นายกฯ มอบนโยบายแก้หนี้สิน 'การค้าทาสยุคใหม่' เป็นวาระแห่งชาติ
2023.12.08
กรุงเทพฯ
ในวันศุกร์นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบกับหัวหน้าหน่วยราชการทั่วประเทศ ให้จัดการการค้าทาสยุคใหม่ให้ได้อย่างเด็ดขาด
นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ และขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ซึ่งประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินที่สูงอย่างไม่เป็นธรรม การทวงถามหนี้ที่มีลักษณะคุกคามขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้าย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความสงบเรียบร้อยของสังคม
แม่ค้าผลไม้นั่งมองโทรศัพท์มือถือที่แผงขายผลไม้ในตลาด วันที่ 2 ตุลาคม 2566 (รอยเตอร์/อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา)
“มาช่วยกันทำให้การค้าทาสในยุคใหม่หมดไปจากประเทศไทยด้วยกัน ซึ่งพี่น้องเพื่อนร่วมชาติจำนวนมากมีความทุกข์ ถูกพรากอิสรภาพในการใช้ชีวิตเพราะมีหนี้สินจองจำพวกเขาอยู่” นายเศรษฐา กล่าวต่อที่ประชุม ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายเรื่องนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น กระทรวงมหาดไทยเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม และได้มีการรวบรวมข้อมูลลูกหนี้ แยกแต่ละประเภท และดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้ลงทะเบียนไว้ จนถึงวันศุกร์นี้ มีลูกหนี้ที่มาลงทะเบียนแล้วกว่า 71,000 คน รวมยอดมูลหนี้นอกระบบกว่า 3,500 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในกระบวนการนี้ เจ้าหน้าที่จะเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้สมัครใจเข้ามาไกล่เกลี่ยกัน หาทางออกร่วมกันอย่างสันติวิธี และถูกต้องตามกฎหมาย โดยรัฐยินดีให้ความช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องของการให้คำแนะนำ และการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน
“เชื่อว่าในหลาย ๆ ครั้ง เจ้าหนี้และลูกหนี้ก็ยังพร้อมที่จะประนีประนอมกันได้ ก็ขอให้เชิญเข้ามาไกล่เกลี่ยกัน ให้เข้ามาร่วมกันหาทางออกอย่างสันติวิธี และถูกต้องตามกฎหมาย จัดทำเป็นสัญญาประนีประนอมต่อกัน ตามแบบฟอร์มที่กระทรวง มหาดไทยได้จัดเตรียมไว้ และกำหนดอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา และงวดผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสมกับศักยภาพการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีทั้งกับเจ้าหนี้และลูกหนี้” นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำ
ชาวบ้านขี่จักรยานยนต์ผ่านตลาดแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ วันที่ 2 ตุลาคม 2566 (รอยเตอร์/อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา)
นายกรัฐมนตรีย้ำด้วยว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น เป็นวาระสำคัญของชาติจริง ๆ ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเพื่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลของตนเอง
“เชื่อมั่นว่าพวกท่านสามารถช่วยพี่น้องประชาชนให้มีอิสรภาพต่อชีวิต สร้างขวัญและกำลังใจให้ได้ ซึ่งในฐานะนายกฯ จำเป็นต้องขอพึ่งพาความรู้ความสามารถของพวกท่าน ช่วยให้พี่น้องประชาชนเป็นอิสระ หลุดพ้นพันธนาการจากหนี้นอกระบบนี้” นายเศรษฐา กล่าวเพิ่มเติม
ตามตัวเลขของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเทศไทยมีหนี้สินครัวเรือนกว่า 15 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของรายได้มวลรวมของประเทศ หรือคิดเป็นหนี้ครอบครัวละกว่า 500,000 บาท แยกเป็นหนี้นอกระบบเกือบ 19.8 เปอร์เซ็นต์ และหนี้ในระบบ 80.2 เปอร์เซ็นต์