แม่ทัพภาค 4 ยืนยันช่วยเหลือ รด. ที่ได้รับบาดเจ็บและครอบครัว
2022.12.05
ปัตตานี
แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยในวันจันทร์นี้ว่า พร้อมดูแลนักศึกษาวิชาทหารที่มีอาการกล้ามเนื้อสลาย-ไตวายเฉียบพลัน จากการฝึกหนักที่จังหวัดนราธิวาส หลังจากที่มีญาติของผู้ได้รับผลกระทบเรียกร้องให้กองทัพจ่ายค่าชดเชยรายได้ เนื่องจากต้องหยุดงานเพื่อมาเฝ้าลูก
ในสัปดาห์ที่แล้ว มีนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 จากศูนย์ย่อยวิชาทหาร โรงเรียนนราธิวาส ทยอยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ 18 นาย และโรงพยาบาลรือเสาะ 5 นาย รวมทั้งหมด 23 นาย หลังถูกฝึกวิชาทหารอย่างหนักในช่วงก่อนหน้านั้น
“จะดำเนินการทุกด้านโดยยึดประโยชน์ของนักศึกษาวิชาทหารเป็นสำคัญ พร้อมดูแลเต็มที่” พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาพภาคที่ 4 กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันจันทร์นี้ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดการช่วยเหลือ
เรื่องนักศึกษาวิชาทหารนี้ ถูกเปิดเผยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ซารีมัน มะยูโซะ ซึ่งระบุว่า “เรียน รด. ปี 1 นราธิวาส ฝึกจนเด็กเข้า รพ. หลายคน คุ้มมั้ย ตัวชี้วัดคุณไม่ผ่านนะ แบบนี้สาเหตุเกิดขึ้นได้จากการขาดน้ำอย่างรุนแรง มีภาวะกล้ามเนื้อสลาย ปัสสาวะสีน้ำตาลเข้มร้ายแรง พี่เลี้ยงประจำโรงเรียน ปิดสายรับโทรศัพท์”
จากข้อมูลของโรงพยาบาล พบว่า มี นศท. 6 นาย ที่อาการหนัก โดยมีอาการไตวายเฉียบพลัน ต้องล้างไตทุก 4 ชั่วโมง และบางนายยังติดโควิด-19 อีกด้วย
หลังข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พล.ต. ทวีพูล ริมสาคาร รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (รอง ผบช.นรด.) ได้เดินทางไปเยี่ยม นศท. ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
“เท่าที่ทราบคือมีครูฝึกท่านหนึ่ง ท่านไม่ได้มีเจตนาคิดอาฆาตมาดร้ายกับนักศึกษา เพียงแต่ว่าท่านตั้งใจในการฝึก ท่านก็อาจจะฝึกเกินกำลังของเด็กไปบ้าง ทางหน่วยฝึกวิชาทหารพอทราบประเด็นนี้ ก็มีการปรับย้ายครูคนนี้ไม่ให้รับผิดชอบตรงนี้แล้ว” พล.ต. ทวีพูล กล่าว
“การรักษานอกจากเด็กจะมีสิทธิบัตรทองหรือสิทธิที่เป็นลูกข้าราชการแล้ว ส่วนต่างจากค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทางหน่วยฝึกวิชาทหาร มทบ. 46 จะดูแลส่วนต่างทั้งหมด ในนามของกองทัพบกและกองทัพภาคที่ 4 ต้องขอโทษพ่อแม่พี่น้องและผู้ปกครองของนักศึกษาทุกท่าน ในส่วนของจุดบกพร่องผิดพลาดต่าง ๆ ทางกองทัพไม่ได้นิ่งนอนใจไปดูข้อบกพร่องต่าง ๆ” พล.ต. ทวีพูล กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายรอเซะ มะเก๊ะ ผู้ปกครองของหนึ่งใน นศท. ที่มีอาการป่วยจากการฝึก เปิดเผยว่าตนเองต้องขาดรายได้จากการที่ต้องมาเฝ้าลูกชาย
“ตอนนี้แพทย์บอกว่ายังไม่รู้ว่าทั้ง 6 คน จะรักษานานเท่าไร เพราะฉะนั้นที่ผู้ปกครองต้องการก็คือ ค่าใช้จ่ายแต่ละวันนั้นโดยส่วนใหญ่ต้องหยุดงานมาดูอาการลูกที่โรงพยาบาล แต่ต้องขาดรายได้ อยากที่จะให้ผู้รับผิดชอบช่วยเหลือ” นายรอเซะ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ นศท. หญิงนายหนึ่งที่ระบุว่า การฝึกที่ต้นเหตุไม่ได้หนักจนเกินไป ซึ่งคล้ายว่าเป็นการตอบโต้กระแสข่าวการป่วยของ นศท. 23 นาย กรณีนี้ทำให้เกิดความไม่พอใจในบรรดาผู้ปกครองของ นศท. ที่ป่วยจากการฝึก
“ทำไมให้ครูฝึกบังคับให้เด็กลงโซเซียล บังคับให้เด็กช่วยเผยแพร่ในคำพูดที่สัมภาษณ์เด็กคนนั้น ในเมื่อไฟมันดับแล้ว ราดน้ำมันทำไม ผู้ปกครองเขายอมกันหมดแล้ว เขาให้ค่าห้องพิเศษ ค่ายา เราไม่ขออะไรมาก ขอให้เขาจ่ายค่าห้องพิเศษให้ลูกเราดีขึ้นแล้ว แต่พอเด็ก (ผู้หญิง) นี้ออกมาพูดแบบนี้เท่ากับว่าโยนความผิดให้ลูกเรา” ผู้ปกครองรายหนึ่ง (สงวนชื่อและนามสกุล) กล่าว
ด้าน น.ส. ฟาตีเมาะ เจ๊ะเต๊ะ ซึ่งเป็นพี่สาวของ นศท. ที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า ตนอยากฝากให้ครูฝึกออกมาขอโทษในสิ่งที่ตนกระทำ หรือมาเยี่ยมอาการดูว่าเด็กเป็นอย่างไรบ้าง
ในเรื่องนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรียกร้องให้กองทัพดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใส หากมีการกระทำผิดต้องรับผิดชอบและให้การชดใช้เยียวยาแก่ผู้เสียหาย รวมถึงการเยียวยาทางกฎหมายและการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
ล่าสุด แพทย์ใหญ่กองทัพภาคที่ 4 ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มี นศท. ที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 2 ราย ทำให้เหลือรักษาตัวเพียง 21 ราย ในนั้นเป็นผู้ป่วยที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ 18 นาย และโรงพยาบาลรือเสาะ 3 นาย