ศบค. ระบุ ผู้เสียชีวิต 12 ราย ไม่เกี่ยวกับวัคซีน
2021.06.09
กรุงเทพฯ
ในวันพุธ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 รวม 28 ราย โดยในนั้น 12 ราย ได้ชันสูตรแล้วพบว่า เป็นการเสียชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน และได้แนะนำประชาชน หากมีผลข้างเคียงรุนแรง ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
นพ. เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงของ ศบค. ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 8 มิถุนายน 2564 รัฐบาลได้จัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนแล้วทั้งหมด 6,756,493 โดส เป็นวัคซีนซิโนแวค 4,982,313 โดส และวัคซีนแอสตราเซเนกา 1,774,180 โดส
และได้ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ แล้ว 5,107,069 คน เป็นเข็มที่หนึ่ง 3,672,372 คน และเข็มที่สอง 1,434,697 คน
“มีการรายงานเข้ามาแล้ว 27 ราย มีตัวเลขที่เพิ่มเติมเข้ามาเมื่อเช้าเป็น 28 ราย ต้องเรียนว่าไม่ใช่ว่าเป็นผลจากวัคซีน… ที่รายงานเข้ามา 12 ราย มีการสรุปสาเหตุชัดเจนแล้วว่า ทุกรายมีสาเหตุของการเสียชีวิตที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของวัคซีน ขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีน และเราจะติดตามเรื่องเหล่านี้มานำเสนอต่อท่านเป็นระยะ ๆ” นพ.เฉวตสรร กล่าว
นพ. เฉวตสรร ระบุว่า ใน 12 รายที่เสียชีวิต และ สธ. ตรวจสอบแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยมีสาเหตุมาจาก อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 8 ราย, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ 1 ราย, ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 1 ราย, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ 1 ราย และเลือดออกในช่องท้องจากการโป่งพองของเส้นเลือดแดง 1 ราย ขณะที่รายอื่น ๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล
“หลังฉีดวัคซีนแล้วมีอาการปวดหัว ปวดศีรษะ ตรงนี้ก็ใช้การประเมินของตัวเองได้ ปกติแล้ว ถ้าปวดเล็กน้อยอาจจะทานยาพาราเซตามอลแก้ปวด พักผ่อนนิดหน่อยก็จะดีขึ้น แต่ถ้าทานแล้วดูไม่ดีขึ้น หรือปวดรุนแรงตั้งแต่ต้น หรือดูว่ามีความกังวลว่าอาจจะเป็นมาก ก็สามารถติดต่อแพทย์ได้โดยที่ไม่ควรจะรอ” นพ.เฉวตสรร กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ตามการเปิดเผยของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2564 ระบุว่า มีผู้ที่ยื่นขอรับการเยียวยาจากการได้รับผลกระทบหลังวัคซีนโควิด-19 รวม 344 ราย ซึ่ง สปสช. ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยแล้ว 239 ราย เป็นเงิน 3,016,700 บาท ในจำนวนนั้นเป็นการจ่ายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต 4 ราย ในจังหวัดปทุมธานี, แพร่, สงขลา และตาก ขณะที่ ยังรอข้อมูลเพิ่มพิจารณาอีก 61 ราย และมี 44 ราย ที่ สปสช. ยืนยันไม่จ่ายชดเชย
ก่อนหน้านี้ สปสช. เปิดเผยว่า มีงบประมาณ 100 ล้านบาทสำหรับเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ หลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยจะจ่ายให้กับผู้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสูงสุด ไม่เกิน 400,000 บาท เสียอวัยวะหรือพิการ 240,000 บาท และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง 100,000 บาท
ด้าน นายนันท์ ธรรมวงศ์ อายุ 40 ปี อาชีพครู จากกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า รู้สึกกังวลกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน
“เรื่องผลกระทบจากวัคซีน ก็กลัว แต่ก็กลัวจะติดเชื้อและไปแพร่ให้คนอื่นด้วย ก็คงต้องฉีดวัคซีน แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐบาลหาวัคซีนหลาย ๆ ชนิด มาบริหารความเสี่ยงตอนนี้ เหมือนที่ประเทศอื่นเขามีวัคซีนหลายยี่ห้อ สำหรับหลายช่วงวัย” นายนันท์ กล่าว
“ที่ผ่านมาเห็นว่ารัฐบาลไม่มีแผนเชิงรุกเรื่องวัคซีนเลย ตอนที่ติดเชื้อน้อย ๆ ก็ไม่ยอมหาวัคซีน แล้วรัฐบาลกู้เงินมหาศาล ก็อยากเห็นการจัดการโควิดที่ดีกว่านี้ แทนที่จะแจกเงินควรลงทุนเรื่องวัคซีน ไม่ใช่หาวัคซีนมาเพียงแค่ 2 เจ้าและไม่โปร่งใสในการจัดซื้อ” นายนันท์ กล่าวเพิ่มเติม
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย โดยระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 185,228 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,680 ราย มีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 35 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 1,332 ราย คิดเป็น 0.72 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย
วัคซีนแอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดย สยามไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทย
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนนี้ หลังจากที่ทางการไทย ได้รับทราบจาก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ว่าจะส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาได้ 6 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยผ่าน บริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้เริ่มการฉีดวัคซีนปูพรมให้กับประชาชนทั่วประเทศ
โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด ได้ส่งมอบวัคซีนให้รัฐบาลไทย จำนวน 1.8 ล้านโดส แต่ไม่มีข้อมูลถึงล็อตที่เหลือ ว่าจะทยอยส่งอีกเมื่อไหร่
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “วัคซีนจากแอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนหลัก ที่รัฐบาลจัดหาเพื่อกระจายแก่ประชาชนรวมทั้งหมด 61 ล้านโดส ซึ่งจะทยอยส่งมอบในปีนี้ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ธ.ค. 2564 ซึ่งการที่แอสตราเซเนกาเลือกประเทศไทย เป็นฐานการผลิตเพียงแห่งเดียวในอาเซียนนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนตามข้อตกลง คนไทยมีโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาวัคซีน จากความร่วมมือของแอสตราเซเนกา และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้ประชากรในภูมิภาคอาเซียนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในไทย จะมีการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนด้วย”
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรียังคงย้ำนโยบายของรัฐบาลว่า ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีประกาศให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมปูพรมกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชน เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป ส่วนเป้าหมายเฉพาะปีนี้รัฐบาลจะจัดหาวัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน หรือ 70% ของประชาชนทั้งประเทศ และครบทั้ง 100% ในปีต่อไป และจะมีการจัดหาให้ครอบคลุมถึงชาวต่างชาติที่ทำงานและอาศัยในประเทศไทยด้วย
ด้าน นางสาวนวลพรรณ ล่ำซำ ประชาสัมพันธ์กิตติมศักดิ์ของ บ. สยามไบโอไซเอนซ์ ในฐานะผู้รับจ้างผลิตวัคซีน ได้ให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวแสตนดาร์ดว่า จะสามารถผลิตวัคซีนได้ตามเป้าหมาย
“คิดว่าเราทำสำเร็จในฐานะผู้รับจ้าง วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ถือว่าเป็นสิทธิของแอสตราเซเนกา ยังสามารถส่งออกได้ไปยังประเทศอีก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสิทธิของแอสตราเซเนกา” นางสาวนวลพรรณกล่าว
ต่อคำถามเกี่ยวกับการที่ฟิลิปปินส์ได้ออกข่าวว่า แอสตราเซเนกาจะส่งมอบวัคซีนได้ช้า นางสาวนวลพรรณ บอกว่า “ประเด็นนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นหน้าที่ของแอสตราเซเนกา”
ทั้งนี้ ประเทศไทย ได้นำเข้าวัคซีนแอสตราเซเนกา ผ่านประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 117,600 โดส ในช่วงแรก เพราะต้องการวัคซีนเร่งด่วนในการฉีดให้กับบุคลากรแนวหน้าและกลุ่มเสี่ยง
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน