รอมฎอนชายแดนใต้ระอุ หลังคนร้ายเผา-ระเบิดกว่า 40 จุด ในสี่จังหวัด
2024.03.22
ปัตตานี
เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด-เผา ทรัพย์สินราชการ และเอกชนกว่า 40 จุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเหตุให้มีแรงงานชาวเมียนมาเสียชีวิต 1 ราย กลางดึกวันพฤหัสบดีต่อเนื่องวันศุกร์ที่ผ่านมา
แม่ทัพภาคที่ 4 เชื่อเป็นการก่อเหตุของแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบรุ่นใหม่ที่ต้องการทำลายโครงการรอมฎอนสันติสุข ด้าน นักสิทธิมนุษยชนเชื่อ เป็นความพยายามของบีอาร์เอ็นเพื่อตอบโต้เหตุวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง 2 รายในปัตตานี เมื่อ 14 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยในวันศุกร์นี้ว่า เหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ในช่วงกลางดึกที่ผ่านมาเป็นความพยายามสร้างสถานการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอน
“มีคนบางกลุ่มบิดเบือนว่า ก่อเหตุช่วงนี้จะได้บุญ คนร้ายสร้างสถานการณ์ครั้งนี้คาดว่าน่าจะเป็นการก่อกวนช่วงรอมฎอน ไม่ได้หวังในชีวิตของพี่น้องประชาชน เช่น ที่อำเภอโคกโพธิ์ ปัตตานี คนร้ายใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าไล่พนักงานก่อนจะวางเพลิง หรือจับเจ้าหน้าที่ รปภ. มัดไว้ แล้วก่อเหตุ มีเพียงแรงงานก่อสร้างปั๊มน้ำมันที่อำเภอมายอ รายเดียวที่ถูกสะเก็ดระเบิดเสียชีวิต” พล.ท. ศานติ กล่าว
“กลุ่มก่อเหตุน่าจะเป็นเยาวชนที่ไปฝึกจากต่างประเทศกลับมาสร้างสถานการณ์ เคยบอกแล้วว่า ช่วงรอมฎอนสันติสุข ไม่อยากให้เกิดเหตุ แต่บีอาร์เอ็นไม่สามารถควบคุมตรงนี้ได้ หลังจากนี้จะได้มีการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด และวางมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม” พล.ท. ศานติ ระบุ
ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวกับสื่อมวลชนว่า รู้สึกเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ และสั่งการให้ แม่ทัพภาคที่ 4 เร่งดูแลแล้ว โดย พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะรักษาราชการแทน ผบ.ตร. จะลงพื้นที่ทันที
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาคที่ 4 สรุปรายงานในวันนี้ พบเหตุความไม่สงบทั้งหมดอย่างน้อย 40 จุดใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดยะลา จำนวน 11 จุด จังหวัดปัตตานี จำนวน 20 จุด จังหวัดนราธิวาส จำนวน 7 จุด และ จังหวัดสงขลา จำนวน 2 จุด
เหตุความไม่สงบเกิดขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ 01.00 น. ของวันศุกร์ ในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง อ.จะแนะ อ.สุไหงปาดี อ.แว้ง อ.รือเสาะ และ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เป็นการวางเพลิงอาคารของเอกชน ทำลายทรัพย์สินของราชการ และกล้องวงจรปิด ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่มีการขับรถยนต์แหกด่านตรวจ ทำให้ตำรวจบาดเจ็บ 1 นาย
พื้นที่ อ.เมือง อ.ไม้แก่น อ.สายบุรี อ.ยะหริ่ง อ.ยะรัง อ.กะพ้อ อ.ทุ่งยางแดง อ.โคกโพธิ์ อ.มายอ และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีการวางระเบิด วางเพลิงเผาร้านสะดวกซื้อ อาคารเอกชน ทรัพย์สินราชการ เสาสัญญาณโทรศัพท์ และยางรถยนต์ มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นแรงงานผู้หญิงชาวเมียนมา ในพื้นที่ อ.มายอ
พื้นที่ อ.บันนังสตา อ.กาบัง อ.ธารโต อ.ยะหา อ.รามัน และ อ.เมือง จ.ยะลา มีการวางเพลิงเผาอาคารเอกชน ทรัพย์สินราชการ และเสาสัญญาณโทรศัพท์ มีการจับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมัด แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต
“ตีหนึ่งกว่าๆ ชาวบ้านร้องตะโกนว่า ไฟไหม้ๆ ไฟลุกจนน่ากลัว มีเสียงระเบิดจากกองไฟ แต่โชคดีไม่มีใครเป็นอะไร ชาวบ้านช่วยกันเอาของมีค่าออกมาจากจุดเกิดเหตุ ยังไม่รู้ว่าใครทำ แต่ชาวบ้านอาจเป็นแพะ เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุจะต้องมีชาวบ้านเป็นแพะรับบาป” นายอิสมาแอ(สงวนนามสกุล) ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ในพื้นที่ อ.บันนังสตา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
และ พื้นที่ อ.สะบ้าย้อย และ อ.เทพา จ.สงขลา มีการเผาเสาสัญญาณโทรศัพท์ แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต
ต่อกรณีที่เกิดขึ้น น.ส. อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ และกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่า เหตุที่เกิดขึ้นสะท้อนความเห็นที่ต่างกันของฝ่ายรัฐบาลไทย และกลุ่มก่อความไม่สงบ
“อาจมองได้ว่า เป็นการก่อเหตุในวาระครบรอบกรณีตากใบ ปี 2547 กับการตอบโต้การวิสามัญในวันที่ 14 มีนาคม สิ่งนี้สะท้อนว่า ต่างฝ่ายก็ไม่ยอมกัน ไม่มีความอดทนอดกลั้น ทหารมองว่า บีอาร์เอ็นจะใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นในเดือนรอมฎอน แต่ก็ไม่ได้มองว่าการบังคับใช้กฎหมายโดยมีการใช้ความรุนแรง คือ จุดเริ่มต้นของกรณีที่เกิดขึ้นนี้” น.ส. อัญชนา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วม จ.ปัตตานี ได้เข้าปิดล้อมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความมั่นคงในพื้นที่ อ.สายบุรี โดยได้มีการปะทะ และวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความไม่สงบ 2 ราย และจับกุมผู้ต้องสงสัยอีก 2 ราย ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่า ฝ่ายความมั่นคงไม่จริงใจที่จะยุติความรุนแรง
“ผู้ได้รับผลกระทบคือ ประชาชน สิ่งสำคัญคือ หลังจากนี้การเจรจาของทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงประชาชน JCPP ต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ ต้องให้ความเคารพกัน และแสดงให้เห็นถึงความจริงใจต่อกันของคู่เจรจา ซึ่งตอนนี้ประชาชนมองไม่เห็นความจริงใจนั้นจากทั้งสองฝ่าย” น.ส. อัญชนา กล่าว
กรณีที่เกิดขึ้นอยู่ในห้วงเดือนแห่งการถือศีลอด ตามที่นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ได้ประกาศว่า วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับวันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 ซึ่ง ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า จะใช้แผน “รอมฎอนสันติสุข” ที่เป็นแนวทางสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายไทย ได้หารือกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย และระบุว่า ฝ่ายไทยจะทดลองปลดประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ลดการปิดล้อม และตั้งด่านตรวจ ช่วงเดือนรอมฎอน และสงกรานต์ แต่ก็ยังมีเหตุวิสามัญฆาตกรรม
สำหรับแผนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) มีแนวทางหลัก 3 ข้อ คือ 1. การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งฝ่ายไทยคาดหมายว่า บีอาร์เอ็นจะร่วมลงนามรับรอง JCPP ภายในปีนี้ และสามารถนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกันในอนาคต
ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า ช่วงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ - 11 มีนาคม 2567 หรือหนึ่งเดือนก่อนเดือนรอมฎอน มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 13 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และบาดเจ็บ 9 ราย
ในปี 2565 คณะพูดคุยฯ เคยริเริ่มกำหนดช่วงหยุดยิง “รอมฎอนสันติสุข” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน โดยอนุญาตให้ผู้มีหมายจับคดีความมั่นคงเดินทางกลับบ้าน เพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวได้ โดยไม่ถูกคุมตัว ในห้วงเวลาการถือศีลอด และทั้งสองฝ่ายจะไม่ใช้กำลังปะทะกัน ซึ่งปีนั้น คณะพูดคุยฯ แถลงว่า แนวทางดังกล่าวประสบความสำเร็จ เพราะลดเหตุความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม รอมฎอนสันติสุขไม่ได้ถูกปฏิบัติในปี 2566
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย