ตร. สั่งฟ้องนักกิจกรรมคดีประชามติจำลองในปัตตานี ปี 66
2024.10.03
ปัตตานี และ กรุงเทพฯ
พนักงานสอบสวน สภ. เมืองปัตตานี ได้ส่งฟ้องนักกิจกรรมและนักศึกษารวมห้าคนต่ออัยการจังหวัดปัตตานี ในคดีที่เกี่ยวข้องกับ การทำประชามติแยกเอกราชปาตานีจำลอง ในงานเปิดตัว ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อเดือนมิถุนายน 2566
“เรามาตามนัด ตำรวจส่งหมายให้เราว่า วันนี้จะมีการส่งสำนวนต่อให้อัยการ และมาส่งตัวพวกเราทั้งห้าให้กับอัยการรับช่วงต่อ หมายถึงตำรวจปัตตานี สั่งฟ้อง เราก็ยังมีคำถามคือ กระบวนการทั้งหมดมันเสร็จสิ้น และด่วนสรุปไปหรือเปล่า” นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก จากกลุ่ม The Patani หนึ่งในผู้ต้องหากล่าว
พล.ต.ต. นิตินัย หลังยาหน่าย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 กล่าวกับสื่อมวลชนหลังการส่งฟ้องว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่ละเอียดอ่อน
"นี่เป็นอีกเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่เจ้าหน้าที่เองก็ต้องระวังในการปฏิบัติซึ่งการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย" พล.ต.ต. นิตินัย ระบุ
คดีนี้ สืบเนื่องจากวันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566 มีงานเปิดตัว ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) ที่เชิญตัวแทนว่าที่พรรคการเมือง นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหว เข้าร่วมเสวนาจำนวนหลายสิบคน ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยในงานนั้นมีการให้ผู้เข้าร่วมทำแบบสอบถามว่า “คุณเห็นด้วยกับ “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” หรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย”
“ฝากพี่น้องประชาชนช่วยทำความเข้าใจด้วยเหตุและผล แนะนำบุตรหลานของท่านที่อยู่ในประเทศไทยว่า การลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นการละเมิดกฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดนและเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐ และที่สำคัญเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ให้ความสำคัญกับประชาชนทุกส่วนด้วยดีมาเสมอ” พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยในเดือนมิถุนายน 2566
ต่อมา พล.ท. ศานติ ได้ให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ร่วมกิจกรรมดังกล่าว และในวันที่ 24 กันยายน 2567 สภ.เมืองปัตตานี ได้ออกหมายเรียกให้ผู้ถูกกล่าวหาไปรับทราบข้อกล่าวหา
กระทั่งในวันพฤหัสบดีนี้ นักกิจกรรมจากกลุ่ม The Patani นายอาเต็ฟ และ นายฮากิม พงติกอ และนักศึกษาขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) นายอิรฟาร อูมา, นายสารีฟ สะเเลมัน และ นายฮุซเซ็น บือแน ถูกส่งฟ้องต่ออัยการในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 “กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ”
หลังกระบวนการส่งฟ้อง นายฮุซเซ็น ในฐานะหนึ่งในผู้ต้องหา เปิดเผยว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมทางวิชาการซึ่งควรได้รับเสรีภาพ
“คดีนี้มันเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาเอง พื้นที่ทางวิชาการมันเป็นสิทธิเสรี มันเป็นสิ่งที่เราเองก็พยายามรณรงค์มาตลอด ทั้งในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ปัตตานี เราก็พยายาม แต่มันก็ยังคงมีการปิดกั้นมาตลอด ซึ่งสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ประชาชนโดยทั่วไปควรได้รับรู้” นายฮุซเซ็น กล่าว
“ตำรวจค่อนข้างยืนตรงข้ามกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ยืนตรงข้ามกับสิ่งที่เราทำ ซึ่งมันชอบธรรม ทั้งเรื่องกฎหมาย ทั้งด้วยวิธีการทางการเมือง คิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน สุดท้ายก็ขึ้นกับว่า ทางอัยการจังหวัดปัตตานีเนี่ย หลังจากนี้จะมีกระบวนการแบบไหน เช่น มีการเรียกพยานมาสอบถามเพิ่มเติม สั่งไม่ฟ้องหรือสั่งฟ้อง วันที่ 13 พฤศจิกายน ก็มีการนัดหมายกับอัยการอีกที” นายอาเต็ฟ กล่าวเพิ่มเติม
กระบวนการสันติภาพ
ตลอดช่วงปี 2548-2567 รัฐบาลใช้เงินในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ร่วม 5 แสนล้านบาท ขณะที่การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เป็นการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย กับกลุ่มมาราปาตานี แต่การพูดคุยฯ ดังกล่าวขาดช่วง ก่อนจะกลับมาดำเนินการอีกครั้งในปี 2563 โดยตัวแทนรัฐบาลไทยเปลี่ยนมาเจรจากับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น และมีการพูดคุยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
การพูดคุยสันติสุขฯ กำหนดเป้าหมายใช้ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ตั้งแต่ปี 2566 โดยวางแนวทางหลัก 3 ข้อ คือ 1. การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการลงนามร่วมกันเพื่อรับรองใช้แผนดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน
“พื้นที่ตรงนี้เราอยู่กับความขัดแย้งมาระลอกนี้ 20 ปี อยู่กับความรุนแรงมีความสูญเสียมากมาย เราจำเป็นต้องทำให้ประชาชนได้ออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะงานวิชาการ การมีส่วนร่วมของเยาวชน มันเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพระยะยาวของที่นี่ เพราะฉะนั้นความพยายามของคนรุ่นใหม่ คนที่ถูกดำเนินคดีคือ พยายามทำให้ประชาชนตื่นรู้ กล้าแสดงออก แก้ไขโครงสร้างที่ปิดกั้นประชาชน ไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อสังคมการเมือง” นายฮากิม กล่าว
แม้รัฐจะยืนยันว่าพร้อมสนับสนุนการปรึกษาหารือของประชาชน แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ดำเนินคดีกับนักกิจกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ควบคู่ไปด้วย ซึ่งทำให้เมื่อต้นปี 2567 องค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้กว่า 30 องค์กร ทำหนังสือเปิดผนึกถึงสหประชาชาติ ให้ช่วยตรวจสอบกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคนในหลายคดีว่า เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 40 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีอาญา ขณะเดียวกันในบางคดี ผู้ฟ้องคือ แม่ทัพภาคที่ 4 เอง
นายปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า รัฐควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อแนวทางสันติภาพในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
“ฝ่ายความมั่นคงควรระมัดระวังอย่างมาก ในการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมหรือนักศึกษา โดยเฉพาะคดีนี้ที่เป็นการพูดคุยอย่างสันติ และเป็นพื้นที่ทางวิชาการ แม้พอเป็นประเด็นแบ่งแยกดินแดนจะทำให้เห็นความไม่พอใจของคนจำนวนมาก ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรทำความเข้าใจเรื่องนี้กับสังคมให้ดีพอ ถ้าต้องการที่จะส่งเสริมกระบวนการสันติภาพในพื้นที่” นายปิยพงษ์ กล่าว
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547-2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,500 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย
ทั้งนี้ ในร่าง พรบ. งบประมาณฯ ปี 2568 การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 5.78 พันล้านบาท และงบประมาณขับเคลื่อนการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งในสิบหัวข้อในหมวดงบรายจ่ายบูรณาการมูลค่า 2.06 แสนล้านบาทด้วย
รัฐบาลระบุว่า มีเป้าหมายจะลดการสูญเสีย และความรุนแรง 80% โดยระบุว่า “จะใช้แนวทางสันติวิธีแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างต่อเนื่อง พัฒนากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาบนหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และพัฒนาศักยภาพของพื้นที่”