คนไทยหลายล้านคนตกอยู่ในวังวนหนี้สิน
2024.03.01
กรุงเทพฯ
เจ้าของกิจการโรงน้ำแข็ง วัชรินทร์ ร่มเย็น วัย 42 ปี คิดว่าเธอพบทางออกให้กับปัญหาทางการเงิน หลังจากเห็นป้ายของผู้ให้กู้เงินด่วนพร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดไว้บนเสาไฟใกล้บ้าน ในจังหวัดปทุมธานี
แต่วัชรินทร์ไม่รู้เลยว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของวังวนการเป็นหนี้ที่มีการเก็บดอกเบี้ยสูง ทำให้เธอตกอยู่ในสภาวะเคร่งเครียด และทำให้การเงินล่มจมมากยิ่งขึ้น
“ยืมญาติพี่น้องจนไม่มีที่จะยืมแล้ว ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว” วัชรินทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
เธอจำได้ว่าในเช้าวันหนึ่ง เธอตัดสินใจโทรศัพท์ไปหาเบอร์ของผู้ให้กู้ที่แปะไว้บนเสาไฟ
“โทรไปเก้าโมง เที่ยงก็มาแล้ว เขาดูมีฐานะ แต่งตัวดี ขับรถคันใหญ่”
“พอเราขาดส่ง เขาก็โทรมาขู่ว่าให้โอนเงิน ถ้าไม่โอนจะไปพังบ้าน”
ประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง อ้างอิงตามธนาคารโลก แต่ค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันยังอยู่ในอัตราต่ำกว่า 400 บาทต่อวัน และปริมาณหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย
ในเดือนมกราคม ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท โดยปัจจัยเช่นเศรษฐกิจและระดับรายได้ฟื้นช้า ต้นทุนทางการเงินสูงกว่าในอดีต และพฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดีเป็นตัวส่งเสริมให้ปริมาณหนี้เพิ่มสูงและลดความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้
ในเดือนธันวาคม วัชรินทร์ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล โดยปัจจุบัน วัชรินทร์กล่าวว่า ได้เจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้โดยมีนายอำเภอเป็นตัวกลางไปแล้วกว่าสิบรายด้วยกัน
เมื่อสิ้นเดือนมกราคม กระทรวงมหาดไทยเผยยอดการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ครบ 59 วัน นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 พบว่า ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 135,616 ราย มูลหนี้ 9,186 ล้านบาท มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 15,362 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 8,702 ราย และมีการดำเนินคดีไปแล้ว 165 คดี ที่ไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ และได้ส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่
ผู้ให้กู้เงินลงโฆษณาทางเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก จากภาพข่าวในปี 2557 (อาทิตย์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)
แต่ยอดหนี้ดังกล่าวเป็นจำนวนไม่มากเลย เมื่อเทียบกับยอดหนี้นอกระบบทั้งหมดที่รัฐบาลประเมินไว้ที่ 5 หมื่นล้านบาท
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “รัฐบาลเห็นปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ต้องเจอกับความเปราะบางที่เกิดขึ้นจากหนี้สิน หนี้นอกระบบถือว่าเป็น “การค้าทาสในยุคใหม่” (Modern World Slavery) ที่ได้พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้”
แทบไม่ฟื้นหลังโควิด
ธุรกิจโรงน้ำแข็งของวัชรินทร์ประสบปัญหาอย่างหนักช่วงโควิด เนื่องจากลูกค้าที่เป็นร้านอาหารหรือคาเฟ่ต่าง ๆ ต้องปิดตัวลงในช่วงนั้น
ในทุก ๆ วัน วัชรินทร์ต้องสั่งน้ำแข็งมาเป็นก้อนใหญ่ ๆ หลายกระสอบหลายกิโลกรัม เพื่อนำมาแบ่งตัดและส่งให้สถานประกอบกิจการหลายแห่งในพื้นที่
“มีลูกน้องหกคน ขับรถสามคัน สั่งน้ำแข็งต่อวัน ที่เหลือก็ให้ลูกน้อง ค่าน้ำมัน แล้วก็มีลูกสามคนอยู่ในวัยเรียน สามีแยกไปแล้ว ก็ต้องจ่ายทั้งในบ้าน ทั้งธุรกิจ”
ในเดือนมิถุนายน 2566 วัชรินทร์ได้ยืมเงินจากเจ้าหนี้รายหนึ่ง โดยมีการเก็บดอกเบี้ยเป็นรายวันต่อเนื่องกัน และถ้าวัชรินทร์ขาดส่งหนึ่งวัน ก็ต้องเริ่มใหม่ โดยไม่มีการนับดอกเบี้ยที่เคยจ่ายไปแล้วแต่อย่างใด
“ถ้าต้องกู้ในระบบมักไม่ทันเวลาที่ต้องใช้” วัชรินทร์กล่าว
“กู้มา 15,000 บาท แต่ได้ 13,500 บาทเพราะหักค่าเอกสาร กับดอกเบี้ยล่วงหน้าอย่างละ 750 บาท”
โดยในการกู้ วัชรินทร์ต้องส่งดอกเบี้ยทุกวัน วันละ 750 บาท ในช่วงเวลา 24 วัน หากขาดส่งก็ตัดบัญชีและต้องนับหนึ่งใหม่ โดยหากวัชรินทร์ส่งครบ ก็เท่ากับว่าจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนเป็นจำนวน 18,000 บาท หรือเท่ากับจำนวนดอกเบี้ยที่ 20% ของเงินต้น 15,000 บาท ทั้งที่กฏหมายไทยระบุว่าการให้กู้ยืมห้ามคิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี
อย่างไรก็แล้วแต่ เนื่องจากวัชรินทร์ต้องส่งดอกเบี้ยให้กับผู้กู้จำนวนหลายรายในขณะเดียวกัน จึงขาดส่งดอกเบี้ย โดยเมื่อถึงเดือนธันวาคมเธอประเมินว่าได้จ่ายดอกเบี้ยไปแล้วราว 130,000 บาท โดยที่ยังไม่ได้ใช้เงินต้นคืนเลย
เลิกเป็นหนี้
การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลคือ การช่วยไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ โดยในกรณีของวัชรินทร์ นายอำเภอได้ช่วยไกล่เกลี่ยโดยแจ้งกับเจ้าหนี้ว่า ได้จ่ายดอกเบี้ยไปเยอะแล้ว
นายเศรษฐากล่าวว่า นโยบายการแก้หนี้นอกระบบจะต้องเป็นการบูรณาการระหว่างตำรวจและกระทรวงมหาดไทย และกล่าวว่าด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต และจะเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนรายเล็ก รายย่อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น
มาตรการอื่น ๆ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบด้วย เช่นการแก้ไขหนี้เสียและประวัติค้างอยู่ในเครดิตบูโรที่ทำให้ขอสินเชื่อได้ยาก โครงการคลินิกแก้หนี้สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และโครงการสินเชื่อธนาคารประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ เป็นต้น โดยโฆษกกระทรวงการคลังว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบจะสามารถช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้ในระบบได้ประมาณ 10.3 ล้านราย และช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบได้ประมาณ 1.6 ล้านราย
เจ้าของกิจการรายย่อยในจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่าเธอไม่มีความสามารถในการชำระค่าใช้จ่ายประจำวันหรือแม้ในแต่ละเดือน เมื่อเดือนเมษายน 2566 (อาทิตย์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)
อาจิน จุ้งลก ประธานมูลนิธิสุภา วงค์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ กล่าวว่า หลังจากทำงานด้านแก้ไขหนี้สินมามากกว่า 20 ปี และเคยให้คำปรึกษาด้านหนี้สินแก่วัชรินทร์ด้วยนั้น ช่วงนี้ถือว่าสถานการณ์ด้านหนี้สินของคนไทยหนักที่สุดแล้ว
“ช่วงนี้หนักที่สุด พอโควิดเกิดขึ้นทุกคนเกิดปัญหาหมดเลย เพราะหลายคนต้องอยู่กับบ้านเพราะตกงาน ก่อนโควิดหนี้เริ่มบวม วงเงินสินเชื่อของคนเต็ม พอมีโควิดก็ระเบิด”
อาจินกล่าวว่าลูกหนี้อยู่ในหลายกลุ่มหลายสถานะทางการเงินด้วยกัน ทั้งลูกหนี้ที่กู้เจ้าหนี้นอกระบบ กับในระบบ เช่น ผ่อนมอเตอร์ไซค์ไปพร้อมกัน หรือลูกหนี้เจ้าของกิจการ SME ที่มีหนี้สินราว 20-30 ล้านบาท
บางอาชีพเช่น ครู อาจมีหนี้สินเกินเงินเดือนถึง 200-300 เท่า เพราะ “สหกรณ์ออมทรัพย์ครูให้กู้โดยไม่ต้องดูเครดิตบูโร”
อาจินแนะนำว่า ในแต่ละเดือนควรต้องแบ่งเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายและที่เหลือไว้สำหรับใช้หนี้
“คนไทยไม่มีการออมที่ดี ไม่มีเงินฉุกเฉิน เราไม่สามารถอยู่ได้ 3 เดือน 6 เดือน แล้วไม่เกิดปัญหา เราต้องมานั่งดูว่าเราจะสร้างเงินฉุกเฉินนี้ได้อย่างไร”