ราษฎรกว่าร้อยคนชุมนุมหน้าศาลอาญา ร้องปล่อยผู้ต้องขังคดีการเมือง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.04.29
กรุงเทพฯ
ราษฎรกว่าร้อยคนชุมนุมหน้าศาลอาญา ร้องปล่อยผู้ต้องขังคดีการเมือง นางสุรีรัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน พูดกับสื่อมวลชนหน้าศาลอาญา กรุงเทพฯ วันที่ 29 เมษายน 2564
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดีนี้ กลุ่มราษฎรได้จัดชุมนุมที่หน้าศาลอาญา เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังคดีการเมือง ซึ่งถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดี โดยในวันเดียวกันทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นขอประกันตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน พร้อมด้วยผู้ที่ถูกควบคุมตัวรายอื่นรวม 7 คน ด้วยวงเงิน 2 แสนบาทต่อคน อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวคนทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเหตุผลให้เปลี่ยนคำสั่ง

การชุมนุมเริ่มขึ้นในช่วงสายของวัน ที่บริเวณหน้าศาลอาญามีประชาชนเข้าร่วมเกือบหนึ่งร้อยคน มีการชูป้ายเรียกร้อง “ปล่อยเพื่อนเรา” ซึ่งหมายถึงผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี มีการใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยเรียกร้องให้ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และมีความพยายามที่จะยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 1 หมื่นคนที่เห็นด้วยกับการให้ประกันตัวจำเลยทั้งหมด

น.ส. เบญจา อะปัญ หนึ่งในผู้ปราศรัยในการชุมนุมที่หน้าศาลอาญา กล่าวว่า สิทธิการประกันตัวควรเป็นของทุกคน และนักกิจกรรมที่ถูกคุมตัวอยู่นั้นควรได้รับการประกันตัว

“หากศาลยังฟังอยู่ ยังมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่ ได้โปรดปล่อยเพื่อนของเราออกมา คืนสิทธิในการประกันตัวให้เพื่อนของเรา เพราะเขายังไม่ใช่ผู้ผิด คืนความเป็นมนุษย์ให้เพื่อนของเรา แค่นี้มันมากพอแล้ว” น.ส. เบญจา กล่าว

“ปล่อยเพื่อนของเราออกมาเถอะ พวกเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับคุณ นี่มันสูญสิ้นความเป็นคนกันแล้วหรือ พวกเขาทำอะไรผิด เขาไปฆ่าใครหรือ เขาไปทำลายใครหรือ สิ่งที่เพื่อนของเราได้ทำเพียงแค่อยากให้สังคมนี้มันดีขึ้่น ให้สถาบันกษัตริย์อยู่รอดได้ในสังคมยุคสมัยใหม่ เพื่อนเราไม่ใช่ภัยความมั่นคงต่อรัฐ เขาต่างเป็นมนุษย์ มีชีวิต จิตใจ หลายคนเป็นนักศึกษา เขาเป็นเพียงนักศึกษาอายุ 20 ต้น ๆ” น.ส. เบญจา กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่ นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง ปราศรัยว่า “ผมกราบเรียนด้วยหัวใจของผม ด้วยความเป็นมนุษย์คนหนี่ง ถ้าหากเพนกวิน รุ้ง ไมค์ อานนท์ หรือเพื่อนของเราหลายคนที่ถูกขังในขณะนี้ หากเขาคือบุตรหลานของท่านที่ท่านมั่นใจว่า พวกเขาพูดความจริงและปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ความรู้สึกของท่านจะเป็นยังท่านต้องเห็นประชาชนว่าต่องมีสิทธิ เสรีภาพ ไม่ใช่ใครเห็นต่างก็เอาไปขังคุก ศาลครับ ท่านคือที่พึ่ง”

ในวันเดียวกัน กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำเอารายชื่อประชาชน 11,035 คน ซึ่งแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นผู้รวบรวมเพื่อยื่นต่อ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาขอให้คำนึงถึงหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (presumption of innocence) และคืนสิทธิให้ประกันตัวให้ผู้ต้องหาคดีการเมืองที่อยู่ระหว่างการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ไม่มีตัวแทนของศาลอาญาออกมารับรายชื่อดังกล่าว ผู้ชุมนุมจึงได้โปรยไว้บริเวณบันไดศาล

ขณะที่ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 7 คนในวันนี้ ด้วยหลักทรัพย์ 2 แสนบาท

“สถานการณ์ในเรือนจำไม่ดีมาก เฉพาะสถานการณ์โควิด” เพนกวินเล่าให้ผมฟังว่า เขาวิงเวียน จะเป็นลม ยืนไม่ได้ นอนไม่หลับ ถ้าไม่ใช้ยานอนหลับ ก่อนวันที่ผมไปเยี่ยมวันนึง แกถ่ายหนักออกมาเป็นชิ้นเนื้อสีดำ ซึ่งพยาบาลที่อยู่ข้างในบอกว่ามันเป็นอันตราย เพราะอาจเป็นอาการที่ร่างกายย่อยเนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารของตัวเอง ก็เลยมาเล่าให้แม่ทุกคนของน้อง ๆ ทุกคนก็คิดว่า เมื่อมันมีทั้งโควิด สถานการณ์ปัจจุบัน มันไม่มีเหตุผลจะต้องขังน้องเขาไว้อีก ก็เลยมายื่นประกัน” นายกฤษฎางค์ กล่าวเพิ่มเติม

ผู้ที่ถูกยื่นขอประกันตัวประกอบด้วย นายพริษฐ์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง, นายอานนท์ นำภา, นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่, นายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ จัสติน และนายปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือพอร์ท ไฟเย็น อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 18.05 น. ศาลได้แจ้งต่อทนายความว่าไม่อนุญาติให้ประกันตัว

“พิเคราะห์แล้ว ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณาโดยระบุเหตุผลไว้ชัดเจนแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้ทราบและคืนหลักประกัน” ความเห็นศาลที่ระบุในเอกสารคำร้องขอประกันตัว ระบุ

“ทำทุกอย่างแล้ว เงื่อนไขก็เหมือนกับสมยศ กับไผ่ เราเขียนไปในคำร้องเลยว่า หากศาลจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดี เรายินดีรับ ในคดีนี้ ไผ่ สมยศ แบงค์เป็นจำเลยร่วมกันทั้งหมด เหตุผลที่เราเสนอมาทั้งหมด เป็นเหตุผลที่ไม่ควรถูกปฏิเสธ เราเสียใจที่ศาลมองไม่เห็นความสำคัญตรงนี้” นายกฤษฎางค์ กล่าวหลังทราบคำสั่งศาล

ด้าน นางสุรีรัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ กล่าวแก่สื่อมวลชนหลังทราบคำสั่งศาลว่า “ความเมตตาของคุณหายไปไหนหมด… ใครก็แล้วแต่ที่มีอำนาจช่วยตอบเหตุผลแรงๆ กับผู้หญิงคนนี้หน่อย ขนาดลูกฉันยอมเงื่อนไขแล้ว เด็กยอมลดแล้ว เรายอมประนีประนอมแล้ว แต่ทำไมท่านไม่ประนีประนอมกับเรา ลูกเราแลกด้วยชีวิต อยากให้ท่านอธิบาย เพราะอะไร”

หลังจากศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 7 ราย กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งติดตามสถานการณ์ที่หน้าศาลอาญาได้ประกาศว่าจะยังคงชุมนุมต่อไป และยืนยันว่าจะปักหลักที่นอกรั้วศาลอาญาเพื่อเรียกร้องต่อไป

ทั้งนี้ นายพริษฐ์ และพวก ถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการร่วมชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งผู้ปราศรัยได้ปราศรัยวิพากษ์-วิจารณ์ สถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงได้เขียนหนังสือส่งถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย โดยทั้งหมดคือบุคคลที่ถูกต้องข้อหา ม. 112

จำเลยทั้งหมดถูกส่งตัวเข้าเรือนจำตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2564 โดยศาลปฏิเสธการให้ประกันตัวมาตลอดด้วยเหตุผลเกรงว่า จำเลยจะกระทำผิดซ้ำ และหลบหนี ต่อมานายพริษฐ์ และน.ส. ปนัสยา ประกาศอดอาหารเพื่อประท้วงการไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวของจำเลยทั้งหมด ถึงปัจจุบัน นายพริษฐ์ อดอาหารมาแล้ว 45 วัน และ น.ส. ปนัสยา อดอาหารแล้ว 31 วัน อย่างไรก็ตามเมื่อสัปดาห์ก่อนจำเลยในคดีเดียวกันเช่น นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ได้รับการประกันตัว ขณะที่เดือนก่อน นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ก็ได้รับการประกันตัว โดยทั้งหมดมีเงื่อนไขการประกันตัวว่า จะไม่ยุ่งกับการชุมนุมทางการเมือง และปราศรัยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

กลุ่ม “ราษฎร” เริ่มชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดการชุมนุมในลักษณะนี้หลายครั้งในหลายจังหวัด โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลัก ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาการชุมนุมดังกล่าว นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีของนักกิจกรรม โดยเฉพาะแกนนำปราศรัย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 88 ราย ใน 81 คดี โดยผู้ที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ นายพริษฐ์ 20 คดี, นายอานนท์ 12 คดี, น.ส.ปนัสยา 9 คดี และนายภาณุพงศ์ 8 คดี โดยปัจจุบัน มีผู้ที่ต้องถูกควบคุมตัวด้วย ข้อหา ม.112 จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืิอง และวิพากษ์-วิจารณ์ สถาบันพระมหากษัตริย์ในปี 2563-2564 จำนวน 17 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง

ความคิดเห็น

Anonymous
May 03, 2021 10:35 AM

test