คนร้ายยิง อส. เสียชีวิต 2 นาย ที่ตากใบ นราธิวาส
2024.02.19
ปัตตานี และนราธิวาส
เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนโจมตีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เสียชีวิต 2 นาย ในพื้นที่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ขณะเดียวกันที่ อำเภอเจาะไอร้อง พบการพ่นสีสเปรย์บนถนน ข้อความ “เอกราช สันติภาพจงมี ปาตานี”
พ.ต.ท. มานพ หนูหอม พนักงานสอบสวน สภ.เจาะไอร้อง เปิดเผยว่า ในเวลา 08.30 น. พบการพ่นข้อความบนพื้นถนนเส้นเจาะไอร้อง-ไอร์ปาแย อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ใกล้โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา
“ขณะที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เจาะไอร้องปฎิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบได้สังเกตุเห็นการพ่นสีสเปรย์บริเวณถนนห่างจากโรงเรียนสัมพันธ์วิทยาประมาณ 80 เมตร โดยมีข้อความว่า "เอกราช สันติภาพจงมี ปาตานี" เจ้าหน้าที่ได้พ่นสีทับเพื่อลบข้อความ พร้อมเก็บหลักฐานส่งตรวจสอบแล้ว” พ.ต.ท. มานพ กล่าว
ต่อมาในเวลา 08.40 น. วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ตากใบ ระบุว่า เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงโจมตีใส่เจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติภารกิจรักษาความปลอดภัยครู บน ถ.คลองชลประทาน บ.โคกยาง ม.5 ต.พร่อน อ.ตากใบ
“คนร้าย 6 คน ใช้รถจักรยานยนต์ 2 คัน ใช้อาวุธปืน ประกบยิงเจ้าหน้าที่ อส. ชุดคุ้มครองตำบลพร่อน เสียชีวิต 2 นาย ทราบชื่อคือ 1. อส. สนธิยา ไชยสิทธิ์ 2. อส. อมร ทองบุญ เหตุเกิดขณะที่ทั้งคู่ทำการรักษาความปลอดภัยครู เชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่” เจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุ
สภาพที่เกิดเหตุหลังคนร้ายประกบยิงเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ประจำอำเภอตากใบ เสียชีวิตจำนวน 2 นาย ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบพื้นที่ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 (เจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอตากใบ)
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เพิ่งเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์ อส. บนถนน 4217 ช่วงบริเวณบ้านกูมุง ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย และเสียชีวิต 2 นาย สองวันให้หลัง เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด บริเวณสะพานแซะโมะ บ.แซะโมะ ม.4 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
เหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายไทยได้หารือกับ ตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ในประเทศมาเลเซีย โดยหลังการหารือ ฝ่ายไทยระบุว่า ได้วางแผนปลดประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ลดการปิดล้อม และตั้งด่านตรวจ ช่วงเดือนรอมฎอน และสงกรานต์
“โดยสรุป ทั้งสองฝ่ายพอใจกับผลของการพูดคุยฯ เป็นอย่างมาก” พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยฯ เปิดเผยหลังการหารือ
เป้าหมายในปี 2567 ของการพูดคุยคือ ทั้งสองฝ่ายรับรอง แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม เป็นแนวทางที่คณะพูดคุยสันติสุขฯ (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ซึ่งฝ่ายไทยใช้เป็นแนวทางในการพูดคุยมาตั้งแต่ปี 2566 มีแนวทางหลัก 3 ข้อคือ 1.การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่ ข้อตกลงสันติสุขร่วมกัน
ต่อการพูดคุยที่เกิดขึ้น นางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวกับเบนานิวส์ว่า ความไม่สงบในพื้นที่นราธิวาสและปัตตานีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และการฟ้องปิดปากนักกิจกรรม เป็นไปในทิศทางที่ย้อนแย้งจากสิ่งที่คณะพูดคุยคุยฯ ได้พยายามเจรจราเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์
“ต้องจับตาในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งจะมีการพูดคุยรายละเอียดของ JCPP ซึ่งคาดว่าทั้งสองฝ่ายก็ต้องการ แสดงให้เห็นว่าตนเองมีศักยภาพอะไรบ้าง อาจมีเรื่องที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่การปฏิเสธการคุยกลายๆ อีกด้วย” นางสาวอัญชนา ระบุ
นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ช่วงเวลาเวลา 11.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี รับแจ้งเหตุ คนร้ายยิงชาวบ้านบริเวณ สนามแข่งนกกรงหัวจุก หมู่ 2 ต.ตาแกะ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
ภายหลังการนำกำลังเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ พบนายดือราแม มายอ ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ถูกนำส่งโรงพยาบาลยะหริ่ง ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
“จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ นายดือราแม กำลังแข่งขันนกของตนเอง และในสนามแข่งได้มีคนร้ายจำนวน 3 คน เดินเข้ามาพร้อมอาวุธปืนพกสั้นจำนวน 3 กระบอก จ่อยิงบริเวณศีรษะจำนวนหลายนัด ก่อนหลบหนี" เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ยะหริ่ง ระบุ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสอบสวนและสืบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้ในปี 2565 คณะพูดคุยฯ เคยริเริ่มกำหนดช่วงหยุดยิง “รอมฎอนสันติสุข” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน โดยรัฐบาลไทยจะอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบสามารถเดินทางกลับบ้านเพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวได้ โดยไม่ถูกคุมตัวในช่วง 40 วัน ของห้วงเวลาการถือศีลอด และทั้งสองฝ่ายจะไม่ใช้กำลังปะทะกัน ซึ่งฝ่ายไทยเปิดเผยว่า รูปแบบการปฏิบัติดังกล่าวประสบความสำเร็จดี เพราะลดเหตุรุนแรงได้
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย
เฉพาะปี 2567 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นแล้วจำนวน 11 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย แยกเป็นประชาชน 3 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 10 ราย และมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด จำนวน 18 ราย
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน