ศาลคดีทุจริตสั่งคุก 8 ปี อดีตผู้ว่ายะลา คดีจัดซื้อจีที-200
2023.05.03
ปัตตานี
สำนักงานอัยการสูงสุด แถลงว่า ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 ได้ตัดสินให้จำคุก นายธีระ มินทราศักดิ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และปัตตานี จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที-200 ส่วนจำเลยที่เหลือ 11 คน ถูกตัดสินจำคุกตั้งแต่ 8 เดือน - 4 ปี 8 เดือน
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงในวันอังคารที่ผ่านมาว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาลงโทษนายธีระ กับพวกรวม 12 คน
“ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ได้มีคำพิพากษาลงโทษ นายธีระ มินทราศักดิ์ อดีตผู้ว่าฯ ยะลา กับพวกรวม 12 คน คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9 ยื่นฟ้องจำเลยทั้งหมด ปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจอุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิด จีที-200 ของสำนักงานจังหวัดยะลา 2 สัญญา” นายโกศลวัฒน์ กล่าว โดยจังหวัดยะลาสั่งซื้อจำนวน 17 เครื่อง ด้วยวงเงิน 31,460,000 บาท
“ศาลพิพากษาจำคุก นายธีระ จำเลยที่ 1 จำนวน 8 ปี, จำคุกจำเลย 2-4 จำนวน 4 ปี, จำคุกจำเลยที่ 5 จำนวน 8 เดือน 48 วัน, จำคุกจำเลยที่ 6-7 จำนวน 4 ปี 8 เดือน 48 วัน, จำคุกจำเลยที่ 8-12 เดือน 4 ปี เเละพิพากษาให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 โดยการอ่านคำพิพากษาเป็นการอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ตามขั้นตอนจำเลยยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีไปยังศาลสูงต่อไปได้” นายโกศลวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม
ผู้สื่อข่าวของเบนาร์นิวส์ พยายามเดินทางไปยังบ้านพักของ นายธีระ ที่จังหวัดปัตตานี เพื่อสอบถามความรู้สึกหลังทราบคำพิพากษา แต่ไม่พบตัวนายธีระ และเมื่อสอบถามเพื่อนบ้าน ทำให้เชื่อว่า นายธีระไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านในช่วงนี้
คดีของนายธีระ และพวก สืบเนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 นายรุสตัน มะแซ ได้ร้องเรียนต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามเร่งรัดประเมินผลการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภาว่า ตนเองถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวหลังจากถูกใช้เครื่อง จีที-200 ตรวจและเครื่องระบุว่ามีสิ่งผิดกฎหมาย ต่อมา นายรุสตันได้ทราบจากสื่อมวลชนว่า เครื่องจีที-200 เป็นเครื่องมือที่ใช้การไม่ได้จริง จึงเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐรับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจับกุมดังกล่าว
ไทยพับลิกา ระบุว่า ปี 2548-2553 หน่วยงานรัฐหลายแห่งได้จัดซื้ออุปกรณ์ จีที-200 และอัลฟ่า 6 ซึ่งเป็นอุปกรณ์คล้ายคลึงกันจากประเทศอังกฤษ รวม 1,398 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 4.26 แสนบาท - 1.38 ล้านบาท รวมมูลค่า 1,134 ล้านบาท โดยองค์กรที่จัดซื้อประกอบด้วย กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ, กรมราชองครักษ์, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, สถานีตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว, องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ และกรมศุลกากร
ต่อมาในปี 2552-2553 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้มีการตรวจสอบจีที-200 พบว่า ไม่มีประสิทธิภาพจริง ตัวเครื่องเป็นเพียงพลาสติกแข็งประกบกัน ไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถจับสัญญาณวัตถุระเบิดหรือสารเสพติดได้ และไม่มีตัวส่งสัญญาณสนามแม่เหล็ก เข็มทิศใช้ไม่ได้จริง เมมโมรีการ์ดเป็นกระดาษอัด นำมาสู่การดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
ในเดือนกรกฎาคม 2564 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจีที-200 และอัลฟา 6 จำนวน 20 สำนวน และยังทำการไต่สวนอยู่อีก 5 สำนวน โดยเมื่อ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล จะมีการส่งสำนวนคดีให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป
สำหรับ นายธีระ ถูกดำเนินคดีจากความผิดทั้งการจัดซื้อครั้งที่ 1 และ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พ.ร.บ. ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10, 12 และยังมีความผิดทางวินัย โดยจำเลยรายอื่น ๆ อีก 11 คนในคดีเดียวกัน ประกอบด้วยคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ คณะกรรมการตรวจรับ และเจ้าหน้าที่พัสดุ
ก่อนหน้านี้ ในเดือนกันยายน 2561 ศาลแขวงดอนเมืองได้พิพากษาจำคุก นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหาร บจก. เอวีเอ แซทคอม เป็นเวลา 9 ปี และปรับ 18,000 บาท ในความผิดฐานฉ้อโกง จากการจัดจำหน่ายเครื่องจีที-200 แก่กรมราชองครักษ์