คณะพูดคุยฯ : ข้อตกลงรอมฎอนสันติสุขช่วงแรกบรรลุผลสำเร็จ

มารียัม อัฮหมัด และมาตาฮารี อิสมาแอ
2022.05.03
ปัตตานี และนราธิวาส
คณะพูดคุยฯ : ข้อตกลงรอมฎอนสันติสุขช่วงแรกบรรลุผลสำเร็จ ชาวนราธิวาสสวมกอดขอขมากันในวันรายาอีฎิ้ลฟิตรี ที่สนามกีฬาเทศบาลเมือง จังหวัดนราธิวาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2565
มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์

พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงข่าวในเช้าวันอังคาร นี้ว่า การดำเนินการ "รอมฎอนสันติสุข" ช่วงแรกในระหว่างการถือศีลอด ตามข้อตกลงของคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย และขบวนการบีอาร์เอ็น ประสบความสำเร็จด้วยดี ซึ่งสองฝ่ายจะนำไปขยายผลต่อไป

พล.อ. วัลลภ กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเดือนแรกของความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข (Ramadan Peace Initiative) ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ถึง 14 พฤษภาคม 2565 ถือว่ามีผลเป็นที่น่าพอใจเพราะสามารถลดเหตุรุนแรงได้จริง โดยมีเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดทำให้ชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย และมีการจุดระเบิดสังหารทีมตำรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดได้รับบาดเจ็บ 3 นาย อีกหนึ่งลูก ซึ่งเป็นฝีมือของขบวนการพูโล

"ความรุนแรงที่เกิดจากกระบวนการแต่ไม่ได้เกิดจากกลุ่มบีอาร์เอ็น ดังนั้น ถือว่าข้อตกลงบนโต๊ะพูดคุยทั้งสองฝ่ายมีความตั้งใจ มุ่งมั่น พยายามทำงานร่วมกัน จนกระทั่งการเกิดเหตุมีความลดน้อยลง ถือว่าเป็นการทำงานร่วมกัน เป็นความสำเร็จของประชาชนในพื้นที่ที่ได้สัมผัสบรรยากาศแห่งความสงบสุข" พล.อ. วัลลภ ระบุ

ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข ซึ่งคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย และบีอาร์เอ็นตกลงกันเมื่อครั้งที่ได้พบปะในมาเลเซีย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ถึง 1 เมษายน ที่ผ่านมา นั้น มีข้อกำหนดโดยสรุป คือ รัฐบาลไทยจะอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบสามารถเดินทางกลับบ้านเพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวได้โดยไม่ถูกคุมตัวในช่วง 40 วันของห้วงเวลาการถือศีลอด และทั้งสองฝ่ายจะไม่ใช้กำลังปะทะกัน

เหตุการณ์ที่ พล.อ. วัลลภ ระบุ คือ เหตุคนร้ายลอบวางระเบิดในพื้นที่บ้านละหาร หมู่ที่ 8 ต.แป้น อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ในช่วงเวลาตีสามของวันที่ 15 เมษายน เป็นเหตุให้ชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย และมีการจุดระเบิดอีกหนึ่งลูกในช่วงเช้าอีกครั้ง ทำให้ทีมตำรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดได้รับบาดเจ็บ 3 นาย ซึ่งต่อมา นายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานองค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-MKP) ยอมรับว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของพูโล เพื่อเรียกร้องให้ คณะพูดคุยฯ เจรจากับพูโลและกลุ่มอื่น ๆ ด้วย มิใช่แต่กับบีอาร์เอ็นเพียงกลุ่มเดียว

“ในอนาคตอาจจะมีการพิจารณาใช้กลไกร่วม เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการยุติความรุนแรง ทั้งนี้จากการพูดคุยรอบล่าสุดที่ผ่านมา ได้มีการตกลงกันว่าจะมีการประชุมอีกครั้งในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม เพื่อประเมินสถานการณ์ที่จะปฏิบัติร่วมกันในห้วงที่ผ่านมา และร่วมขยายผลเพื่อสันติสุขต่อไป” พล.อ. วัลลภ ระบุ

ด้าน นายกัสตูรี แย้งว่าในห้วงที่ผ่านมายังมีเหตุความไม่สงบเกิดขึ้น ซึ่งคณะพูดคุยฯ ไม่ได้นับเหตุการณ์ยิง นายอามัดสุกรี ลาเต๊ะ อุสตาซสอนศาสนา โรงเรียนศานติธรรมวิทยา จ.ยะลา ที่ถูกยิงบาดเจ็บ และอีกรายคือ นายอับดุลมูตอเละ อาแว อุสตาซโรงเรียนกูแบบอยอ ในอำเภอหนองจิก ปัตตานี ถูกยิงเสียชีวิต

นอกจากนั้น นายกัสตูรีกล่าวว่า คณะพูดคุยฯ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มอื่น ๆ นอกจากบีอาร์เอ็นด้วย

“เรามองว่าต้องเอาทุกกลุ่มมาทบทวนตั้งเเต่เเรก ทุกฝ่ายต้องจริงใจ พูโลก็มีเส้นเวลาและกลยุทธ์ของตัวเอง พูโลเชื่อว่าวันหนึ่งจะแก้ไขปัญหาได้แน่นอน แต่ต้องใช้เวลา ทุกคนทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องต้องมีความอดทน ความเคารพในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่าล้อเลียนกลุ่มที่เกี่ยวข้อง กลุ่มเล็กก็มีบทบาทเช่นเดียวกับกลุ่มใหญ่” นายกัสตูรี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันอังคารนี้

ขณะที่ ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า โดยรวมสถานการณ์ช่วง 30 วันแรกของข้อริเริ่มรอมฎอนสันติสุข ถือว่าทำได้ดี อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์หลังจากนี้ เนื่องจากข้อตกลงกำหนดถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2565

“ถือเป็นสัญญานที่ดีที่คู่ขัดแย้ง คือ ฝ่ายรัฐบาล และขบวนการบีอาร์เอ็น มีความร่วมมือตกลงกัน ถึงแม้ไม่ได้ทำเป็นรูปธรรมในการติดตามผล แต่โดยรวมน่าเป็นสิ่งที่ดีและลดความรุนแรงได้ แม้มีเหตุเกิดขึ้นบ้างแต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ และไม่เกี่ยวกับคู่ขัดแย้งโดยตรง น่าจะเป็นตัวชี้ว่ารอมฎอนสันติสุขสามารถจะทำร่วมกันได้ ประชาชนเองก็ให้การสนับสนุน” ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าว

“รอมฎอนปีนี้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น บรรยากาศมีความคึกคัก มีชีวิตที่ดีขึ้นในแง่ของการออกไปปฏิบัติศาสนกิจ” ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายมูซอ อีซอ ชาวจังหวัดยะลา เห็นว่าหากทหารมองว่ารอมฎอนสันติสุขสร้างความสงบในพื้นที่ได้จริง ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

“ก็ถ้าเขาบอกสงบก็สงบ ถ้าเขาบอกพอใจก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนที่ทำให้ชาวบ้านมีความไม่สงบก็คือ สองกลุ่มนี้ ไม่ทหาร ก็ขบวนการฯ ที่ผ่านมาสองกลุ่มนี้ทำให้ชาวบ้านไม่สงบ และกลายเป็นแพะ” นายมูซอ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้บาดเจ็บกว่า 13,500 ราย ซึ่งรัฐบาลไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันตั้งแต่ปี 2556

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง