ประชาชนชาวจะนะยึดพื้นที่ประท้วงโครงการอุตสาหกรรม หน้าทำเนียบฯ
2020.12.10
กรุงเทพฯ และปัตตานี
ในวันพฤหัสบดีนี้ กลุ่มประชาชนผู้ต่อต้านโครงการอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา รวม 50 คน ได้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร และประกาศชุมนุมค้างคืนที่ใกล้ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติการดำเนินการโครงการอุตสาหกรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีนักลงทุนจีนเข้ามาตั้งโรงงาน ซึ่งผู้ต่อต้านกล่าวว่า จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
ในตอนบ่ายของวันพฤหัสบดีนี้ ประชาชนชาวจะนะ นำโดยเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ชุมนุมที่สะพานชมัยมรุเชฐ ด้านทิศตะวันออกของทำเนียบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตู้คอนเทนเนอร์มากีดขวางไว้ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าใกล้ทำเนียบ
นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางกลุ่มมีข้อเรียกร้อง ดังนี้ คือ หนึ่ง รัฐบาลต้องยุติการดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด ทั้งการแก้ไขผังเมืองและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) ในทันที เพื่อหยุดมรดกอัปยศอันไม่ชอบธรรมที่ส่งต่อมาจากระบอบ คสช. และ สอง เมื่อยุติการเดินหน้าโครงการแล้ว ให้รัฐบาลจัดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจต่อแนวทาง และโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคใต้ต่อไป
“โครงการนี้จะกระทบสามตำบล คือ สะกอม ตลิ่งชัน นาทับ ชายหาดจะหายไปหมด ข่าวว่าจะมีการทำโครงการปิโตรเคมี ซึ่งชาวบ้านอาจจะได้รับผลกระทบ ข้อเรียกร้องคือ อยากให้ยุติโครงการ เพราะมันมีความไม่ชอบมาพากล แล้วก็ทำการศึกษาข้อมูลให้ละเอียด” นายสมบูรณ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“TPIPP กำลังจะเริ่มศึกษาอีไอเอ ในวันที่ 6 มกราคมแล้ว ชาวบ้านก็เลยต้องรีบมา ถ้าไม่มีการพูดคุย ชาวบ้านก็จะปักหลัก แล้วคนก็น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้คนมา 50 คน ถ้าไม่มีการคุยก็น่าจะมาอีก” นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติม
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้อนุมัติการริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อเป็น “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้” อีกแห่งหนึ่งจาก “สามเหลี่ยมมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาความไม่สงบในพื้นที่
จากนั้น เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 น.ส. รัชดา ธนสดิเรก รองโฆษกรัฐบาล แถลงว่า ที่ประชุม ครม. สัญจรได้อนุมัติในหลักการของแผนเร่งด่วนในการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ ซึ่งประกอบด้วย หนึ่ง ผังเมืองในตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน และตำบลนาทับ สอง โครงข่ายท้ารือน้ำลึก สงขลา สาม โครงข่ายการขนส่งทางบก สี่ โครงการพลังงานทางเลือก เช่น กังหันลม แสงอาทิตย์ และชีวมวล เป็นต้น โดยมีพื้นที่ 16,753 ไร่ มูลค่าการลงทุน 18,680 ล้านบาท
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า จะสามารถเริ่มโครงการดังกล่าวได้จริง ในปี พ.ศ. 2565
"ศอ.บต. ก็จะมาดูว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องพัฒนา เช่น ถนนหนทางหรือว่าระบบอะไรที่เป็นปัญหาของประชาชน ระบบปัญหาเบื้องต้นการทำมาหากิน เหล่านี้จะต้องแก้อะไรบ้าง ก็จะเข้าไปดูกระบวนการ สำหรับตัวโครงการจริง ๆ คาดว่าอีกปี 2 ปี ถึงจะเริ่ม โดย ศอ.บต. ทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนไม่มีอุปสรรคเท่านั้น" พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
“จริง ๆ แล้ว เราไม่อยากเห็นเหตุการณ์ความขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่เลย เพราะสิ่งที่ทำทั้งหมดไม่ใช่เพียงแค่คนจะนะ แต่ทำเพื่อคนภาคใต้ที่ไม่มีที่ยืน ฉะนั้นส่วนไหนที่ประชาชนกังวล ที่คัดค้าน ใครที่เกี่ยวข้องก็เดินไปหาทุกกลุ่ม เพื่อรับฟังว่ากังวลอะไรและจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง เพราะสิ่งที่อยากเห็นจริง ๆ ก็คือ ขอให้งานพัฒนาเพื่อหาที่ยืนให้กับพี่น้องประชาชนเดินหน้าต่อไปได้” พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติม
เชิญชวนนักลงทุนระบบรางรถไฟความเร็วสูงของจีน
ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า โครงการดังกล่าวริเริ่มโดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผนึกกำลังกับนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหาร บมจ. ทีพีไอ, บมจ. การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และ บมจ. ไออาร์พีซี โครงการดังกล่าว โดยคาดว่าจะสามารถดึงเงินลงทุนจากนักธุรกิจไทยและต่างชาติ ได้ราว 600,000 ล้านบาท
ประชาชาติธุรกิจได้รายงานอีกว่า นายประชัย ถือครองที่ดิน 7,000 ไร่ ได้นำไปเสนอไอเดียให้นายทุนจีน ซึ่งเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางสนใจมาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนระบบขนส่งทางราง มูลค่า 4 แสนล้านบาท ในลักษณะบริษัทร่วมลงทุนไทย-จีน เพื่อผลิตป้อนชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้กับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road)
ในเรื่องนี้ ได้ทำให้เกิดการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ที่มองว่า รัฐบาลเอื้อผลประโยชน์ต่อนายทุนที่สนับสนุนรัฐบาล และประเทศจีน
“ช่วงที่ผ่านมาบริษัท TPIPP กับ IRPC พยายามเข้ามากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่และพยายามปั่นราคา ถ้าพื้นที่นี้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม ก็จะถูกขายทอดตลาดให้กับนายทุน ซึ่งจีนเป็นประเทศมหาอำนาจมีทุนจำนวนมาก ก็พร้อมที่จะเข้ามาซื้อที่ ผมมั่นใจว่าที่ในอำเภอจะนะจะถูกขายให้กับนายทุนต่างชาติ ถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรในพื้นที่และทรัพยากรของประเทศไทยให้กับต่างชาติ เราจึงคัดค้านโครงการนี้” นายรุ่งเรือง ระหมันยะ หนึ่งในผู้ร่วมประท้วง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันพฤหัสบดีนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงานในพื้นที่ โดยได้ตั้งคำถามย้อนกลับ ถ้าไม่พัฒนาโครงการเช่นนี้แล้ว จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงานอย่างไร
“การพัฒนาในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาในอดีต จะทำให้ความเป็นอยู่ของเยาวชนรุ่นใหม่สามารถทำมาหากินต่อไปได้อย่างไร? คนรุ่นใหม่จะประกอบอาชีพหรือดำรงชีวิตแบบที่รุ่นพ่อแม่ทำได้หรือไม่? รายได้ที่มาจากภาคการเกษตรและประมงจะเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อดำรงสถานะทางเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ไว้ได้หรือไม่? การแก้ไขปัญหาคนว่างงานปีละกว่า 50,000 คน นักเรียน-นักศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองวุฒิการศึกษาจะเข้าสู่ระบบการทำงานได้อย่างไร อาทิ นักเรียน นักศึกษาไทยที่เดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ และไม่ได้รับการรับรองวุฒิ มีการคาดการณ์จำนวนมากกว่า 2 แสนคน และมีแนวโน้มที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น การอพยพย้ายถิ่นฐาน เพื่อการประกอบอาชีพของเยาวชนที่เดินทางไปประกอบอาชีพในต่างภูมิภาคของประเทศไทย และต่างประเทศ”