สหรัฐฯ-อังกฤษ-สวิตเซอร์แลนด์ บริจาควัคซีนและเวชภัณฑ์ ช่วยไทยสู้โควิด-19
2021.07.29
กรุงเทพฯ
สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยสหรัฐฯ จะบริจาควัคซีนไฟเซอร์เพิ่มอีก 1 ล้านโดส อังกฤษบริจาควัคซีนแอสตราเซเนกา 4.15 แสนโดส และสวิตเซอร์แลนด์จะบริจาคชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน 1.1 ล้านชุด ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยสร้างความเครียดให้กับระบบสาธารณสุขอย่างหนัก
ในวันพฤหัสบดีนี้ ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 17,669 ราย และมีผู้เสียชีวิต 165 ราย ซึ่งเป็นยอดติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดต่อวันของไทย นับตั้งแต่พบเชื้อโควิด-19 ในนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคม 2563
สหรัฐอเมริกา เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของสถานเอกอัครรราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย โดยระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ล็อตแรก 1.5 ล้านโดส จะถึงประเทศไทยในวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นี้ และมีแผนจะบริจาคเพิ่มเติมในอนาคต 1 ล้านโดส แต่ยังไม่ระบุรายละเอียด
“เรากำลังจะส่งมอบวัคซีนโควิดอย่างน้อย 1.5 ล้านโดส จริง ๆ เป้าหมายคือการบริจาครวม 2.5 ล้านโดส แต่การส่งมอบล็อตแรกคือ 1.5 ล้านโดส สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของเราสำคัญเสมอมาและเสมอไป" นางแทมมี่ ดักเวิร์ธ วุฒิสภาสหรัฐฯ เปิดเผยจากกรุงวอชิงตัน ดีซี
ขณะที่ นายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจสถานเอกอัครราชทูตฯ ว่า โครงการวัคซีนโควิด-19 ของอังกฤษประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงมีวัคซีนเหลือพอที่จะบริจาคให้กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
“วันนี้ สหราชอาณาจักร มีวัคซีนโควิด-19 บริจาคให้ประเทศไทยได้ จำนวน 415,000 โดส วัคซีนนี้ผลิตโดยบริษัท แอสตราเซเนกา ในสหราชอาณาจักรและจะส่งมาถึงประเทศไทยภายใน 1-2 สัปดาห์” นายมาร์ค กล่าว
ในวันเดียวกันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังได้เป็นตัวแทนรัฐบาลรับมอบ
ชุดตรวจโควิดเร่งด่วน (Rapid Test Kits - RTK) 1.1 ล้านชุด, เครื่องช่วยหายใจ 102 เครื่อง รวมเวชภัณฑ์ทั้งหมดมูลค่า 9 ล้านฟรังก์สวิส หรือกว่า 300 ล้านบาท จากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ด้วย
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด-19 ประมาณ 23 ล้านโดส แบ่งเป็น จากการสั่งซื้อกับบริษัท แอสตราเซเนกา 8.19 ล้านโดส การสั่งซื้อจากบริษัท ซิโนแวค และรับบริจาคจาครัฐบาลจีน 12.5 ล้านโดส และการสั่งซื้อของบริษัท ซิโนฟาร์ม โดยจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย 3 ล้านโดส
โดยรัฐบาลไทยมีเป้าหมายจะนำเข้าวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ซิโนแวค 47.5 ล้านโดส และเซ็นสัญญานำเข้ากับไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ขณะที่ สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนโมเดอร์นาแล้ว 5 ล้านโดส
รัฐบาลตั้งเป้าหมายจะฉีดวัคซีนให้ประชาชน 100 ล้านโดส ในปี 2564 ปัจจุบัน สามารถฉีดได้แล้ว 16,591,329 โดส ในนั้นเป็นผู้ที่ฉีดครบสองเข็ม 3,732,759 ราย
ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ในไทยยังคงทำลายสถิติต่อเนื่อง
ในวันนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,669 ราย และมีผู้เสียชีวิต 165 ราย มีผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ 185,976 ราย โดยถือว่าเป็นยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่สูงที่สุดในรอบหนึ่งวัน ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งมีสภาพแออัดมากในปัจจุบัน
”ล็อกดาวน์ครั้งนี้ไม่ค่อยเหมือนล็อกดาวน์ การจราจรยังมากอยู่จริง ๆ อาจจะต้องพยายามลดการออกจากบ้านสักนิดนึง ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ถ้าแยกผู้ติดเชื้อออกมาได้เร็วที่สุด จากผู้ไม่ติดเชื้อ จะเป็นโฮมไอโซเลชั่น คอมมูนิตี้ไอโซเลชั่น ฮอสปิเทล (แยกกักตัวที่บ้าน กักตัวในชุมชน หรือที่โรงพยาบาล) การแพร่เชื้อจะลดลง (ปัจจุบัน) โรงพยาบาลใหญ่ ไอซียูนี่ล้นเลยมี 10 เข้าไป 12” นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
ทั้งนี้ ในจำนวนยอดผู้เสียชีวิต 165 ราย มีถึง 21 ราย ที่เสียชีวิตที่บ้าน แบ่งเป็นอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ 12 ราย ปทุมธานี 7 ราย ร้อยเอ็ด 1 ราย และ ฉะเชิงเทรา 1 ราย
ภูเก็ตมีคำสั่งห้ามเข้าเกาะ 14 วัน หลังมีคนติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงขึ้น
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงเรื่องการยกระดับมาตรการเดินทางเข้าภูเก็ตว่า
"ไม่มีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าภูเก็ต ในโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ แต่อย่างใด แต่สำหรับนักท่องเที่ยวไทย และชาวต่างชาติที่มีภูมิลำเนานอกจังหวัดภูเก็ต ไม่สามารถเดินทางเข้าภูเก็ตได้ ในระหว่างวันที่ 3-16 สิงหาคม"
"ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ภูเก็ตครบ 14 คืนแล้ว เดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดอื่นต่อ จะสามารถกลับเข้าภูเก็ตได้เฉพาะในวันที่มีตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับประเทศที่สนามบินภูเก็ตในวันนั้น"
ในวันเดียวกัน รัฐบาลกัมพูชาได้สั่งจำกัดการเดินทางออกนอกเคหสถาน และการรวมตัวในจังหวัดเกาะกง, โพธิสัตว์, พระตะบอง, ไพลิน, บันทายมีชัย, อุดรมีชัย, พระวิหาร และเสียมราฐ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ติดกับชายแดนไทยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคำสั่งนี้ มีผลถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2564
กระทรวงดีอีเอส ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจจัดการข่าวปลอม
และในวันเดียวกัน หลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศใช้มาตรการจริงจังในการจัดการกับข่าวปลอม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เปิดเผยว่า ได้จัดตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหา การเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์” มุ่งเน้นการจัดการกับปัญหาข่าวปลอม
โดยตั้งแต่เดือน มิถุนายน-กรกฎาคม 2564 ดีอีเอสได้ยื่นคำร้องและแจ้งความดำเนินคดี มีคำสั่งศาลให้ระงับแล้ว 8 คำสั่ง รวม 94 ยูอาร์แอล อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาล 8 คำร้อง รวม 145 ยูอาร์แอล และมีการแจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำความผิดนำเข้าข้อมูลไม่เหมาะสม รวม 54 ยูอาร์แอล/บัญชีรายชื่อ
นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้การประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตส่งเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ของผู้ที่กระทำการเผยแพร่ข่าวสารที่สร้างความหวาดกลัว เจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อรัฐบาล ไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
รวมทั้งให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตต่อบุคคลดังกล่าว อันเป็นผลสืบเนื่องจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีผลจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน