ชายแดนใต้ยังร้อน ก่อนรอมฎอนสันติสุข

มารียัม อัฮหมัด และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.03.11
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
ชายแดนใต้ยังร้อน ก่อนรอมฎอนสันติสุข เจ้าหน้าที่ สภ.ระแงะ จังหวัดนราธิวาส เข้าตรวจสอบเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงกองอาสารักษาดินแดน ตำบลบาโงสะโต เสียชีวิต บนถนนสายบ้านลูโบ๊ะบาตู วันที่ 9 มีนาคม 2567
สถานีตำรวจภูธรระแงะ

คนร้ายลอบขว้างระเบิดใส่ปั้มน้ำมันในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้ นายก อบต. น้ำดำ ตำรวจ และประชาชนได้รับบาดเจ็บรวม 5 ราย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยหากนับเฉพาะเดือนมีนาคม 2567 เกิดเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว 5 เหตุการณ์ ก่อนจะเข้าช่วงศีลอด ซึ่งฝ่ายความมั่นคงระบุว่า จะใช้มาตรการลดความรุนแรง “รอมฎอนสันติสุข” 

“คนร้ายไม่ทราบกลุ่มลอบขว้างไปป์บอม 2 ลูก ใส่ร้านกาแฟอเมซอนในปั้ม ปตท. หมู่ 6 บ้านนัดฆอมิต ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 5 ราย ในนั้นมี สอบรี เปาะซู นายก อบต.น้ำดำ และ พ.ต.ท. วีระวัฒน์ ดำรงกูล สวป.สภ.ทุ่งยางแดง รวมอยู่ด้วย” พ.ต.อ. อลัมต์ เมฆารัฐ ผกก. สภ.ทุ่งยางแดง กล่าว

สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บที่เหลือประกอบด้วย ส.ต.ต. อนิรุทธ์ เกาะกลาง ผบ.หมู่ สภ.ทุ่งยางแดง, นางซูรียานา ยูโซะ อายุ 34 ปี และ ด.ช.อัลยัส กะลาแต อายุ 2 ปี แรงระเบิดยังทำให้ภายในร้านได้รับความเสียหาย

“จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบว่า คนร้าย 4 คน ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ มาตามถนนสายชนบทหลังปั้ม แล้วคนที่ซ้อนท้ายได้เดินลงขว้างไปป์บอมข้ามกำแพงเข้ามาในร้าน” พ.ต.อ. อลัมต์ กล่าวเพิ่มเติม

เฉพาะต้นเดือนมีนาคม 2567 ฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า เกิดเหตุความไม่สงบ 5 ครั้ง รวมกรณีระเบิดปั้มน้ำมันที่ อ.ทุ่งยางแดง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 ราย และเสียชีวิต 1 ราย โดยช่วงดึกของวันที่ 7 มีนาคม คนร้ายใช้อาวุธยิงประชาชนได้รับบาดเจ็บ 1 ราย และรถจักรยานยนต์เสียหาย 3 คัน ในพื้นที่ ต.แม่ดง อ.แว้ง จ.นราธิวาส 

เช้าตรู่ของวันที่ 8 มีนาคม คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงประชาชนได้รับบาดเจ็บ 1 รายในพื้นที่ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา เช้าวันที่ 9 มีนาคม คนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิง เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน เสียชีวิต 1 นาย และภรรยาได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส 

ต่อมาช่วงบ่ายของวันเดียวกัน คนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ทหารพราน ในพื้นที่ ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 3 นาย

ขณะเดียวกัน พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน ภรรยาของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือน จ.ปัตตานี ในเช้าวันจันทร์นี้ โดยได้เยี่ยมชมการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชน วัฒนธรรม การท่องเที่ยว ชมผลิตภัณฑ์ผ้าท้องถิ่น และพบกับ พาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และข้าราชการในพื้นที่

“ลงพื้นที่ปัตตานี ครั้งแรกในชีวิต นับว่าอาจเป็นคู่สมรสคนแรกในรอบหลายสิบปีที่ลงพื้นที่ และดีใจที่ประชาชนมาต้อนรับ ลงมาครั้งนี้จะนำความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวไปเผยแพร่ต่อ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ปัตตานี มีความสวยงาม และคนในพื้นที่มีความน่ารัก ยืนยันว่า ทุกอย่างมีความสงบพอสมควร และถือว่ามีความปลอดภัย” พญ.พักตร์พิไล กล่าว

ขณะที่ ธิดาวดี ใจมน แม่ค้าใน จ.ปัตตานี ระบุว่า มีความหวังเล็ก ๆ ว่าสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้จะดีขึ้นช่วงถือศีลอด

“จำความได้ก็มีเหตุแบบนี้แล้ว เราเป็นชาวบ้านก็มีความหวังว่าจะสงบสุขบ้าง แต่ไม่รู้ว่าเป็นความหวังลอย ๆ หรือเปล่า แต่อย่างน้อยก็มองว่าปัจจุบัน สถานการณ์ดีกว่าเมื่อก่อน และอย่างน้อยก็คิดว่า มีหวังก็ยังดีกว่าไม่มีหวัง” ธิดาวดี กล่าว

เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นทั้งหมด มีขึ้นก่อนที่ผู้นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่เดือนแห่งการถือศีลอด ตามที่ นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ได้ประกาศว่า วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับวันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเริ่มแผน “รอมฎอนสันติสุข” ระหว่างช่วงเทศกาลถือศีลอดปีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายไทย ได้หารือกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย และระบุว่า ฝ่ายไทยจะทดลองปลดประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ลดการปิดล้อม และตั้งด่านตรวจ ช่วงเดือนรอมฎอน และสงกรานต์ โดยหากแนวทางนี้ประสบความสำเร็จ อาจมีการขยายการดำเนินการในอนาคต

สำหรับแผนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ซึ่งคณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายไทยใช้เป็นแนวทางในการพูดคุยมาตั้งแต่ปี 2566 มีแนวทางหลัก 3 ข้อ คือ 1. การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งฝ่ายไทยคาดหมายว่า บีอาร์เอ็นจะร่วมลงนามรับรอง JCPP ภายในปีนี้ และสามารถนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกันในอนาคต

พล.ท. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า การสร้างบรรยากาศที่ดีก่อนที่จะเข้าสู่ห้วงเดือนรอมฎอน ถือเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ทางคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ยื่นให้กับคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็นที่ผ่านมา จะดำเนินการไปจนถึงเสร็จสิ้นเทศกาลสงกรานต์เพื่อต้องการให้พี่น้องประชาชนทุกศาสนิก สามารถปฏิบัติภารกิจตามความคิดความเชื่ออัตลักษณ์ของทุกคนในทุกเทศกาลได้อย่างเต็มที่ 

ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม กรมราชทัณฑ์ ได้ย้ายผู้ต้องขังคดีความมั่นคง จังหวัดชายแดนภาคใต้ 34 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางบางขวาง ไปควบคุมตัวในเรือนจำตามภูมิลำเนา คือย้ายไปยังเรือนจำยะลา 3 ราย ปัตตานี 4 ราย นราธิวาส 7 ราย และสงขลา 20 ราย นับเป็นของขวัญก่อนเดือนรอมฎอน

ขณะที่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย  

ก่อนหน้านี้ในปี 2565 คณะพูดคุยฯ เคยริเริ่มกำหนดช่วงหยุดยิง “รอมฎอนสันติสุข” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน โดย รัฐบาลไทยจะอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบสามารถเดินทางกลับบ้านเพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวได้ โดยไม่ถูกคุมตัวในช่วง 40 วันของห้วงเวลาการถือศีลอด และทั้งสองฝ่ายจะไม่ใช้กำลังปะทะกัน

ภายหลัง คณะพูดคุยฯ แถลงว่า การดำเนินการดังกล่าวประสบความสำเร็จ เพราะสามารถลดเหตุความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวไม่ได้ถูกปฏิบัติในปี 2566

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง