การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ : ความหมดอาลัยและความหวัง

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขไทยและบีอาร์เอ็นเตรียมเจรจาสัปดาห์หน้า
มารียัม อัฮหมัด
2022.01.07
ปัตตานี
การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ : ความหมดอาลัยและความหวัง ทหารพรานตรวจสอบบุคคลที่ผ่านด่านตรวจในบ้านลาแป ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส อย่างเข้มงวด หลังเกิดเหตุคนร้ายยิงทหารพรานเสียชีวิตและบาดเจ็บ วันที่ 3 มกราคม 2565
มาตาฮารี อิสมะแอ/เบนาร์นิวส์

ชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในวันศุกร์นี้ว่า พวกเขามีความหวังน้อยมากต่อการที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และบีอาร์เอ็น จะพบปะเจรจาเต็มคณะอีกครั้งในสัปดาห์หน้า หลังว่างเว้นเกือบสองปี ขณะที่เจ้าหน้าที่เน้นย้ำว่าจะเป็นความก้าวหน้าอีกหนึ่งขั้น

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ และผู้แทนจากขบวนการบีอาร์เอ็น เตรียมการเจรจาแบบตัวต่อตัวกันอีกครั้งในประเทศมาเลเซีย หลังจากที่สองฝ่ายไม่ได้เจอหน้ากันมาเกือบสองปี เพราะการระบาดของโควิด-19 ซึ่งผู้แทนสองฝ่ายพบปะเต็มคณะ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 และพูดคุยทางออนไลน์ครั้งล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

พล.ท. ธิรา แดหวา รองแม่ทัพภาคที่ 4 และเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวกับเบนาร์นิวส์เมื่อวันพฤหัสบดีนี้ว่า ทั้งสองฝ่ายจะพบกันมาเลเซียในวันที่ 11 ถึง 12 มกราคม ศกนี้

“คณะฝั่งเรา 7 คน นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝั่งเขา 7 คน มีอุสตาซฮีพนี มะเร๊ะ และมีมาเลเป็นผู้อำนวยความสะดวก มีผู้สังเกตุการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาคณะนี้ได้คุยกันมา 2 ครั้ง เป็นการคุยแบบสร้างความไว้วางใจ” พล.ท. ธิรา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในพื้นที่ถึงแม้จะสนับสนุนการเจรจา แต่ก็ไม่มีความหวังอะไร

นางนุรมาน แวยูโซ๊ะ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เธอยังตะขิดตะขวงใจถึงผลการเจรจา เพราะ “ทั้งสองฝ่ายต่างสมประโยชน์”

“จะคุยเมื่อไหร่ ก็จะมีการสร้างสถานการณ์ สุดท้ายชาวบ้านอีกที่เดือดร้อน 18 ปี ปัญหาก็เกิดปกติ” นางนุรมาน กล่าว   

ในตอนเช้าของวันศุกร์นี้ เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ผู้ต้องสงสัยในขบวนการก่อความไม่สงบลอบวางระเบิดรถยนต์ทหาร ขณะที่แล่นไปบนถนนสาย 43 ในอำเภอหนองจิก ปัตตานี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 นาย นอกจากนั้น ยังมีสารวัตรกำนันถูกยิงเสียชีวิต ในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี อีกหนึ่งราย

ก่อนหน้านั้น ในวันจันทร์คนร้ายยิงทหารพรานเสียชีวิต 1 นาย และทำให้บาดเจ็บอีก 2 นาย ในการโจมตีด่านตรวจในพื้นที่อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส

หลังจากมีรายงานข่าวในวันที่ 23 ธันวาคม ปีที่แล้ว ว่าจะมีการเจรจาของสองฝ่ายอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ได้เกิดเหตุรุนแรงอย่างน้อย 15 ครั้ง รวมทั้งระเบิดป่วนเมืองต่อ 6 เป้าหมาย ในวันส่งท้ายปีเก่า  

จากฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นับจากการปะทุของสถานการณ์ครั้งใหม่เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,300 คน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564

oct13-hutae.jpg 

เจ้าหน้าที่นำศพนายซูเฟียน ยูโซ๊ะ หรือซุฟยาน ที่เสียชีวิตในการปะทะที่ป่าพรุฮูแตยือลอ ในอำเภอบาเจาะ ส่งชันสูตรศพที่โรงพยาบาลยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ก่อนส่งมอบให้ญาติทำพิธีตามหลักศาสนา วันที่ 13 ตุลาคม 2564 (เบนาร์นิวส์)

เป็นเพียงละคร

นางนุรมาน แวยูโซ๊ะ ได้บอกความรู้สึกว่าตนเองไม่มีความหวังในกระบวนการพูดคุยอีกต่อไป

“เมื่อก่อนก็หวังว่าจะสงบจะจบ แต่ทุกวันนี้ เวลาที่ผ่านไปทำให้ทุกคนเข้าใจทั้งหมดแล้วว่ามันคือผลประโยชน์ ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น 18 ปี ผลประโยชน์ลงตัวก็ร่วมกันทำมาหากิน” นางนุรมาน กล่าว 

กว่า 18 ปี ของความรุนแรง รัฐบาลไทยได้ใช้งบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการกวาดล้างขบวนการก่อความไม่สงบไปกว่า 300,000 ล้านบาท ตามตัวเลขของทางการ ซึ่งชาวบ้านบางส่วนเชื่อว่า งบประมาณเหล่านี้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก

นางกำจร อาแว อายุ 36 ปี ชาวบ้านในจังหวัดยะลา กล่าวว่า ตนเอง “ไม่อยากสนใจอะไรมาก”

“เรื่องของเขาจะคุยเมื่อไหร่ แค่ละคร ไม่สงบหรอกปัญหาที่นี่ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่อยากให้สงบ ทุกคนอยากที่ยังมีเหตุอยู่ เพราะงบประมาณยังลงมา อ้างพัฒนา อ้างงบลับ อ้างขบวนการ” นางกำจรกล่าว

ด้านอดีตแกนนำขบวนการที่วางมือไปแล้ว กล่าวว่าเขาไม่เชื่อในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขเช่นกัน

“การพูดคุยสันติสุข หรือจะเรียกการเจรจาก็คุยไปเจรจาไปเท่านั้น ส่วนความคืบหน้ากี่ปีแล้วที่ควรเกิด มันกลับล้มเหลว” อดีตแกนนำขบวนการที่ขอสงวนนามเพื่อความปลอดภัย กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“ทหารเพิ่งเรียกผมไปคุยเมื่อวานเอง ทุกครั้งที่ไปก็ไม่ได้คุยเรื่องที่จะแก้ปัญหาอะไร แล้วมันจะสงบยังไง ทหารยุคนี้ไม่จริงใจ ทำโครงการเบิกเงินท่าเดียว” เขากล่าวและระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตนไปพูดคุยโดยให้ค่าน้ำมันรถและไว้ใช้ “กินปีใหม่” คนละ 2,500 บาท จะเชิญชวนให้เสนอโครงการกิจกรรมให้เจ้าหน้าที่พิจารณาได้

การเจรจาเต็มคณะที่จะมีในคราวนี้ จะเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสองปี ซึ่งครั้งล่าสุดนั้นจัดขึ้นใน พ.ศ. 2563 ก่อนที่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง

“สองครั้งที่ผ่านมา เป็นการคุยแบบสร้างความไว้วางใจ คุยกันในต่างประเทศ เราไม่คุยภาษาไทย เราคุยแล้วแปล คุยแล้วกลุ่มที่ตะขิดตะขวงใจ ก็ขอเวลานอก เมื่อพร้อมก็คุยนัดเวลาคุยต่อ” พล.ท. ธิรา กล่าวและระบุว่าในช่วงที่เดินทางไม่ได้สองฝ่ายมีการพูดคุยผ่านทางซูม

“เขาขอให้ยกเลิกด่าน เราก็บอกว่ายกเลิกได้ก็ต่อเมื่อคุณไม่ก่อเหตุรุนแรง เพราะด่านเกิดขึ้นเพราะต้องการสกัดคุณ ถ้าคุณไม่ก่อเหตุด่านก็ไม่เกิด เราจะคุยไม่นอกเหนือไปจากนี้”  

th-thira.jpg

พลโท ธิรา แดหวา พบปะผู้นำศาสนาในงานเมาลิดนบี ในจังหวัดยะลา วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 (เบนาร์นิวส์)

จากเอกราชเป็นเขตปกครองพิเศษ

จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มการต่อต้านการก่อการร้าย ที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ โดย S. Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ มีเหตุรุนแรงในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 รวม 423 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 104 คน และบาดเจ็บ 169 คน ซึ่งใกล้เคียงกับสองปีก่อนหน้านั้น แต่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเกิดเหตุ 1,791 ครั้ง

รายงานระบุว่า นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนแสดงความต้องการอย่างเปิดเผยในการที่จะให้มี “กระบวนการสันติภาพที่ครอบคลุมทุกฝ่ายและให้มีทางออกทางการเมืองที่เป็นไปได้เพื่อการยุติความขัดแย้ง” และยังระบุถึง “การลดการปฏิบัติการด้วยทางทหาร” อันเป็นส่วนหนึ่งของสาระข้อเรียกร้องที่สำคัญ

รายงานดังกล่าวระบุว่า แหล่งข่าวรัฐบาลได้บอกว่าทางบีอาร์เอ็นได้ส่งข้อเสนอหยุดยิงในเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว

ดร. รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เขียนรายงานดังกล่าว กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า มีสาระสำคัญสามประการที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันคือ “การลดความรุนแรง, การหาทองออกด้วยวิถีทางการเมืองหรือการปกครอง, และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ”

“กระบวนการพูดคุยเป็นกระบวนการใช้เวลา เพราะฉะนั้นยังไม่ควรที่ใครจะคาดหวังผลลัพธ์ที่เป็นจริงเป็นจังในการเจรจาในครั้งแรก มีความเป็นไปได้ที่ต้องมีการประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาที่จะมีขึ้นอีกหลายรอบ” ดร. รุ่งรวี ระบุ

ดร. รุ่งรวี กล่าวในรายงานว่า บีอาร์เอ็น ได้เสนอให้จัดตั้งเขตปกครองพิเศษ ปาตานีดารุสสลาม ซึ่งประชาชนในปาตานีมีสิทธิในการเลือกระบบการศึกษาและเศรษฐกิจของตนเอง นอกจากนั้น ภาษามลายูและอัตลักษณ์มลายูต้องได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการและอนุรักษ์ไว้ 

“BRN เต็มใจที่จะพูดคุยหาทางออกทางการเมืองและทางด้านการปกครองในหลายรูปแบบ ดิฉันคิดว่าสมาชิกอาวุโสของบีอาร์เอ็นเข้าใจความเป็นจริงดีเพียงพอ และพร้อมที่จะเจรจาหาทางออกด้วยวิถีทางการเมืองโดยยอมที่จะไม่เรียกร้องเอกราช แต่เขาคงไม่ประกาศต่อสาธารณชนว่า เขาจะล้มเลิกการเรียกร้องเอกราช” รุ่งรวี กล่าว และระบุว่าเมื่อกระบวนการพูดคุยมีความคืบหน้าก็จะมีการเปิดเผยรายละเอียดในลำดับถัดไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง