ชาวบ้านตากใบถูกยิงเสียชีวิต ขณะผู้อำนวยความสะดวกฯ เยือนชายแดนใต้
2023.03.02
ปัตตานี
ในวันพฤหัสบดีนี้ คนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงประชาชน ในอำเภอตากใบ เสียชีวิต 1 ราย และกลุ่มก่อความไม่สงบได้โจมตีฐานของเจ้าหน้าที่ทหารพรานด้วยปืนและระเบิด ในอำเภอศรีสาคร นราธิวาส แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งทั้งสองเหตุเกิดขึ้นในเวลาที่ พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ของมาเลเซียคนใหม่ เดินทางเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อเวลาประมาณ 02.50 น. คนร้ายไม่ทราบกลุ่มและจำนวนใช้อาวุธปืนลอบยิง นายยาการียา ลาเต๊ะ อายุ 32 ปี เสียชีวิตที่หน้าบ้านในพื้นที่ บ.จาแบปะ ม.7 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
“จากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่พบบาดแผลบริเวณหน้าอกของผู้เสียชีวิต จำนวน 2 นัด และที่ศีรษะ จำนวน 2 นัด ส่วนสาเหตุประเด็นและสาเหตุ อยู่ระหว่างสอบสวน” ร.ต.ท. ฟาฮาน เนตรไมตรี รองสารวัตรสอบสวน สภ.ตากใบ กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ในเวลา 08.10 น. วันเดียวกัน ร.ต.อ. สุรชัย พันหล่อมโส รองสารวัตรสอบสวน สภ.ศรีสาคร เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งเหตุคนร้ายโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 4906 ซึ่งตั้งอยู่บ้านไอร์กาแซ ม.6 ต.ศรีสาคร โดยคนร้ายไม่ทราบจำนวนแฝงตัวจากสวนยางพาราและสวนผลไม้ตรงข้ามฐานใช้อาวุธปืนระดมยิงใส่ฐาน เจ้าหน้าที่จึงยิงตอบโต้กลุ่มคนร้ายนานกว่า 5 นาที
“หลังจากนั้น คนร้ายได้ใช้ไปป์บอมบ์ขว้างใส่ฐาน แต่ระเบิดติดที่ผ้าสแลนกันแดด ระเบิดทำงาน 2 ลูก อีก 1 ลูกไม่ทำงาน จากนั้นกลุ่มคนร้ายเกรงเจ้าหน้าที่จะขอกำลังเข้าสนับสนุนจุดเกิดเหตุ จึงได้นำกำลังล่าถอยไป” ร.ต.อ. สุรชัย กล่าว และระบุว่า พบปลอกกระสุนปืนอาก้า และ เอ็ม. 16 จำนวน 25 ปลอก ตกอยู่ห่างจากฐาน 15 เมตร และพบรอยระเบิดรัศมี 30 เซนติเมตร 2 จุด ห่างกัน 3 เมตร
“เชื่อว่าเป็นฝีมือการกระทำของกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรง กลุ่มนายซุลกิฟรี อาแว และพวกที่เคลื่อนไหวก่อเหตุร้ายในพื้นที่ศรีสาคร เมื่อวันที่ 20 มกราคม 66 ได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่เชิงเขาบ้านดาฮง หมู่ 4 ตำบลเชิงคีรี อำเภอศรีสาคร แต่สามารถหลบหนีเจ้าหน้าที่ไปได้ ” ร.ต.อ. สุรชัย กล่าวเพิ่มเติม
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,500 ราย รัฐบาลไทยและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่จัดตั้งคณะเจรจาในรูปแบบต่าง ๆ ได้เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ต้องหยุดชะงักหลายครั้ง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงคณะพูดคุยของฝ่ายผู้เห็นต่าง รวมทั้งการระบาดของโควิด-19
ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขเยือนชายแดนใต้
เหตุการณ์ทั้ง 2 ครั้งที่เกิดขึ้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ของมาเลเซียคนใหม่ เดินทางเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-3 มีนาคม 2566 โดยได้เข้าพบกับ พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อรับฟังการทำงานในการดูแลปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ในการพบกันวันนี้ ถือว่าเป็นจุดหนึ่ง จุดเริ่มที่เราได้เห็นแสงสว่างทางปลายอุโมงค์ ผมคิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด ณ ปัจจุบันนี้ ซึ่งก็ตรงกับนโยบายผมก่อนจะมาเป็นแม่ทัพนั้นว่า ผมต้องการพูดคุยให้มาก เขาบอกว่าเขาตั้งใจที่จะมาทำงานในหน้าที่นี้ แต่เป็นการที่ยากลำบากมาก เพราะว่าการพูดคุยเกิดมานานหลายปีก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร” พล.ท. ศานติ กล่าวในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ต่อมา พล.อ. ซุลกิฟลี ได้เดินทางไปบรรยาย ในงานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ปาตานี ครั้งที่ 4 "Pa(t)tani Peace Assembly 2023 : Peace Market Place : ตลาดนัดสันติภาพ” ณ คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยระบุว่า ความรู้ที่ตนมีในฐานะนักวิชาการด้านความขัดแย้งน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
“แม้ผมจะเป็นทหาร แต่จิตใจและความสนใจผมใกล้ชิดโลกวิชาการ ทั้งยังปฏิบัติหน้าที่เป็นนักวิชาการ และสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เรื่องสงครามและความขัดแย้ง การได้ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกนอกจากเป็นเกียรติแล้ว ยังเป็นโอกาสทองที่จะได้นำทฤษฎีมาใช้ในสถานการณ์จริง” พล.อ. ซุลกิฟลี กล่าว
พล.อ. ซุลกิฟลี ให้ข้อคิดว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเห็นด้วยและยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งประเภทไหนก็ตาม ไม่อาจจะสำเร็จด้วยการใช้ความรุนแรง
“สุภาษิตภาษามลายูบอกว่า "Menang jadi arang, kalah jadi abu” พล.อ. ซุลกิฟลี กล่าวถึงสุภาษิตที่มีความหมายในภาษาไทยว่า ชนะก็เป็นถ่าน ชนะก็เป็นเถ้า
เมื่อต้นปี 2563 ขบวนการบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือนายฮีพนี มะเระ) ได้เจรจากับฝ่ายไทยโดยตรง จนกระทั่งในเดือนเมษายน ปี 2565 ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ที่จะดำเนินการหยุดยิงชั่วคราวในระหว่างการดำเนินการ “รอมฎอนเพื่อสันติสุข” แต่เมื่อมาเลเซียมีการเลือกตั้งใหญ่ ทำให้การพูดคุยสันติสุขฯ ซึ่งแต่เดิมจะมีขึ้นในปลายปี 2565 ต้องหยุดชะงักอีกครั้ง
หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลมาเลเซียได้เปลี่ยนตัวหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกฯ จากนายอับดุล ราฮิม นูร์ เป็น พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดเกษียณอายุของมาเลเซีย และหลังจากนั้น ได้มีการกำหนดการพูดคุยสันติสุขฯ อีกครั้งในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2566 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
ในการพูดคุยครั้งล่าสุด ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกัน คือการวางแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) เน้น 2 ประเด็นสำคัญคือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน เพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยคณะทำงานทางเทคนิคของทั้งสองฝ่ายจะได้หารือกันระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2566 เพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของ JCPP ให้เสร็จสิ้นและนำเสนอต่อการพูดคุยแบบเต็มคณะในเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเริ่มขั้นตอนปฏิบัติ
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน