ร้านอาหาร-แรงงานร้องรัฐเยียวยา หลังห้ามกินที่ร้าน สูญเสียรายได้ทันที

นนทรัฐ​ ไผ่เจริญ
2021.06.28
กรุงเทพฯ
ร้านอาหาร-แรงงานร้องรัฐเยียวยา หลังห้ามกินที่ร้าน สูญเสียรายได้ทันที แรงงานข้ามชาติและครอบครัวเดินออกมาเพื่อรับของ จากภายในบริเวณที่พัก ในบริเวณโครงการก่อสร้างที่ทำงานอยู่ ตำบลบางกะดี อำเภอเมือง ปทุมธานี วันที่ 12 เมษายน 2563
นนทรัฐไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

เจ้าของร้านอาหารและนักธุรกิจ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า พวกตนต้องสูญเสียรายได้ทันที หลังรัฐบาลได้มีประกาศคำสั่งห้ามรับประทานอาหารในร้าน และคำสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง เป็นเวลา 1 เดือน ออกมาในเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนจะมีผลบังคับใช้ทันทีในเวลาก่อนรุ่งเช้าวันจันทร์นี้

ด้าน รัฐบาลได้ชี้แจงว่าพร้อมเยียวยาให้กับแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 7,500 บาท  

เมื่อวันศุกร์ รัฐบาลได้เปิดเผยว่า จะทำการควบคุมการเข้าออกพื้นที่แคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ และสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน และให้มีผลในวันจันทร์ แต่ในเวลา 01.00 น. ของวันอาทิตย์ รัฐบาลกลับได้ประกาศคำสั่งที่กำหนดให้ร้านอาหารขายได้ เฉพาะการซื้อกลับบ้าน เพิ่มเติมกับควบคุมการเข้าออกพื้นที่แคมป์คนงานก่อสร้าง จนประชาชนรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก

น.ส. นุจรี เด่นประภา เจ้าของร้านอาหารอิสลาม ย่านทุ่ง​ครุ กรุงเทพฯ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า คำสั่งดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อร้านอาหารในกรุงเทพฯ

“รัฐประกาศแบบไม่ให้เราได้ตั้งตัว เราสั่งเนื้อสัตว์ล่วงหน้าไปแล้ว วันจันทร์ห้ามนั่งกิน เราเสียหายหนัก ของเหลือแน่ถ้าสั่งได้เฉพาะกลับบ้าน รายได้เราจะหายไป 70-80 เปอร์เซ็นต์ การสั่งปิดร้านเหมือนไม่เห็นใจคนขายเลย... ระบบเราเสียหาย ลูกค้าเราก็เสียไป” น.ส. นุจรี กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลเคยออกคำสั่งห้ามรับประทานอาหารในร้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงระบาดระลอกแรก เดือนมีนาคม 2563 ก่อนคลายมาตรการในเดือนมิถุนายน 2564 และมีการสั่งห้ามอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยรัฐไม่ได้ระบุมาตรการเยียวยาสำหรับร้านอาหารอย่างชัดเจน

ในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางการในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ได้ออกประกาศห้ามประชาชนเดินทางผ่านจังหวัดโดยไม่ได้รับอนุญาต และหากผู้ใดต้องการเดินทาง ต้องแสดงบัตรประชาชนและกรอกแบบฟอร์มเพื่อให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการเดินทาง

นางลาตี มะอีสอ ชาวสวนทุเรียน ในจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ด้วยความไม่สะดวกในการเดินทาง ผู้รับซื้อทุเรียนได้ใช้เป็นข้ออ้างในการกดราคาทันที

“เมื่อปิดพื้นที่ ราคาทุเรียนลดลงทันที 4-5 บาท ต่อกิโล อยากขอให้จังหวัดมีมาตรการช่วยเหลือชาวสวนทุเรียน เพราะรายได้น้อยลง แต่สินค้าอย่างอื่นแพงขึ้น” นางลาตี ระบุ

ส่วน น.ส.กอมารียะ มะ แม่ค้าซื้อปลาจากสะพานปลาปัตตานี เพื่อนำไปขายในพื้นที่ จ.ยะลา กล่าวว่า

เขาล๊อกดาวน์ทำให้การเดินทางเสียเวลาเพิ่มขึ้น เราพอเข้าใจ ก็ทำเวลาได้ออกเร็วหน่อย แต่อย่างวันนี้ ครึ่งชั่วโมงกว่าที่ช้ากว่าเดิม เราก็ต้องเพิ่มน้ำแข็งมากขึ้น พอทุนเพิ่มราคาสินค้าก็ต้องเพิ่ม มันกระทบแน่นอน เราจะขายเท่าเดิมก็ไม่ได้ แต่เพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19 ก็เห็นด้วย เราใช้ยาแรง ไม่นานเราทุกคนจะรอด”

เจ้าหน้าที่รัฐนับหมื่นควบคุมแรงงาน

ในส่วนของการปิดแคมป์ก่อสร้างนั้น พล.ต. ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยในวันอาทิตย์ว่า กรุงเทพฯ กระทรวงสาธารณสุข และกองทัพ ได้ใช้เจ้าหน้าที่กว่า 10,000 นาย คุมพื้นที่แคมป์คนงานก่อสร้าง 575 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากพื้นที่ แต่มีรายงานข่าวว่า ต่างด้าวได้หลบหนีออกไปจำนวนหนึ่ง

ด้านนักสิทธิแรงงานชี้ว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อแรงงาน และอาจควบคุมโรคไม่ได้ผล

“รัฐควรให้แรงงานทำงานได้ แต่จำกัดพื้นที่และการเดินทาง การเยียวยา 50 เปอร์เซ็นต์ กับให้อาหารไม่จูงใจให้เขาปฏิบัติตาม และรัฐควรใช้โอกาสนี้ในการเอาแรงงานนอกระบบเข้าระบบ และการประชุมครั้งต่อไปควรเชิญคนที่เกี่ยวข้อง ผู้รับเหมา แรงงาน เข้าประชุมด้วย เพราะการคิดเองคนเดียวก็จะเกิดปัญหาตามมาเช่นที่เกิดขึ้นนี้” นายอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวกับเบนาร์นิวส์

มาตรการเยียวยาของรัฐ

ในวันเดียวกันนี้ สำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลจะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร ปทุมธานี โดยจ่ายเงินให้นายจ้าง 3,000 บาท ต่อหัวของลูกจ้างในสถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน จ่ายเงินชดเชย 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ให้ลูกจ้างในระบบประกันสังคมทั้งไทยและต่างชาติ สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท โดยรัฐจ่ายเพิ่มอีก 2,000 บาท เฉพาะคนไทย

“เรามีงบประมาณที่เตรียมไว้แล้ว จากส่วนของรัฐบาลและกองทุนประกันสังคม รวมแล้ว 7.5 พันล้านบาท เฉพาะ 1 เดือนนี้… รัฐบาลจะจ่ายเพิ่มเติมให้ลูกจ้างในระบบประกันสังคม ทำไมเราต้องปิดคลัสเตอร์แรงงาน เพราะมันมีระบาดกันเยอะไง” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการแถลงข่าว

แพทย์ชนบทแนะรัฐเร่งฉีดวัคซีนเดือนละ 15 ล้านโดส

ชมรมแพทย์ชนบท ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ทางออกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของประเทศไทย คือการเร่งฉีดวัคซีน ในกับประชาชนเดือนละอย่างน้อย 15 ล้านโดส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน

ขณะที่ นายแพทย์ จากโรงพยาบาลเอกชน (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) ในกรุงเทพฯ ชี้ว่า “รัฐควรเปิดให้เอกชนช่วยนำเข้าวัคซีน เหมือนที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทำ เพื่อเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนให้ได้เยอะที่สุด จะได้ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ”

ในวันจันทร์นี้ ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งพรวดสูงขึ้นถึง 5,406 ราย เสียชีวิต 22 ราย โดยปัจจุบัน ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 9,147,512 ล้านโดส ในนั้นเป็นผู้ที่ฉีดครบแล้วสองเข็ม 2,609,661 ราย

ในวันเดียวกัน บริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า ทางบริษัทฯ จะส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับกระทรวงสาธารณสุขได้อีก 1.3 ล้านโดส ภายในสิ้นเดือนนี้ หลังจากส่งมอบไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 4.7 ล้านโดส รวมเป็น 6 ล้านโดส จากแผนการจัดหา 61 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้  

ทางบริษัทฯ ระบุว่า จะผลิตวัคซีนได้ในปีนี้รวม 180 ล้านโดส ที่เหลือส่งออกไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่, มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี, วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง