พล.อ. วัลลภ : รัฐบาลใหม่สานต่อการเจรจาสันติสุขกับกลุ่มบีอาร์เอ็น

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.05.26
กรุงเทพฯ
พล.อ. วัลลภ : รัฐบาลใหม่สานต่อการเจรจาสันติสุขกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เด็กนักเรียนมุสลิมถือป้ายข้อความ "ยุติการใช้ความรุนแรง" ในระหว่างการชุมนุมต่อต้านความรุนแรงที่มีชาวมุสลิมและชาวไทยพุทธเข้าร่วม ในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562
เอเอฟพี

พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันว่าการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจะดำเนินต่อไป แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลในประเทศไทย และคาดหวังว่าจะสามารถบรรลุฉันทามติในการยุติความขัดแย้งอย่างถาวรได้ภายในปี 2567

พล.อ. วัลลภ กล่าวในงาน “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ : เสวนาคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ในช่วงบ่ายวันศุกร์นี้ว่า การพูดคุยฯ ในช่วงที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะสามารถลดเหตุรุนแรงในพื้นที่จากกว่าพันครั้งต่อปี เหลือเพียงร้อยกว่าครั้งในปี 2565 ที่ผ่านมา

โดยมีเป้าหมายในการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ให้แล้วเสร็จและส่งต่องานให้กับรัฐบาลชุดใหม่

“รัฐบาลได้กำหนดให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้น ในระดับนโยบายเรื่องการพูดคุยก็จะมีความต่อเนื่องตลอด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดมารับผิดชอบก็ตาม” พล.อ. วัลลภ กล่าว

“กำหนดกรอบเวลาในการทำงาน ปี 66 ถึง ปี 67 ทั้งสองฝ่ายคาดหวังว่าภายในเดือนธันวาคม 67 จะสามารถบรรลุฉันทามติในการยุติความขัดแย้ง และนำข้อสรุปที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวไปสู่การจัดทำข้อตกลงสันติสุข อย่างถาวรต่อไป” พล.อ. วัลลภ กล่าว และระบุว่า

ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การส่งต่อการพูดคุยสันติสุขไปให้กับรัฐบาลใหม่

พล.อ. วัลลภ กล่าวอีกว่า จะจัดทำ JCCP ทำให้การพูดคุยสันติสุขสามารถดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่องไร้รอยต่อ และได้รับการพัฒนาต่อยอดจนเกิดสันติสุขที่ยั่งยืนในพื้นที่

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำการจัดตั้งรัฐบาล กล่าวที่สำนักงานเทศบาลบางเสาธง จ.สมุทรปราการ ว่าพรรคก้าวไกล มีแผนที่จะแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเปลี่ยนตัวคณะพูดคุยฯ จากอดีตทหารเป็นพลเรือน โดยในพรรคมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 20 อยู่แล้ว

ในการพูดคุยระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายไทย และบีอาร์เอ็น โดยมีผู้อำนวยความสะดวกเป็นมาเลเซีย เมื่อวันที่ ​​21-22 กุมภาพันธ์ 2566 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่าจะจัดทำรายละเอียด JCPP มุ่งเน้น 2 ประเด็นสำคัญคือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง

โดยคณะทำงานทางเทคนิคของทั้งสองฝ่าย จะได้หารือกันระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2566 เพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของ JCPP ให้เสร็จสิ้น และนำเสนอต่อการพูดคุยแบบเต็มคณะในเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเริ่มขั้นตอนปฏิบัติ

ขณะเดียวกัน นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า หลังจากนี้ จะมีการพูดคุยเรื่องสารัตถะให้มากขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมเสนอแนะในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการพูดคุย

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,500 ราย

รัฐบาลไทยและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่จัดตั้งคณะเจรจาในรูปแบบต่าง ๆ ได้เริ่มกระบวนการพูดคุย เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ต้องหยุดชะงักหลายครั้ง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงคณะพูดคุยของฝ่ายผู้เห็นต่าง รวมทั้งการระบาดของโควิด-19

ในต้นปี 2563 ขบวนการบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือนายฮีพนี มะเระ) ได้เจรจากับฝ่ายไทยโดยตรง จนกระทั่งในเดือนเมษายน ปี 2565 ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ที่จะดำเนินการหยุดยิงชั่วคราวในระหว่างการดำเนินการ “รอมฎอนเพื่อสันติสุข”

แต่เมื่อมาเลเซียมีการเลือกตั้งใหญ่ ทำให้การพูดคุยสันติสุขฯ ซึ่งแต่เดิมจะมีขึ้นในปลายปี 2565 ต้องหยุดชะงักไป ก่อนที่จะมีการกำหนดการพูดคุยสันติสุขฯ อีกครั้งในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง