อำเภอเบตงมอบบัตรประชาชนแก่ชาวโอรัง อัสลี หรือ ซาไก 40 คน

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงห่วงใยชาวโอรัง อัสลี
มารียัม อัฮหมัด
2020.12.29
ปัตตานี
อำเภอเบตงมอบบัตรประชาชนแก่ชาวโอรัง อัสลี หรือ ซาไก 40 คน เจ้าหน้าที่อำเภอเบตงเตรียมถ่ายภาพชาวโอรัง อัสลี ที่คนไทยเรียกว่า ซาไก ระหว่างการทำบัตรประชาชน วันที่ 29 ธันวาคม 2563
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ ผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ออกบัตรประชาชนแก่กลุ่มชาติพันธุ์โอรัง อัสลี (ซาไกหรือมานิ) ที่พักอาศัยอยู่พื้นที่บ้านนากอ ต.อัยเยอร์เวง จังหวัดยะลา ซึ่งติดกับป่าฮาลาบาลา จำนวน 40 คน ให้ได้เป็นราษฎรไทยเต็มตัว และมีสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับพลเมืองไทยทุกคน

พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ ผอ.สำนักงานเลขานุการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วย น.ส.บุศริน เถาวัลย์ ปลัดอำเภอเบตง หัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนและบัตรอำเภอเบตง นำเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปที่บ่อน้ำร้อน บ้านนากอ หมู่ 9 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ใบหน้าและถ่ายรูปทำบัตรประชาชนที่ถึงเกณฑ์ทำบัตรประชาชน จำนวน 40 คน ทำให้มีสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน เข้าถึงสวัสดิการของรัฐ และสวัสดิการด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังมีเด็กอีก 14 คน ที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ทำบัตร

“ภายหลังได้รับบัตรประจำตัวประชาชนแล้วทาง ศอ.บต. จะดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยช่วยดูแลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ ให้นิคมสร้างตนเองจัดสรรที่ดินทำกินในแต่ละครัวเรือน หารือจัดหาอาชีพที่เหมาะสม ส่งเสริมการศึกษาบุตรหลานในกลุ่มโอรัง อัสลี ให้อ่านออกเขียนภาษาไทยได้ แต่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์และสอดคล้องความต้องการของกลุ่มฯ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ที่อาจตกเป็นเครื่องมือของผู้แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งประสงค์ให้ ศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลให้เป็นรูปธรรม” น.ส.บุศริน เถาวัลย์ ปลัดอำเภอเบตง หัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนและบัตรอำเภอเบตง กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

น.ส.บุศริน กลุ่มโอรัง อัสรี กลุ่มนี้ มีจำนวน 54 คน เป็นเด็กอายุไม่ถึง 6 ปี จำนวน 14 คน ผู้มีอายุมากสุด เป็นชายซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่ม มีอายุถึง 81 ปี ได้มาสร้างทับ หรือบ้านพักอาศัย ในพื้นที่บ้านนากอ หมู่ 9 นานแล้ว และไม่ได้อพยพไปไหน ทางอำเภอเบตง พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ลงพื้นที่ ร่วมกันในกระบวนการสอบสวน ซึ่งใช้เวลาถึง 3 เดือน ก่อนที่ทางอำเภอเบตงจะมีการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้กับกลุ่มโอรัง อัสรี กลุ่มนี้

ทั้งนี้ กลุ่มโอรัง อัสรี กลุ่มนี้เป็นญาติพี่น้องกันหมด จึงใช้นามสกุลว่า รักษ์ฮาลา ส่วนชื่อบางคนก็จะใช้ชื่อตามที่คนในกลุ่มเรียก บางคนก็ให้เจ้าหน้าที่ช่วยตั้งชื่อให้ หลังจากที่โอรัง อัสรี กลุ่มนี้ได้รับบัตรประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะได้รับสิทธิ์ต่าง ๆ ในการเป็นพลเมือง มีสิทธิในค่ารักษาพยาบาล การรับเงินค่าครองชีพตามรัฐบาลที่ให้ และเงินผู้สูงอายุ อีกมากมาย

“ดีใจมาก ที่ได้เป็นคนไทยได้รับสิทธิ์เหมือนคนไทยทุกคน ขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือพวกเรา ที่ช่วยทุกเรื่อง” นายนิสูปิน รักษ์ฮาลา หนึ่งในผู้ที่ได้รับบัตรประชาชน กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

จากข้อมูลของนายชุมศักดิ์ นรารัตน์วงค์ วิจัยชุมชน ที่ได้เข้าศึกษาวิถี โอรัง อัสลี หรือซาไก ตามแถบเขาสันกาลาคีรีแนวเขตไทย-มาเลเซีย พบว่าดินแดนของโอรัง อัสลี ในประวัติศาสตร์ มีความสัมพันธ์ผูกติดกับโลกมาลายู โอรัง อัสลี เป็นภาษามาลายู “โอรัง” แปลว่าคน “อัสลี” แปลว่าดั้งเดิม โอรัง อัสลี คือคนดั้งเดิมที่เป็นชาวบูกิตหรือชาวป่า ในจังหวัดยะลา และนราธิวาส มีประมาณ 6 กลุ่ม ฝั่งจังหวัดยะลา 3 กลุ่ม และนราธิวาส อีก 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีจำนวนสมาชิก 20-30 คน รวมทั้งหมดราว 200 คน

โอรัง อัสลี เป็นมนุษย์โบราณสันนิษฐานกันว่า มีมาตั้งแต่สมัยยุคหิน 1,500-10,000 ปี มาแล้ว ลักษณะเด่นคือรูปร่างเตี้ย ผิวดำ ฝีปากหนา ท้องป่อง น่องสั้นเรียว ผมหยิกเป็นก้นหอยติดศีรษะ ชาติพันธุ์นิกรอยด์ หรือ เนกริโต ตระกูลออสโตร–เอเชียติก อยู่กระจายกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ราว 7-60 คน ในรัฐเคดาห์ (ไทรบุรี) สหพันธรัฐมาเลเซีย พื้นที่ส่วนลึกของนิวกินี ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะอันดามัน เรียกตนเองว่า ‘มันนิ’ (Mani) ส่วนคนทั่วไปมักเรียกว่า เงาะป่า ซาแก โอรัง อัสลี หรือ กอย พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในป่า มีวิถีแบบพึ่งพิง ใช้ประโยชน์ป่าควบคู่กับดูแลรักษา เพราะที่นั่นคือบ้านของพวกเขา

สามจังหวัดชายแดนใต้เงาะป่า หรือโอรัง อัสลี ออกมาปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เช่น มารับจ้างทำสวนยาง เป็นแรงงาน สะท้อนให้เห็นว่าวิถีชีวิตเขาค่อย ๆ เปลี่ยนไป

ปัจจุบัน เรามักพบเห็นความแปลกแยกของโอรัง อัสลี หลาย ๆ กรณี เช่น การเอาโอรัง อัสลี ไปเร่แสดงตามงานต่าง ๆ กลายเป็นเหมือนละครสัตว์ หรือเอาเขาไปแสดงโชว์ให้คนเห็นเป็นของแปลก หรือให้เขาไปนั่งตามพื้น โดยไม่ให้เกียรติความเป็นมนุษย์ของพวกเขา และเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้าไปดูพวกเขาเยอะขึ้น

“สิ่งที่เรากลัวที่สุด คือ การเอามนุษย์มาเป็นสินค้า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก” นายชุมศักดิ์กล่าว

นายชุมศักดิ์ กล่าวอีกว่า มีกรณีตัวอย่างที่หมู่ 9 บ้านนากอ ตำบลอัยเยอร์เวง อำภอเบตง จังหวัดยะลา ตอนนี้รัฐกำลังเข้าไปทำบัญชียืนยันว่า โอรัง อัสลีกลุ่มนี้มีตัวตนในพื้นที่ เพื่อให้เขาได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นชุมชน นี่เป็นความเจตนาดีของรัฐอยากเข้าไปช่วยแต่ต้องศึกษากันต่อไป โอรัง อัสลี กลุ่มนี้ เริ่มปลูกมันปลูกพืช แต่ด้วยวิถีชีวิตที่ต้องย้ายไปเรื่อย ๆ เราไม่สามารถจะหยุดยั้งให้เขาอยู่ที่ใดที่หนึ่งได้ตลอดชีวิต เขาก็ต้องเข้าป่าไป เมื่อเขาเริ่มหาอาหารในป่ายาก เขาก็จะกลับมาอยู่ในหมู่บ้านนี้ต่อ

ส่วนกลุ่มโอรังอัสลีที่อาศัยกลางผืนป่าฮาลาบาลา อำเภอธารโต จังหวัดยะลา กลุ่มนี้เมื่อเขาได้รับความช่วยเหลือเยอะ ทุกวันนี้เขาก็เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิต เขาเริ่มกินยาสมัยใหม่ ต้องการเสื้อผ้าไปสวมใส่ จะออกมาอยู่ตามบริเวณตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อมาขอสิ่งของ พอได้เสื้อผ้า ได้ข้าวสาร เขาจึงออกมาข้างนอกมากขึ้น และด้วยความคุ้นชิน เมื่อได้รับข้าวสารแจกบ่อยครั้ง

ทั้งนี้ จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ทางสำนักงานฯ มีตัวเลขว่า จังหวัดสตูล ได้มีการให้บัตรประชาชนแก่ชาวมานิไปแล้ว 313 คน มีชาวมานิ ที่ดำรงชีพในป่าและได้เคลื่อนย้ายมามีปฏิสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่มากขึ้น ประมาณไม่ถึง 500 คน ในจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล ยะลา และนราธิวาส

ด้าน นายอับดุลอาซิซ ยานยา นายกสมาคมปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า ครั้งหนึ่ง ผู้นำศาสนาจังหวัดปัตตานี 100 กว่าคน นำทีมขบวนคาราวานกิจกรรมเผยแพร่อิสลามให้กับชาวโอรัง อัสลี หรือชาวเขาซาไก จำนวน 32 คน ในป่าลึก ในพื้นที่เขตตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ถือเป็นมิติใหม่สำหรับคนทำงานด้านศาสนา ซึ่งโครงการนี้เป็นงานส่งเสริมโดย พลตรีคมกฤช รัตนฉายา ผบ.ฉก.ปัตตานี ร่วมกันกับให้กับทีมงานอุลามะห์ ซึ่งมอบหมาย ให้ ร.ท.สยมภู หวังประโยชน์ ผช.หน.ฝกร.ฉก.ปัตตานี เข้าร่วมพร้อมอำนวยความสะดวกกับทีมคาราวาน นำสิ่งของอาหารแห้งกล่องปันสุข และปุ๋ยเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งมอบพันธุ์ไม้ เสื้อผ้าและคัมภีร์อัลกุรอ่าน พร้อมแนะนำและให้ความรู้การทำสวนพืชไร่ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อไปมอบให้นายอับดุลอาซิ อับดุลเลาะหัวหน้าเผ่า กลุ่มคนอัสลี (ซาไก) ได้ใช้ประโยชน์

นอกจากนี้ ยังวางแผนการช่วยเหลือในช่วงต่อไป คือ การร่วมกันจัดซื้อที่ดินวากัฟ อีกประมาณ 15 ไร่ ให้พี่น้องเผ่าโอรัง อัสลีและการประสาน ศอ.บต.ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ และยื่นขอทำบัตรประชาชน เพราะทราบข้อมูลมาว่ายังพี่น้องที่ตกหล่นและอยู่ในเขาลึกราว 200 คน ที่ยังใช้ชีวิตกระจายเป็นเผ่าๆ เร่ร่อนอยู่ในเขตภูเขาบูโด สุไหงปาดี รอยต่อชายแดนมาเลเซีย คาดว่าจะมีกิจกรรมครั้งต่อไปในปีหน้า

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง