ไทยเซ็นสัญญานำเข้าวัคซีนจากไฟเซอร์ 20 ล้านโดส

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.07.20
กรุงเทพฯ
ไทยเซ็นสัญญานำเข้าวัคซีนจากไฟเซอร์ 20 ล้านโดส พนักงานส่งถังออกซิเจนจากร้านค้ามายังโรงพยาบาลสนาม เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 เนื่องจากความต้องการออกซิเจนยังคงเพิ่มขึ้น ในกรุงเทพฯ วันที่ 17 กรกฎาคม 2564
รอยเตอร์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรค ได้ลงนามในสัญญาซื้อวัคซีนโควิด-19 จากบริษัท ไฟเซอร์-ไบออนเทค ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วในวันอังคารนี้ หลังจากที่โดนประชาชนกดดันให้จัดหาวัคซีนคุณภาพสูง โดยจะนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 จำนวน 20 ล้านโดส

ขณะที่ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันจันทร์นี้ ถึงจดหมายลับที่ถูกเผยแพร่ออกมาว่า บริษัท แอสตราเซเนกา บอกกับประเทศไทยว่า สามารถจัดส่งวัคซีน COVID-19 ให้ได้ประมาณ 6 ล้านโดสต่อเดือน แต่เจ้าหน้าที่ไทยได้ทำหนังสือตอบกลับโดยระบุเพิ่มเติมว่า ตามสัญญาไทยจะต้องได้รับ 10 ล้านโดส

การที่ประเทศไทยพยายามผลักดันเพื่อจะได้รับวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือน ในส่วนของวัคซีนที่ผลิตในไทยนั้น เกิดขึ้นขณะที่ไทยมีการกำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีน การตัดสินใจดังกล่าวอาจสร้างปัญหาให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งบางประเทศก็กำลังต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ที่คล้ายกับไทย หรือรุนแรงกว่า

แต่จดหมายจากแอสตราเซเนกา ลงวันที่ 25 มิถุนายนปีนี้ ถึงรัฐมนตรีสาธารณสุขของไทยระบุว่า บริษัทผู้ผลิตแอสตราเซเนกาได้เสนอที่จะจัดส่งวัคซีนที่ผลิตได้ในประเทศ จำนวน 5-6 ล้านโดสต่อเดือน หรือหนึ่งในสามของจำนวนที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์

“ผมหวังว่า ทางคุณจะพอใจที่ได้รับตามจำนวนนี้ ซึ่งมากเกือบสองเท่าของปริมาณที่เราพูดคุยกันไว้ ระหว่างการประชุมของเรา” นายสจอร์ด ฮับเบน รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลก ของบริษัท แอสตราเซเนกา กล่าวในจดหมาย อ้างถึงการประชุมเมื่อเดือนกันยายน 2563 กับเจ้าหน้าที่ของไทยที่ได้ประเมินการว่า ประเทศไทยมีความต้องการวัคซีนประมาณ 3 ล้านโดสต่อเดือน

ส่วนการเซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ ที่กระทรวงสาธารณสุขในวันนี้นั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล เปิดเผยว่า ตัวแทนรัฐบาลไทยโดยกรมควบคุมโรค และบริษัท ไฟเซอร์-ไบออนเทค ได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย แต่สามารถเปิดเผยมูลค่าการซื้อขายได้

“ต้องยอมรับว่าวัคซีนโควิด-19 นั้น เป็นของที่ทั้งโลกมีความต้องการเป็นอย่างยิ่ง กว่าจะได้มาแต่ละโดส ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย วัคซีนไฟเซอร์ก็เช่นกัน สำหรับนโยบายของประเทศไทย คือ การพยายามจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย มาให้บริการกับประชาชนอย่างครบถ้วนตามเป้าหมายที่วางไว้ และจะต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับสถานการณ์ รัฐบาลไม่เคยนิ่งเฉยในเรื่องของการจัดหาวัคซีน” นายอนุทิน ระบุผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ

​​ด้าน น.ส. ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกหน่วยงานที่สนับสนุนให้สามารถจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส รวมถึงวัคซีนเทคโนโลยีต่าง ๆ มาฉีดให้แก่ประชาชน ส่วนวัคซีนไฟเซอร์นั้น มีแผนการฉีดประกอบด้วยการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21 วัน และเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนให้ใช้สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปได้

นางเด็บบราห์ ไซเฟิร์ท ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทยและอินโดไชน่า เปิดเผยผ่านจดหมายประชาสัมพันธ์ว่า บริษัทฯ วางแผนที่จะผลิตวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ 3 พันล้านโดส เพื่อจัดส่งให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกภายในปี 2564 สำหรับประเทศไทยนั้น วัคซีนไฟเซอร์ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยาแล้วเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564

“มีความยินดีที่ได้เซ็นสัญญาที่มีความสำคัญนี้กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันในความพยายามที่จะลดการติดเชื้อในประเทศ สัญญานี้เป็นการเน้นยํ้าถึงความมุ่งมั่นของไฟเซอร์ในการจัดหาวัคซีนที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 นี้และยังเป็นการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของคนทั่วโลก” นางเด็บบราห์ ระบุ

ในวันเดียวกัน สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะบริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้ประเทศไทย 1.5 ล้านโดส มูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 960 ล้านบาท ซึ่งจะส่งมอบในเร็วๆ นี้

ขณะที่ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศได้เริ่มเปิดให้ชาวต่างชาติอายุเกิน 60 ปี ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลงทะเบียนเพื่อขอรับวัคซีนโควิด-19 แล้ว โดยจะเริ่มให้ฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติที่ลงทะเบียนในวันพฤหัสบดีนี้ ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ

สำหรับแผนการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลนั้นจะประกอบด้วย การนำเข้าวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ซึ่งผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ในไทย ปัจจุบัน ส่งมอบแล้ว 8.13 ล้านโดส รวมส่วนที่รับบริจาคจากญี่ปุ่น วัคซีนซิโนแวค 47.5 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 7.47 ล้านโดส รวมส่วนที่รับบริจาคจากจีน ขณะที่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มแล้ว 3 ล้านโดส และรัฐบาลมีแผนที่จะนำเข้าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันอีก 5 ล้านโดส รวมถึงไฟเซอร์-ไบออนเทค 20 ล้านโดส

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบัน สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 14,547,244 โดส ในนั้นเป็นผู้ที่ฉีดเข็มที่สอง 3,479,726 ราย สถานการณ์การแพร่ระบาด วันอังคารนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 11,305 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 80 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 126,765 ราย

เริ่มมาตรการเข้ม คุมพื้นที่ 13 จังหวัด อังคารนี้

ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 2 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2564 เพื่อการควบคุมโรคระบาดตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอมา โดยวันนี้เริ่มเป็นวันแรกที่เริ่มใช้มาตรการเข้มข้นใน 13 จังหวัด ห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ และห้ามออกนอกเคหสถานยามวิกาล

น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 2 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2564 เพื่อการควบคุมโรคระบาดตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอมา

นอกจากนั้น รัฐบาลจะเพิ่มพื้นที่บังคับใช้มาตรการควบคุมโรคเข้มข้น จากเดิมที่ใช้เฉพาะ กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 10 จังหวัดเพิ่ม ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา และชลบุรี เป็น 13 จังหวัด มีผล 14 วันเริ่มตั้งแต่อังคารนี้

“ครม. มีมติเห็นชอบการขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบ และให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ก่อสร้าง ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ ขายส่งขายปลีกและซ่อมยานยนต์ ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุนกิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และข้อมูลข่าวสารและสื่อสาร” น.ส.รัชดา ระบุ

สำหรับ มาตรการควบคุมใน 13 จังหวัดดังกล่าวคือ ห้ามประชาชนเดินทางออกนอกพื้นที่ หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ให้ประชาชนทำงานที่บ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ห้ามประชาชนรวมกลุ่มเกิน 5 คน ห้ามเดินทางออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 20.00 - 04.00 น. ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสดให้ปิดในเวลา 20.00 น. และระบบขนส่งมวลชนให้รับผู้โดยสารได้เพียงแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุ โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 1.35 หมื่นล้านบาท สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวแล้ววันนี้

ในวันเดียวกัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 จะมีการดำเนินการแจก ชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) 8.5 ล้านชุดให้กับประชาชนไทย และแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้สามารถตรวจหาเชื้อด้วยตนเองได้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง