ญี่ปุ่นบริจาควัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกาให้ไทย 1.05 ล้านโดส รับมอบ ก.ค.นี้
2021.06.29
กรุงเทพฯ
น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทยได้ลงนามรับบริจาควัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา จากประเทศญี่ปุ่น 1.05 ล้านโดสในวันอังคารนี้ โดยจะรับมอบในเดือนกรกฎาคม 2564 ขณะเดียวกับ ตัวแทนผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย รวมตัวเรียกร้องให้รัฐจัดสรรวัคซีนโควิด-19
น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันอังคาร นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนรับมอบวัคซีนแอสตราเซเนกากับทางรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแนวคิด Free and Open Indo-Pacific โดยรัฐบาลไทยขอขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีมิตรไมตรีในครั้งนี้ด้วย
“รัฐบาลไทยจะได้รับมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาจากญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นได้ประกาศมอบวัคซีนดังกล่าวให้รัฐบาลไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยมีแผนการส่งมอบช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้” น.ส. รัชดา กล่าว
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้กำหนดเงื่อนไขการรับบริจาค ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปคือ 1. ไทยต้องนำวัคซีนไปใช้อย่างเหมาะสม ห้ามใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการทหาร 2. ไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าจัดส่งวัคซีนจากญี่ปุ่น มูลค่าประมาณ 2.9 - 28.7 ล้านบาท 3. ไทยต้องเปิดเผยข้อมูลวัคซีน เมื่อได้รับการร้องขอ 4. ไทยต้องไม่ส่งต่อวัคซีนให้แก่บุคคล หน่วยงาน รัฐบาลอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากรัฐบาลญี่ปุ่น และ 5. รายละเอียดและเงื่อนไขการดำเนินการจะจัดทำโดย กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นและไทย
ในวันเดียวกัน นพ. สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงว่า พบวัคซีนซิโนแวค รุ่นการผลิต C202105079 ณ จุดฉีดนอกโรงพยาบาล ซึ่งใช้งานไม่ได้เนื่องจากสาเหตุการเก็บรักษา โดยหลังจากนี้จะได้มีการทำหนังสือเตือนให้เก็บวัคซีนในอุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส
“พบว่าใช้อุณหภูมิเย็นเกินไป โดยใช้น้ำแข็งประกบใกล้ ๆ ทำให้วัคซีนจับตัวเป็นก้อน นำมาใช้ไม่ได้ ไม่ได้เป็นอันตราย แต่จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง จึงเรียกเก็บวัคซีนที่มีปัญหา 110 ขวด เพื่อทำลาย พร้อมส่งให้กรมวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ ยืนยันประชาชนที่ฉีดวัคซีนล็อตดังกล่าว ไม่ต้องกังวล เพราะวัคซีนขวดที่มีปัญหา ไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชน” นพ. สุรโชค กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทยรับมอบวัคซีนโควิด-19 แล้วประมาณ 13.2 ล้านโดส แบ่งเป็นซิโนแวค 7.5 ล้านโดส แอสตราเซเนกา 4.7 ล้านโดส และซิโนฟาร์ม 1 ล้านโดส ซึ่งแอสตราเซเนกา ระบุว่า จะส่งมอบให้กับประเทศไทยในสัปดาห์นี้อีก 1.3 ล้านโดสด้วย และไทยจะได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอีกจำนวนหนึ่งในอนาคต
ขณะที่ ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 4,662 ราย และเสียชีวิต 36 ราย ฉีดวัคซีนแล้ว 9,416,972 โดส ในนั้นเป็นผู้ที่ฉีดครบสองเข็ม 2,695,934 ราย โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ภายในปีนี้ ประชาชนไทยจะต้องได้รับวัคซีนเข็มแรกอย่างน้อย 50 ล้านคน
หาบเร่-แผงลอย และธุรกิจกลางคืนร้องรัฐช่วยเหลือ
ในวันเดียวกัน ตัวแทนผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย ได้เข้าหารือร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้รัฐบาลจัดสรรวัคซีนให้แก่ผู้ค้า เนื่องจากถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะสัมผัสกับคนจำนวนมากในแต่ละวัน
“ผู้ค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และอยู่นอกกลุ่มที่จะสามารถลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม หรือไทยร่วมใจได้ เบื้องต้นที่ทราบคาดว่าจะมีประมาณ 200,000 คน… กรมควบคุมโรค ต้องไปหารือร่วมกับประกันสังคม และกรุงเทพมหานคร ภายใต้การจัดการของระบบราชการ เพื่อไม่ให้กระทบกับจำนวนวัคซีนที่จะต้องนำไปฉีดให้กับคนอื่น ๆ ด้วย” นายอนุทิน ระบุผ่านเฟซบุ๊ก
ขณะที่ สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม ผ่อนผันมาตรการให้ธุรกิจบันเทิงเปิดบริการ และขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ออกมาตรการเยียวยา หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ฉีดวัคซีนให้ผู้ที่อยู่ในธุรกิจกลางคืนและบันเทิง รวมถึงเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นผู้ได้รับผลกระทบ
โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับหนังสือ และรับปากว่าจะนำข้อร้องเรียนนี้เข้าสู่การหารือของรัฐบาล
ด้าน นพ. จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ด้วยปัญหาการขาดแคลนเตียงสำหรับรับผู้ป่วยโควิด-19 สปสช. ได้เสนอแผนการรักษาผู้ป่วยที่บ้าน โดยจะสนับสนุนค่าบริการให้แก่โรงพยาบาล เป็นค่าตรวจหาเชื้อ ค่ารักษา ค่ายา และค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท และค่าดูแลผู้ป่วย รวมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกินวันละ 1,000 บาท เป็นเวลา 14 วัน
“คนไข้ที่จะทำแบบนี้ก็ต้องมีการแนะนำแนวทางการปฏิบัติตัวกันระดับหนึ่ง เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎและอยู่บ้านจริง ๆ เราคิดว่าถ้ามีการส่งอาหารส่งน้ำให้ทุกวันก็ไม่น่าจะมีเหตุผลอะไรให้ออกจากบ้าน แนวทางนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำตลอดไป แต่เอามาใช้ในสถานการณ์ที่เตียงเริ่มมีความตึงตัวเท่านั้น” นพ. จเด็จ
อย่างไรก็ตาม พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศปก.ศบค.) เปิดเผยว่า การรักษาตัวที่บ้านอยู่ในการประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว แต่รัฐบาลจะดำเนินการแนวทางขยายโรงพยาบาลสนาม เป็นลำดับแรก
โดยในวันอังคารนี้ กรุงเทพฯ ได้เปิดฮอสปิเทล เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยเพิ่มอีก 10 แห่ง รวม 4,424 เตียง และขยายเตียงผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 490 เตียง และอาการรุนแรงแล้ว 111 เตียง โดยในวันพุธนี้จะได้มีการย้ายผู้ป่วยบางส่วนไปอยู่ในโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่เปิดขึ้นด้วย