เจ้าหน้าที่วิสามัญผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 2 ราย ที่ปัตตานีรับรอมฎอน

นักสิทธิชี้เหตุวิสามัญอาจกระทบความเชื่อมั่นต่อกองทัพช่วงเดือนรอมฎอน
มารียัม อัฮหมัด และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.03.14
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
เจ้าหน้าที่วิสามัญผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 2 ราย ที่ปัตตานีรับรอมฎอน เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมจังหวัดปัตตานี เข้าตรวจสอบบ้านของผู้ต้องสงสัยอีกครั้ง หลังเกิดการวิสามัญ วันที่ 14 มีนาคม 2567
เจ้าหน้าที่ตำรวจ

เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วม จังหวัดปัตตานี ประมาณ 50 นาย เข้าปิดล้อมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความมั่นคงในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่ได้วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาก่อความไม่สงบที่ซ่อนตัวในบ้าน 2 ราย ภายหลังการพยายามเจรจาแต่ไม่สำเร็จ และทั้งสองเปิดฉากยิงเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวในวันพฤหัสบดี

โดยนับเป็นเหตุวิสามัญผู้ต้องหาตามหมายจับครั้งแรก ในช่วงรอมฎอนสันติสุข 2567 

พ.อ. สฐิรพงษ์ อาจหาญ ผู้บังคับกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ได้สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจรวมแล้วประมาณ 50 นาย เข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้าน ในพื้นที่ ม.1 ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เนื่องจากมีเบาะแสว่าเป็นที่ซ่อนตัวของ นายอับดุลเลาะ และนายหมัดไซฟูดดีน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความมั่นคงหลายหมาย

“เจ้าหน้าที่ใช้การเจรจา สลับกับการให้ผู้นำท้องที่และผู้นำศาสนามาพูดคุย แต่คนร้ายที่ซ่อนตัวในบ้านได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงยิงตอบโต้ การปะทะเกิดขึ้นเป็นระยะ กระทั่งพบว่าคนร้ายเสียชีวิต 2 คน จากรายงานข่าวเชื่อว่า คนร้ายที่เสียชีวิตพยายามเคลื่อนไหวในพื้นที่ในช่วงรอมฎอน คาดว่าจะมีการก่อเหตุร้ายในพื้นที่” พ.อ. สฐิรพงษ์ กล่าว

ผู้เสียชีวิตคือ นายฮัมดี สะลอ ผู้ต้องหาตามหมายจับ 1 หมาย และนายราชิตร มะยูโซะ มีหมายจับ 2 หมาย หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะได้นำการตรวจสอบ และพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลต่อไป 

ต่อเหตุที่เกิดขึ้น พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการตั้งจุดตรวจ เส้นทางรอบฐานปฏิบัติการ และสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่หน่วยรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ ให้ทุกอำเภอเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนเป็นกรณีพิเศษ 

ด้านนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ และคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การที่เช้าวันที่ 3 ของเดือนรอมฎอนมีการปะทะและเสียชีวิต อาจทำให้ความเชื่อมั่นต่อนโยบายของกองทัพลดลง

“เรื่องนี้ส่งผลต่อกองทัพเองด้วยในการแสดงออกถึงความจริงใจในการตอบสนองต่อกระบวนการสันติภาพ ถึงแม้จะไม่มีประกาศจากทั้งสองฝ่ายว่าจะยุติปฎิบัติการทางทหารในเดือนรอมฎอนก็ตาม” นางสาวอัญชนา ระบุ

กรณีที่เกิดขึ้นนี้ เป็นห้วงเดียวกันกับเดือนแห่งการถือศีลอด ตามที่นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ได้ประกาศว่า วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 โดยเฉพาะต้นเดือนมีนาคม 2567 ก่อนช่วงรอมฎอน ฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า เกิดเหตุความไม่สงบ 5 ครั้ง รวมกรณีระเบิดปั๊มน้ำมันที่ อ.ทุ่งยางแดง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 ราย และเสียชีวิต 1 ราย 

ก่อนหน้านี้ ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า จะใช้แผน “รอมฎอนสันติสุข” ระหว่างช่วงเทศกาลถือศีลอดปีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายไทย ได้หารือกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย และระบุว่า ฝ่ายไทยจะทดลองปลดประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ลดการปิดล้อม และตั้งด่านตรวจ ช่วงเดือนรอมฎอน และสงกรานต์ โดยหากแนวทางนี้ประสบความสำเร็จ อาจมีการขยายการดำเนินการในอนาคต

สำหรับแผนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ซึ่งคณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายไทยใช้เป็นแนวทางในการพูดคุยมาตั้งแต่ปี 2566 มีแนวทางหลัก 3 ข้อ คือ 1. การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งฝ่ายไทยคาดหมายว่า บีอาร์เอ็นจะร่วมลงนามรับรอง JCPP ภายในปีนี้ และสามารถนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกันในอนาคต

พล.ท. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า “จากปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐไม่สามารถที่จะไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะถ้าเรา ไม่บังคับใช้กฎหมาย เราก็จะเป็นผู้ทำผิดเอง เหตุการณ์วันนี้เราได้ระมัดระวังอย่างมาก อยากให้เข้าใจว่าการต่อสู้ของผู้ก่อเหตุในพื้นที่ เขาเลือกจะต่อสู้จนตายและสุดท้ายเกิดวิสามัญ เราก็เสียใจไม่ต่างกัน”

ขณะที่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย  

ก่อนหน้านี้ในปี 2565 คณะพูดคุยฯ เคยริเริ่มกำหนดช่วงหยุดยิง “รอมฎอนสันติสุข” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน โดยรัฐบาลไทยจะอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบสามารถเดินทางกลับบ้าน เพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวได้ โดยไม่ถูกคุมตัวในช่วง 40 วัน ของห้วงเวลาการถือศีลอด และทั้งสองฝ่ายจะไม่ใช้กำลังปะทะกัน

ภายหลัง คณะพูดคุยฯ แถลงว่า การดำเนินการดังกล่าวประสบความสำเร็จ เพราะสามารถลดเหตุความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวไม่ได้ถูกปฏิบัติในปี 2566

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง