี้อยู่แล้ว แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่เข้า เขาจึงต้องประกาศสถานะเขาต่างหาก เพราะฉะนั้นจะไม่เกิดปัญหา กรณีโรงพยาบาลเอกชน ก็ทำได้ แต่ต้องมาขออนุญาต”​ นายวิษณุ กล่าว

รัฐบาลฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว 3,208,882 โดส เป็นเข็มแรก 2,214,721 ราย และเป็นเข็มที่สอง 994,161 ราย มีการจองคิวเพื่อฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน หมอพร้อมแล้วทั้งสิ้น 7,983,748 ราย

ปัจจุบัน แผนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย คือ 1. บริษัท ซิโนแวค ไบออนเทค ประเทศจีน 6.5 ล้านโดส แบ่งเป็นนำเข้ารอบแรก 2 ล้านโดส มูลค่า 1,228 ล้านบาท สั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 3.5 ล้านโดส และประเทศจีนบริจาคให้ 1 ล้านโดส ทยอยนำเข้ามาในประเทศไทย ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2564

บริษัท แอสตราเซเนกา ประเทศสวีเดน-อังกฤษ 61 ล้านโดส โดยจะทยอยจัดส่งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม - ธันวาคม 2564 การสั่งซื้อแบ่งเป็น 26 ล้านโดส มูลค่า 6,049 ล้านบาท และ 35 ล้านโดส มูลค่า 6,387 พันล้านบาท วัคซีนของแอสตราเซเนกาบางส่วน จะผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ขณะเดียวกันมีการเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยกำลังเจรจาเพื่อนำเข้าวัคซีนจากบริษัท ไฟเซอร์ และโมเดิร์นนา จากประเทศสหรัฐอเมริกา สปุตนิก วี ประเทศรัสเซียด้วย และล่าสุดอาจมีซิโนฟาร์ม ประเทศจีนด้วย

ในวันพฤหัสบดีนี้ นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3,323 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,063 ราย หายป่วยสะสม 93,828 รายเสียชีวิตเพิ่ม 47 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 920 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 141,217 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 46,469 ราย ในนั้นอาการหนัก 1,201 และใช้เครื่องช่วยหายใจ 399 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง