20 ปีแห่งความสิ้นหวัง และบาดแผลของคนชายแดนใต้

มารียัม อัฮหมัด และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.01.04
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
20 ปีแห่งความสิ้นหวัง และบาดแผลของคนชายแดนใต้ เด็กนักเรียนเข้าเยี่ยมชมมัสยิดกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี วันที่ 25 ธันวาคม 2561
ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์

นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่คนร้ายบุกเผาโรงเรียน 20 แห่ง และปล้นปืน 413 กระบอก จากคลังแสงของกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์(ค่ายปิเหล็ง) จังหวัดนราธิวาสในช่วงดึกของวันที่ 4 มกราคม 2547 ถึงปัจจุบัน ผ่านเวลามาแล้ว 20 ปี ไฟที่ลุกโชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่เคยดับมอดลง

ชาวบ้าน ครอบครัวผู้สูญเสีย หรือแม้กระทั่งสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบ พวกเขายังมีความเชื่อเหมือนกันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ปลายด้ามขวาน ไม่มีทางจบลงง่ายๆ เช่นเดียวกับนักสิทธิมนุษยชนที่มองว่า ความต้องการของกลุ่มขบวนการฯ คือเอกราช หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นเขตปกครองพิเศษ ดังนั้น การยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า หรือการถอนกำลังทหารก็จะไม่ช่วยแก้ปัญหา

“หลายปีที่ผ่านมา มีสมาชิกครอบครัวของผม 7 คน ที่ถูกยิง ถูกระเบิด แต่ตัวผมเองก็ยังเป็นผู้ต้องสงสัย ทั้งที่ความจริงเราเป็นผู้สูญเสีย มันโหดร้ายมากนะ ทุกวันนี้ ผมก็ทำอะไรมากไม่ได้ นอกจากพยายามใช้ชีวิตปกติ กรีดยาง ขายของ แล้วก็อยู่ให้ห่างจากเจ้าหน้าที่” อิมรอน ยูโซ๊ะ ชาวจังหวัดยะลา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

เหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ถูกนับเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ ระหว่างปี 2547-2553 รัฐบาลเลือกที่จะใช้แนวทางความมั่นคงแก้ปัญหา ด้วยการส่งทหาร ตำรวจ รวมถึงอาสาสมัครรักษาดินแดน(อส.) กว่า 75,000 นายไปปฏิบัติการในพื้นที่

ในปี 2566 แม้จะมีการลดจำนวนกำลังพล แต่ก็ยังเหลือเจ้าหน้าที่กว่า 5 หมื่นนาย ตามวิธีคิดของฝ่ายรัฐ การมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากอาจป้องกันปัญหาได้ แต่ในมุมมองของคนพื้นที่ การใช้ทหาร-ตำรวจ จำนวนมาก ก็สร้างความไม่น่าไว้ใจด้วยเช่นกัน 

“เชื่อว่า ปีหน้า ครบรอบ 21 ปี ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะชาวบ้านยังสูญเสีย ยังถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ ผมไม่มีความหวังกับการพูดคุย เพราะเห็นแล้วว่า ทุกๆครั้ง ไม่มีอะไรที่จับต้องได้เลย แต่ก็อยากให้ทำต่อไป เผื่อสักวันจะมีความหวังบ้าง” อิมรอน กล่าว

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ระบุว่า ตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง ถึงเดือนสิงหาคม 2566 มีเหตุความไม่สงบกว่า 9.65 พันครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 5.86 พันคน และบาดเจ็บอีกกว่า 1.26 หมื่นคน ในปี 2556 รัฐบาลได้เริ่มใช้ “การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพื่อแก้ปัญหา แต่ผ่านมาแล้ว 11 ปี คนชายแดนใต้ก็ยังไม่เคยได้พบกับสันติสุขตามชื่อที่รัฐบาลตั้ง

“เจ้าหน้าที่ทำร้ายเพื่อนเรา ความเจ็บปวดนี้ เราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากร่วมขบวนการเพื่อแก้แค้น แต่เรายังไม่ทันทำอะไร คนที่ทำร้ายเพื่อนเราก็กรรมตามสนอง รถคว่ำตาย ตอนนี้เราไม่ได้ก่อเหตุแล้ว แต่ก็ยังอยู่แบบไม่มีความสุข เพราะเจ้าหน้าที่สงสัยทุกคน และมองทุกคนเป็นฝ่ายตรงข้าม แบบนี้ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ เพราะถ้าแก้ได้ ก็คงไม่ต้องรอถึง 20 ปี” มะ(สงวนนามสกุล) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดน กล่าว

Deep South14.jpg

บรรยากาศบริเวณถนนเลียบชายหาดระหว่างเส้นทาง อ.ปานะเระไปยัง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี วันที่ 25 ธันวาคม 2561 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

ก่อนการเลือกตั้ง พฤษภาคม 2566 มีข้อเสนอจากคนในพื้นที่ให้รัฐบาลใช้พลเรือนในกระบวนการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้, ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่, รวมทั้ง ยุบ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เพราะเห็นว่า มีภาระงานซ้ำซ้อนกับหน่วยที่มีอยู่แล้ว และไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง 

ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ซึ่งนับเป็นพลเรือนคนแรกที่ได้ทำหน้าที่นี้ เพื่อเจรจากับ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani- BRN) ที่นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือฮีพนี มะเระ) ซึ่งมาเลเซียทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยฯ 

อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักสิทธิมนุษยชนผู้ก่อตั้ง “กลุ่มด้วยใจ” หลังจากที่น้องเขยซึ่งเป็นเพียงพนักงานร้านล้างรถธรรมดาถูกคุมขังเป็นเวลาร่วม 2 ปี ด้วยข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และฆ่าคนตาย ก่อนที่สุดท้ายศาลจะตัดสินว่า เขาไม่มีความผิด กรณีดังกล่าวทำให้เธอตระหนักว่า ชายแดนภาคใต้ไม่ใช่พื้นที่ปกติ

“รัฐต้องยอมรับก่อนว่าความรุนแรงมาจากทั้งรัฐ และขบวนการฯ ทั้งสองฝ่ายต้องเจรจากันเพื่อนำมาสู่ความเข้าใจ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และแสดงความเป็นมิตรกับประชาชนอย่างจริงใจ เชื่อว่า การถอนทหาร หรือยุบ กอ.รมน. จะไม่ช่วยให้ปัญหาหมดไป แต่สิ่งที่จะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคือ การเคารพสิทธิของประชาชน” อัญชนา กล่าว

แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ยุบ กอ.รมน. แต่นายกรัฐมนตรีก็ยืนยันว่า หน่วยงานนี้ไม่ควรถูกยุบ เพราะยังมีความจำเป็น ในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2567 รัฐบาลยังเสนองบประมาณ 6.65 พันล้านบาทในแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร่วม 400 ล้านบาท

“จากการพูดคุยกับชาวบ้าน เอกราชคือสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ แต่เขาก็เข้าใจว่ามันยังเป็นไปไม่ได้ในช่วงเวลานี้ สิ่งที่เขาต้องการที่สุดจึงเป็นเขตปกครองพิเศษ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม และเลือกผู้นำของตัวเองตามกลไกประชาธิปไตย เขาไม่อยากถูกควบคุมจากส่วนกลาง และอยากได้อิสระในความคิด การดำเนินการ การดูแลตัวเอง” อัญชนา ระบุ 

000_Hkg2895685.jpg

เด็กนักเรียนมุสลิมเดินผ่านทหารระหว่างการเดินกลับบ้าน ในอำเภอตากใบ ซึ่งภาพดังกล่าวกลายเป็นเรื่องปกติในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ นับตั้งแต่ความไม่สงบปะทุขึ้นในเดือนมกราคม 2547 ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552 (เอเอฟพี)

ในวาระครบรอบ 20 ปี ของความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่า ฝ่ายความมั่นคงมีความพร้อมที่จะมุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน

“ยืนยันได้เลยว่า ประเทศไทยไม่สามารถแบ่งแยกดินแดนได้ เพียงแต่เรามีความเป็นอยู่แบบพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากกว่า ในอนาคตข้างหน้าถ้าเกิดความสงบ ไม่มีการก่อเหตุ ไม่มีการใช้อาวุธ สถานการณ์ก็จะกลับไปสู่ระบอบปกติ ถึงแม้ว่าในพื้นที่จะมีพี่ประชาชนนับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก แต่ปัญหาคือเรื่องปากท้องมากที่สุด ซึ่งเรากำลังจะส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อยู่ดีกินดี” พล.ท. ศานติ กล่าว

ตั้งแต่ปี 2547 ฝ่ายความมั่นคงนับว่ามีบทบาทสำคัญในการเป็นเครื่องมือสำหรับการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล รัฐบาลได้ใช้กฎหมายพิเศษ เช่น  พ.ร.บ. อัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. กอ.รมน. เพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยกฎหมายพิเศษเหล่านี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยเพื่อการสอบสวนได้สะดวก และยาวนานกว่าอำนาจตามกฎหมายอาญาปกติ ทั้งยังไม่ต้องขอหมายศาลก่อนจับกุม 

อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติ (UN) ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน มีคนไทยถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 77 คน ซึ่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2547 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มีผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายแล้วอย่างน้อย 31 คน และตั้งแต่ปี 2560 มีนักกิจกรรมอย่างน้อย 40 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีอาญา โดยในจำนวนนั้นบางคดี พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ก็เป็นผู้ฟ้องด้วยตัวเอง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง

ความคิดเห็น

nana
Jan 21, 2024 08:58 PM

ต้องดูเหตุและผล ของส่วนรวม ไม่ใช่คนบุคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น และควรให้ทั้งบุคคลทั้งไทยพุทธ และไทยมุสลิม ที่มีความคิดเป็นกลาง ค่ะ