สธ. ชี้แจงปกป้องการปรับฉีดวัคซีนซิโนแวคตามด้วยแอสตราเซเนกา
2021.07.13
กรุงเทพฯ
นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กล่าวปกป้องการตัดสินใจปรับเปลี่ยนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่างชนิดกัน ในวันอังคารนี้ แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) จะชี้ว่ายังไม่มีการศึกษาผลของการฉีดวัคซีนข้ามชนิดที่ชัดเจน และอาจเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างอันตราย
นพ. ยง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มแรก และแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่สอง จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้ดีกว่าการฉีดซิโนแวคสองเข็ม และจากข้อมูล ยังไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง
“ถ้าใช้วัคซีนเชื้อตาย ซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูงไม่พอที่จะป้องกันไวรัสที่มีการกลายพันธุ์มาถึงเดลตาแล้ว ถ้าให้เชื้อตายซิโนแวคก่อน แล้วตามด้วยแอสตราเซเนกา ภูมิต้านทานได้สูงขึ้นเร็ว ถึงแม้จะสูงไม่เท่ากับการให้แอสตราเซเนกา 2 เข็ม แต่ก็ได้ภูมิต้านทานที่สูงในเวลา 6 สัปดาห์เท่านั้น แทนที่จะรอไปถึง 12 สัปดาห์” นพ. ยง กล่าว
การปรับเปลี่ยนการฉีดวัคซีน เกิดขึ้นหลังจากมีรายงานข่าวการเสียชีวิตของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบโดสแล้ว ซึ่งล่าสุดได้มีพยาบาลเสียชีวิตลงเมื่อสุดสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม นพ. ยง กล่าวว่า ได้มีการทดลองการฉีดซิโนแวคคู่กับแอสตราเซเนกานั้น ในกลุ่มตัวอย่าง 42 ราย สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนั้น ในประเทศไทยมีผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิดแล้วกว่า 1.2 พันราย ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มศึกษาเป็นทางการ ซึ่งไม่พบผู้ที่มีผลข้างเคียงรุนแรง ดังนั้นจึงถือว่า วิธีการฉีดวัคซีนสลับชนิดมีความปลอดภัย
นพ. ยง กล่าวอีกว่า การสลับชนิดวัคซีน มีเหตุผลมาจากปริมาณวัคซีนที่มีจำกัด ซึ่งถึงวันนี้ ยังฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ไม่ถึง 13 ล้านโดส
“แอสตราเซเนกาเข็มเดียวก็สามารถป้องกันไวรัสอู่ฮั่นได้ แต่พอเจอไวรัสสายพันธุ์เดลตา วัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มเดียวก็ไม่สามารถป้องกันได้ แต่กว่าจะรอ 2 เข็ม ต้องรอ 10 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้นถึงจะป้องกันได้” นพ. ยง กล่าว
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ ดร. สุมยา สวามินาธาน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ ประจำองค์การอนามัยโลก ให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มารองรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ข้ามชนิด หรือการฉีดเข็มที่สาม ว่าช่วยให้มีประสิทธิภาพป้องกันโลกเพิ่มขึ้น หรือปลอดภัย
“มันเป็นกระแสที่ออกจะเป็นการเสี่ยงไปสักนิด เรายังไม่มีข้อมูลและหลักฐานในเรื่องของการฉีดวัคซีนผสมชนิดกัน มันจะเป็นสถานการณ์โกลาหล หากว่าประชาชนในแต่ละประเทศเริ่มตัดสินใจว่าเมื่อไหร่ และใครจะเป็นผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่สอง สาม และสี่” นางสาวสุมยา กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลไทย มีแผนการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 จากแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ซึ่งจะผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทย ปัจจุบัน ส่งมอบให้รัฐบาลแล้ว 6.54 ล้านโดส (รวมส่วนที่รับบริจาคจากญี่ปุ่น) มีแผนนำเข้าวัคซีนซิโนแวค จากประเทศจีน 47.5 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 7.47 ล้านโดส (รวมส่วนที่รับบริจาคจากจีน) ขณะที่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มจากประเทศจีนแล้ว 2 ล้านโดส และรัฐบาลมีแผนที่จะนำเข้าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันอีก 5 ล้านโดส รวมถึงไฟเซอร์-ไบออนเทค 20 ล้านโดส
อย่างไรก็ตาม มีประชาชนที่จองรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวนมากถูกเลื่อนนัดฉีดออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์-วิจารณ์ถึงระบบจัดการวัคซีนของรัฐบาล โดยปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนแล้ว 12,908,193 โดส ในนั้นเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สอง 3,309,244 ราย ถือว่า ยังห่างจากเป้าหมายการฉีด 50 ล้านโดสในปี 2564 ของรัฐบาล
ในวันอังคารนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 8,685 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 56 ราย ยังมีผู้ที่รักษาตัวอยู่ 95,410 ราย
รัฐบาลพร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง
ในวันเดียวกันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลจะใช้มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 และนายจ้าง หรือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคใน กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเวลา 1 เดือน ในกลุ่มธุรกิจ 1. ก่อสร้าง 2. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3. ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ 4. กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ 5. ขายส่งขายปลีกและซ่อมยานยนต์ 6. ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุนกิจกรรมวิชาชีพ 8. วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 9. ข้อมูลข่าวสารและสื่อสาร
พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า จะชดเชยลูกจ้าง ม. 33 ในกิจการ 9 หมวด โดยรัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท นายจ้าง ม. 33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายให้ตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อราย สูงสุดไม่เกิน 200 คน สำหรับผู้ประกันตนตาม มาตรา 39 และ 40 รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้ 5,000 บาทต่อคน ผู้ประกอบอาชีพอิสระให้ขึ้นทะเบียนตาม มาตรา 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท
ขณะเดียวกัน จะเยียวยาให้กับผู้ประกอบการอื่น ๆ ตามเงื่อนไขของรัฐบาล โดยกำหนดกรอบวงเงินในการเยียวยาครั้งนี้ 3 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้น จะมีมาตรการลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา รวมถึงมาตรการสนับสนุนการศึกษาด้วย
ทั้งนี้ การเยียวยาดังกล่าวสืบเนื่องจากรัฐบาลได้เริ่มบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด โดยห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 21.00 - 04.00 น. และสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 และจะบังคับใช้มาตรการเป็นเวลา 14 วัน ซึ่ง พล.ต.ต. ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เฉพาะในวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 พบผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน 299 ราย จากการตั้งด่านตรวจ 10 ด่าน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล