กรุงเทพฯ ปริมณฑล ชายแดนใต้ จำกัดเวลา-การเดินทางตามมาตรการคุมโควิด
2021.07.12
กรุงเทพฯ
รัฐบาลเริ่มบังคับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวันจันทร์นี้เป็นวันแรก โดยได้กำหนดให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนภาคใต้ งดเดินทางออกจากเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด และห้ามเดินทางไปต่างจังหวัด เพื่อลดการระบาดของโรค ซึ่งขณะนี้พบสายพันธุ์เดลตาที่มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ มากขึ้น
การบังคับใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นนี้ เกิดขึ้นหลังที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติเห็นชอบในวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้มีมติให้ฉีดวัคซีนชนิดอื่นเป็นเข็มที่สอง เสริมวัคซีนซิโนแวค ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อสายพันธุ์อุบัติใหม่ได้ในเกณฑ์ที่ต่ำ
“เราพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการระบาดของโรคในสายพันธุ์เดลตา และมีแนวโน้มการแพร่เชื้อไปยังต่างจังหวัด เราคาดการณ์ว่าอาจพบผู้ติดเชื้อใกล้ ๆ ระดับ 1 หมื่นรายต่อวัน หรือประมาณ 1 แสนกว่ารายใน 2 สัปดาห์นี้ ส่งผลทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราก็จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่เข้มข้นมากขึ้นและมีประสิทธิภาพ” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในวันจันทร์นี้
สำหรับจังหวัดที่อยู่ในมาตรการเข้มงวดที่สุด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยให้งดการออกจากเคหสถาน เวลา 21.00 - 04.00 น. หากจะออกต้องมีเหตุจำเป็น หรือขออนุญาตเป็นกรณี โดยให้ออกจากบ้านเฉพาะการไปซื้ออาหาร พบแพทย์ และฉีดวัคซีนเท่านั้น ขณะที่กรุงเทพฯ จะมีการตั้งด่านสกัดการเดินทางออกไปต่างจังหวัด 6 ด่าน
ทางการได้อนุญาตให้ธนาคาร สถาบันการเงิน เปิดทำการได้ถึงสองทุ่ม ส่วนห้างสรรพสินค้าให้กิจการเฉพาะส่วนที่ขายอาหาร เครื่องดื่ม เปิดได้ถึงเวลาสองทุ่มเช่นกัน ขณะที่ให้โรงเรียนสอนนักเรียนทางออนไลน์ทั้งหมด และสนับสนุนให้บริษัทเอกชนและข้าราชการ ทำงานจากที่บ้านให้ได้มากที่สุด โดยระบบขนส่งมวลชนจะให้บริการถึงเวลา 21.30 น. เท่านั้น
นายสมจิต สมใจ เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่ม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐบาลเพื่อคุมการระบาด แต่อยากให้มาตรการครั้งนี้ดำเนินการเป็นครั้งสุดท้าย
“รัฐสั่งปิดเราก็ปิดมาตลอด เราต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไว้เอง ค่าเช่า และค่าจ้างลูกน้อง ปิดหลาย ๆ รอบเรากระทบ ยังทนได้ แต่ครั้งนี้ขอให้ปิดครั้งสุดท้าย ขอให้ปิดยาวหน่อยแต่ไม่ต้องกลับมาปิดซ้ำอีกครั้ง แล้วให้รัฐเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนให้มากที่สุด ถ้าจะมีการเยียวยาให้กับร้านค้าก็น่าจะดี เพราะในภาวะปกติเราจ่ายภาษีเยอะมาก แต่ไม่เคยได้รับการเยียวยาเลย” นายสมจิต กล่าวทางโทรศัพท์
วันจันทร์นี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 8,656 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 80 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 90,578 ราย ในนั้นอาการหนัก 2,895 ราย ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 12,569,213 โดส ในนั้นเป็นผู้ที่ฉีดครบแล้วสองเข็ม 3,267,806 ราย หลังจากยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ประกาศสละเงินเดือน 3 เดือนเพื่อช่วยเหลือวิกฤตการแพร่ระบาดครั้งนี้
สธ. ให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก แล้วใช้แอสตราเซเนกาเป็นเข็มสอง
นายอนุทิน เปิดเผยว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติให้เปลี่ยนรูปแบบการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่ได้รับซิโนแวคเพื่อประสิทธิภาพการป้องกันโรคที่ดีกว่า
“คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด โดยเข็มที่หนึ่งเป็นซิโนแวค และเข็มที่สองเป็นแอสตราเซเนกา ระยะเวลาห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลต้า สำหรับบุคลากรทางการแพทย์จะให้บูสเตอร์โดส (เข็มที่ 3) ให้แอสตราเซเนกา เป็นหลัก” นายอนุทิน
มาตรการการฉีดวัคซีนดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ นพ. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า มีพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งรับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก และเข็มที่สองของซิโนแวค ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 แต่กลับติดเชื้อจนทำให้เสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม 2564
ดร. อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ สถาบันไบโอเทค ได้กล่าวทางเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันจันทร์นี้ว่า จากการศึกษาตัวอย่างซีรัมของผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวค และเข็มที่สองเป็นแอสตราเซเนกา สี่สัปดาห์หลังเข็มแรก รวมจำนวน 17 ตัวอย่าง พบว่ามีความสามารถในการยับยั้งไวรัสตัวแทนที่มีสไปค์ของสายพันธุ์อู่ฮั่นได้ในระดับสูง ส่วนการยับยั้งสายพันธุ์อัลฟา และเดลตานั้นลดลงสามเท่า แต่เทียบประมาณประสิทธิภาพได้ที่ 80 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกระบุ หลังจากเบนาร์นิวส์ได้ติดต่อขอความเห็นว่า "เราไม่ทราบว่า จำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนเสริม เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ จนกว่าจะมีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งคำถามนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของนักวิจัย"
"การทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับวัคซีนเหล่านี้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อหนึ่งปีก่อน และได้ใช้กระจายฉีดให้กับประชาชนทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้นจึงมีข้อมูลที่จำกัดเกี่ยวกับปริมาณวัคซีนปัจจุบันจะมีระยะเวลาในการป้องกันนานแค่ไหน และวัคซีนเสริมจะเป็นประโยชน์หรือไม่ และสำหรับใคร"
"และเรายังไม่มีข้อมูลเฉพาะเจาะจงการฉีดวัคซีนผสม ระหว่างซิโนแวค และแอสตราเซเนกา" องค์การอนามัยโลกระบุ
สำหรับ แผนการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล คือ นำเข้าจากบริษัท แอสตราเซเนกา ประเทศอังกฤษ-สวีเดน 61 ล้านโดส ซึ่งจะผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทย ปัจจุบัน ส่งมอบให้รัฐบาลแล้ว 6.54 ล้านโดส รวมส่วนที่ได้รับบริจาคจากญี่ปุ่น มีแผนนำเข้าวัคซีนซิโนแวค จากประเทศจีน 47.5 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 7.47 ล้านโดส รวมส่วนที่รับบริจาคจากจีน ขณะที่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มจากประเทศจีนแล้ว 2 ล้านโดส และรัฐบาลมีแผนที่จะนำเข้าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันอีก 5 ล้านโดส รวมถึงไฟเซอร์-ไบออนเทค 20 ล้านโดส
ในวันเดียวกัน พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีการหารือกับคณะผู้เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนการที่จะอนุญาตให้ประชาชนนำชุดตรวจโควิด-19 แบบเร็วด้วยตนเอง (Rapid Antigen Test ) ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับมาใช้เองได้หรือไม่ โดย Rapid Antigen Test เป็นชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน ที่สามารถทราบผลได้ภายใน 30 นาที ซึ่ง คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุญาตให้ บริษัทเอกชน 24 แห่ง สามารถผลิตและนำเข้าชุดตรวจเชื้อดังกล่าวแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไม่เคยอนุญาตให้นำชุดตรวจประเภทดังกล่าวมาใช้ตรวจประชาชนทั่วไป เนื่องจากเชื่อว่าอาจแสดงผลได้ไม่ถูกต้อง
สำหรับชุดตรวจประเภทนี้ กรุงเทพฯ ได้เริ่มใช้ตามจุดตรวจบริการประชาชนแล้ว โดยตั้งเป้าจะให้มีประชาชนใช้บริการไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นคนต่อวัน
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน