เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยิงผู้ต้องหาในคดีฆ่าผู้อื่นเสียชีวิต 2 ราย ในปัตตานี
2021.06.21
ปัตตานี
ในวันจันทร์นี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ยิงผู้ต้องหาเสียชีวิต 2 ราย ในการยิงปะทะกันในระหว่างที่เจ้าหน้าที่พยายามเข้าการจับกุมตัวทั้งสองในรีสอร์ตแห่งหนึ่ง ในอำเภอยะหริ่ง ปัตตานี ซึ่งนายทหารระดับสูงระบุว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมในการยิงพ่อค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกและครอบครัวเสียชีวิต เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
พล.ต.คมกฤช รัตนฉายา ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ผู้เสียชีวิต คือ นายอัมรัน มาหิเละ อายุ 29 ปี และ นายอาดือเระ มันปุเตะ 32 ปี โดยทั้งสองเป็นบุคคลที่มีหมายจับในหลายคดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ติดตามมาระยะหนึ่ง ก่อนที่จะมีการเข้าจับกุมที่อาวาดารีสอร์ต ม.3 ต.ตะโละสะมิแล อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ในตอนเช้าของวันนี้
“ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการปิดล้อมและใช้การเจรจาให้มีการมอบตัว แต่คนร้ายไม่ยินยอม ทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่มาร่วมเจรจา แต่คนร้ายก็ใช้อาวุธปืนตอบโต้มาตลอดเป็นชั่วโมง เป็นเหตุให้คนร้ายเสียชีวิต 2 ราย” พล.ต.คมกฤช กล่าว
“ส่วนคนร้ายที่เสียชีวิตเป็นกลุ่มเดียวกันกับคนร้ายที่ก่อเหตุยิงแล้วเผาพ่อค้า 3 ศพ ซึ่งเป็นพ่อ ลูกสาว และหลานชาย เสียชีวิต ขณะเดินทางด้วยรถยนต์ไปขายของในพื้นที่ จ.นราธิวาส เหตุเกิดในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา และในอีกหลาย ๆ คดี และคนร้ายชุดนี้ ถือเป็นแนวร่วมคนสำคัญที่ทางเจ้าหน้าที่ต้องการตัว” พล.ต.คมกฤช กล่าวเพิ่มเติม
เจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ทหารและตำรวจหลายสิบนาย ได้ปิดล้อมคนร้ายที่พักอยู่ในอาคารไม้สองชั้น ในอาวาดารีสอร์ต ริมชายหาดตะโละกาโปร์ ตั้งแต่เวลาตีสามของวันจันทร์นี้ มีการยิงกันเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เข้าเคลียร์พื้นที่ได้ในเวลาสิบโมงเช้า
จากการตรวจสอบ ในที่เกิดเหตุพบอาวุธปืนพกสั้น 2 กระบอก และ ลูกระเบิดชนิดลูกเกลี้ยง 1 ลูก ทางเจ้าหน้าที่จึงได้เก็บเพื่อเป็นหลักฐาน
ทางด้านลุงของนายอัมรัน มาหิเละ หนึ่งในผู้เสียชีวิต ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อการเสียชีวิตของหลานชาย
“เขาหนีออกจากบ้านไปนานแล้ว เจ้าหน้าที่ติดตามเขาอยู่ ทางครอบครัวก็รับรู้ว่าเจ้าหน้าที่ติดตามเขา เพราะเจ้าหน้าที่มาที่บ้านบ่อย มาหาเขา แต่เขาก็ไม่ได้กลับนานแล้ว” ลุงของนายอัมรัน กล่าวโดยขอสงวนชื่อ-นามสกุล เพื่อความปลอดภัย
ส่วนชาวบ้านผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่ง กล่าวว่า เด็กกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ ต.ตะโละสะมิแล นานนับเดือนแล้ว จนกระทั่งมีการปิดล้อมและยิงปะทะกันขึ้น
“ไม่ต้องพูดถึงเสียงปืนเลย มันน่ากลัวมาก ยิงรัว ๆ คิดอยู่ว่าคนข้างในไม่รอดแน่ เพราะจะหนีทางไหนได้ อีกทางก็ทะเล อีกทางก็กระสุนปืน" ชาวบ้านรายดังกล่าว กล่าวกับเบนาร์นิวส์ โดยขอสงวนนามเพื่อความปลอดภัย
ในตอนค่ำ ทางครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้งสองราย ได้เดินทางมารับศพจากโรงพยาบาลยะหริ่ง จ.ปัตตานี เพื่อไปทำพิธีฝังแล้ว โดยทางครอบครัวของนายอัมรัน มาหิเละ ได้นำศพไปทำพิธีฝังที่กูโบร์โตะบาโด ในตำบลตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ส่วนศพของนายอาดือเระ มันปุเตะ นั้น ทางครอบครัวได้นำศพไปทำพิธีฝังที่กูโบร์บันนังลีมา บ้านบันคีรี อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
ในส่วนเรื่องราวการยิงครอบครัวพ่อค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมานี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า คนร้ายสี่รายได้ใช้จักรยานยนต์ติดตามรถกระบะบรรทุกสินค้าของ นายสุพร กิตติประภานันท์ อายุ 58 ปี บนถนนสายปัตตานี-นราธิวาส ในอำเภอสายบุรี ปัตตานี และกราดยิงรถกระบะ จนทำให้นายสุพร, นส.จิราภรณ์ กิตติประภานนท์ อายุ 26 ปี (ลูกสาว) และ นายสันติพัฒนา กิตติประภานันท์ อายุ 26 ปี (หลานของนายสุพร) เสียชีวิต
โดยคนร้ายยังได้เผาร่างไร้วิญญาณของนายสุพรในที่เกิดเหตุ จนไหม้เกรียมอีกด้วย และเจ้าหน้าที่ในยังพบปลอกกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. และขนาด 9 มม. ตกเกลื่อนกราดกว่า 30 ปลอก
ความขัดแย้งยังคง “คุกรุ่น”
ตามสถิติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลดลงเหลือ 6 เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม จาก 19 เหตุการณ์ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ระหว่างเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงทหารกับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำสุด นับตั้งแต่ปี 2547” ซาคารี อาบูซา ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในชายแดนภาคใต้ไทย ในกรุงวอชิงตัน กล่าวกับกับเบนาร์นิวส์
“เห็นได้ชัดว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบถูกปราบปรามอย่างหนัก การโจมตีพลเรือนก็เกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่บ่อยนัก นับเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ของการก่อความไม่สงบจำนวนสูงสุดที่เคยมี แต่ถ้ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนเริ่มปฏิบัติการโจมตี ก็มักจะเป็นการต่อสู้กับกองกำลังความมั่นคงไทย” อาบูซา อาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ทางอีเมล
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังคง “คุกรุ่น” เขากล่าว โดยอ้างว่ารัฐบาลไทยไม่ใส่ใจที่จะจัดการกับความขัดแย้งทางการเมืองที่นับเป็นสาเหตุใหญ่ของพื้นที่ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิม
การพูดคุยเพื่อสันติสุขแบบพบกันตัวต่อตัว ระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยและตัวแทนของบีอาร์เอ็นได้หยุดชะงักไปตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว เนื่องจากการระบาดใหญ่โควิด-19 แต่ทั้งสองฝ่ายกล่าวว่า พวกเขายังคงมีประชุมออนไลน์ในระดับเทคนิค โดยมีนายอับดุล ราฮิม นูร์ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย ได้ยืนยันกับเบนาร์นิวส์ในขณะนั้นว่า การประชุมผ่านทางออนไลน์ครั้งล่าสุด ได้จัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา