ตากใบ นราธิวาส คุมเข้มชายแดนสกัดแรงงานต่างชาติหลบหนีเข้าเมือง
2020.12.14
ปัตตานี และนราธิวาส
ในวันจันทร์นี้ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส กล่าวว่า ได้สนธิกำลังพร้อมด้วยฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายพลเรือน เพื่อการดำเนินอย่างต่อเนื่อง ในการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวที่เข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ลักลอบเข้ามายังประเทศ รวมทั้งแรงงานไทยในมาเลเซียที่กลับมา จนทำให้เกิดความวิตกว่าจะทำให้เกิดการระบาดของโรคโควิด
พล.ต.ไพศาล กล่าวว่า ทางหน่วยได้ร่วมมือกับ พ.ต.ท.เฮรามาน เจ๊ะดี รอง ผกก.ป.สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส นายชเนศร์ สือแม ปลัดอำเภอตากใบ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันติดตามและวางมาตรการสกัดกั้นการลักลอบข้ามแดนตามช่องทางธรรมชาติในเขตพื้นที่ อ.ตากใบ ซึ่งมีมากกว่า 70 จุด ตลอดแนวพรมแดน ระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร หลังจากเจ้าหน้าที่จับกุมกลุ่มแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยล่าสุด เมื่อสุดสัปดาห์ สามารถจับกุมตัวได้อีก 14 ราย
“เจ้าหน้าที่จับกุมกลุ่มแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง เช่น สัญชาติลาว เวียดนาม และกัมพูชา อย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการนำเชื้อโควิด-19 จากพื้นที่ประเทศมาเลเซียมาแพร่ระบาดในประเทศไทย” พล.ต.ไพศาล กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
นอกจากนั้น แนวชายแดนด้านอื่น ๆ เช่น ด้านอำเภอสุไหงโกลก อำเภอแว้ง จ.นราธิวาส ด้านอำเภอเบตง จ.ยะลา และ เขตแดนฝั่ง จังหวัดสงขลา ต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ นายชเนศร์ สือแม ปลัดอำเภอตากใบ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถจับตัวบุคคลต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม 7 คน และสัญชาติกัมพูชา 7 คน ดำเนินคดีตามกระบวนการและได้กักตัวดูอาการ 14 วัน ก่อนที่จะมีการผลักดันกลับประเทศต่อไป
พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส ยังได้กล่าวอีกว่า ได้ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเดินทางไปตรวจสอบช่องทางธรรมชาติดังกล่าว ซึ่งพบร่องรอยนายหน้า ได้นำเรือยนต์รับจ้างข้ามฟากไปรับ เพื่อข้ามแดนมายังประเทศไทย มีเรือยนต์รับจ้างข้ามฟากจอดเทียบท่ากว่า 10 ลำ แต่ไม่พบตัวเจ้าของเรือแต่อย่างใด โดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และพบว่า กลุ่มแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว มีรถยนต์ตู้มารับในช่วงคืน จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำลวดหนามหีบเพลงมาขึงตามช่องทางธรรมชาติทุกจุด ที่ ฉก.นราธิวาส จะเบิกให้การสนับสนุน พร้อมกำชับให้คุมเข้ม
“มีการจับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบข้ามแดนมาจากประเทศมาเลเซีย จากการสอบถามคนกลุ่มนี้ พบว่าเข้ามาทางช่องทางข้าม ซึ่งเป็นท่าข้ามในชุมชน จึงได้เดินทางมาหามาตรการป้องกัน” พล.ต.ไพศาล กล่าว
ด้านนายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก เปิดเผยว่า ตนมีความเป็นห่วงคนไทยที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากขณะนี้ประเทศมาเลเซียมีการตรวจสอบการแพร่ระบาดอย่างหนัก ทุกคนที่หลบหนีเล็ดลอดเข้าตามช่องทางธรรมชาติ ไม่ว่าใคร ตนจะจับกุมส่งดำเนินคดีทุกราย ส่วนผู้ต้องหารายนี้ ก็จะถูกจับส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดำเนินคดี และกักตัว 14 วันเพื่อดูอาการ ส่วนกรณีช่องทางธรรมชาติที่มีผู้เล็ดลอดเข้ามานั้น ก็จะให้ใช้ลวดหนามหีบเพลงไปขึงปิดท่าข้าม แถมเรือทุกลำที่จอดเทียบท่า ก็จะให้เจ้าของเรือนำขึ้นฝั่ง เพื่อป้องกันใช้เป็นพาหนะในการลักลอบนำคนมาฝั่งมาเลเซียเข้ามาฝั่งไทย ส่วนเจ้าของเรือที่ชาวมาเลเซียว่าจ้างมาส่งฝั่งไทยนั้น ตนจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปชี้ตัวที่ท่าเรือ หากตรวจสอบก็จะจับกุมดำเนินคดี แต่ถ้าหลบหนี ก็จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับต่อไป
ด้านเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามรายหนึ่ง ให้ข้อมูลกับเบนาร์นิวส์ว่า เจ้าหน้าที่พบคนไทยลักลอบข้ามแดนกลับมาจากมาเลเซียโดยหนีตรวจคัดกรองโควิดเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง จากสถิติของคนไทยในมาเลเซียเดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนถาวรในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงสุดสัปดาห์ มีผู้ที่ผ่านเข้ามาจากมาเลเซีย จำนวนทั้งหมด 86 คน เป็นผู้ที่ผ่านแดนโดยมีหลักฐานถูกต้องและเข้าสู่กระบวนการคัดกรองโควิด-19 จำนวน 84 คน และผ่านเข้าเมืองผิดกฎหมายจำนวน 2 คน
แยกตามจุดผ่านแดนถาวรทั้ง 5 แห่ง ดังนี้ 1. ด่านสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส มีผู้ผ่านแดนอย่างถูกต้องจำนวน 7 คน ส่วนผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายมี 1 คน 2. ด่านเบตง จ.ยะลา มีผู้ผ่านแดนอย่างถูกต้อง จำนวน 4 คน 3. ด่านสะเดา จ.สงขลา มีผู้ผ่านแดนอย่างถูกต้อง จำนวน 26 คน 4. ด่านวังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล มีผู้ผ่านแดนอย่างถูกต้องจำนวน 47 คน ส่วนผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายมี 1 คน 5. ด่านตำมะลัง ปิดด่าน ผลตรวจคัดกรองโรค ไม่พบผู้มีอาการเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค
ในส่วนข้อมูลจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมคงเดิม คือ 423 ราย มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรักษาหายแล้วรวม 417 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรักษา 1 ราย และผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย ส่วนเหตุการลักลอบข้ามแดนจากมาเลเซียเข้ามายังฝั่งไทย โดยไม่ผ่านการตรวจคัดกรองโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการเฝ้าระวัง
พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อพรก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 63
ในวันเดียวกันนี้ ที่ห้องประชุมวิจิตรวาทการ ตึกสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้รับทราบผลการปฏิบัติงาน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-12 พ.ย. 63 ซึ่งภาพรวมมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น เหตุการณ์การก่อเหตุร้าย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ด้านการข่าว พบว่า ผู้ก่อเหตุความรุนแรงยังมีศักยภาพในการปฏิบัติการ และยังมีสิ่งบอกเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงในรูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่ จึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องคงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปอีก ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบเรื่องที่ กอ.รมน.ภาค 4 จะดำเนินการ จัดทำแผน การปรับลดพื้นที่ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) รวมถึงการส่งเสริมให้มีการสร้างงาน สร้างอาชีพ แก่พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ด้วย