นิว สิริชัย ถูกตำรวจบุกจับ ม.112 กลางดึก ก่อนได้ประกัน

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.01.14
เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ
นิว สิริชัย ถูกตำรวจบุกจับ ม.112 กลางดึก ก่อนได้ประกัน ประชาชนชูป้ายรณรงค์ ยกเลิก ม.112 ที่หน้า สน.ทุ่งมหาเมฆ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 หลังจากที่มีแกนนำคณะราษฎรหลายคนถูกดำเนินคดี
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในช่วงกลางดึกที่ผ่านมา นายสิริชัย นาถึง หรือนิว นักกิจกรรมจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 นายบุกเข้าจับกุมตัวจากบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก่อนนำตัวไปค้นหอพัก และแจ้งข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการณรงค์ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไรก็ตาม ในช่วงสายวันพฤหัสบดีนี้ นายสิริชัย ได้รับการประกันตัวจากศาลจังหวัดธัญบุรีแล้ว ด้านนายอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และแกนนำคณะราษฎร เป็นผู้รับรับรางวัล กวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564

นายสิริชัยเปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ ว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัว โดยไม่มีการแสดงหมายจับ ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ไม่อนุญาตให้พบทนายความในช่วงแรก และมีการยึดโทรศัพท์มือถือ

“ผมถูกดำเนินการทางกฎหมายเรื่อยมา จนถึงตอนเช้ามาถึงศาล ตอนแรกตำรวจให้ฝากขัง เราก็ยื่นคัดค้านไป (ตำรวจ) ยกคำร้องคัดค้าน (ทนาย) ยื่นประกันตัว ศาลก็ให้ปล่อยตัวชั่วคราว… ที่ผ่านมาได้รับการคุกคามอย่างหนักจากเจ้าหน้าที่ อันนี้ก็ทำใจมาแล้วพอสมควร ก็ต้องเรียนให้ทราบว่า ยิ่งคุกคาม ยิ่งแจ้งข้อกล่าวหา ผมยิ่งสู้ ยิ่งทำมากขึ้นอีก” นายสิริชัย กล่าว

“เจ้าหน้าที่แจ้งมาว่า ผมมีสิทธิ์ที่จะแจ้งทนาย สิทธิ์ที่จะติดต่อผู้ไว้วางใจได้ในการโทรคุยกันกับทนาย แต่ยังคุยไม่เรียบร้อยดี ตำรวจก็เริ่มเข้ามาประกบตัวแล้วก็ยึดโทรศัพท์ไป หลังจากนั้นได้ข่าวมาว่า มีเพื่อนผมมารอ ที่หน้า สภ.(คลองหลวง) เขาได้ทำการแอบย้ายตัวผมไปที่ ตชด. ภาค 1 แล้วก็นำตัวผมไปตรวจค้นหอพัก ยังไม่ได้แสดงหมาย ทำการตรวจค้นก่อน แล้วจึงแสดงหมายค้น ไม่ได้ทำบันทึกการเข้าค้น ณ สถานที่ค้นทันที มาทำบันทึกย้อนหลัง ไม่สามารถระบุได้ว่า หลักฐานที่ระบุ เป็นของที่มาจากห้องพักผมจริงไหม” นายสิริชัย กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ตามการเปิดเผยของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ในช่วงเวลาประมาณ 23.00 น. นายสิริชัยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 นาย ควบคุมตัวจากบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และนำตัวไป สภ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ต่อมานักศึกษา และอาจารย์กว่า 10 คนจึงเดินทางไปที่ สภ.คลองหลวง เพื่อให้กำลังใจ แต่นายสิริชัยถูกพาตัวไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 เพื่อนและอาจารย์จึงเดินทางตามไป แต่ไม่พบตัวนายสิริชัย เนื่องจากเจ้าหน้าที่พานายสิริชัยไปค้นที่หอพัก

เพื่อนนักศึกษาพบตัวนายสิริชัยที่ หอพักพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจในเวลาประมาณ 01.30 น. โดยหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการค้นหอพัก นายสิริชัยถูกนำตัวกลับไปยัง สภ.คลองหลวง ทำให้มีนักศึกษา อาจารย์ และประชาชนจำนวนหลาย 10 คนรวมตัวที่หน้า สภ.คลองหลวง พร้อมเขียนป้าย และปราศรัยโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเข้าจับกุมตัวนายสิริชัยกลางดึก ต่อมาในเวลาประมาณ 04.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งนักศึกษาที่รออยู่หน้า สภ.คลองหลวงว่า จะได้นำตัวนายสิริชัยไปขออำนาจฝากขังที่ ศาลจังหวัดธัญบุรี ในเวลา 08.00 น.

นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า นายสิริชัย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี ในข้อหาที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเขียนข้อความลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 10

“เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหา ม.112 และทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหาย จากการพ่นสีข้อความว่า “ยกเลิก 112” และ “ภาษีกู” ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.10 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 โดยนายสิริชัยให้การปฏิเสธ เมื่อศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จึงให้ประกันตัวในวันนี้ โดยใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยค้ำประกัน และมีเงื่อนไขไม่ให้กระทำผิดซ้ำความผิดเดิมที่ถูกตั้งข้อหา แต่นายสิริชัย ไม่ใช่แกนนำ หรือผู้ปราศรัยในการชุมนุม” นายนรเศรษฐ์ กล่าว

หลังจากได้รับการประกันตัว นายสิริชัย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวอีกครั้งในเวลาประมาณ 14.00 น. และไม่มีการแสดงหมายจับ โดยนายสิริชัยถูกพาตัวไปยัง สภ.ธัญบุรี

“เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.18  และ 27 จากการที่เมื่อเช้านี้ พนักงานสอบสวนพยายามขอรหัสเข้ามือถือ แต่นายสิริชัยไม่ยินยอมดำเนินการตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ ซึ่งถือเป็นการขัดขวางการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงาน อย่างไรก็ตาม นายสิริชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยระบุว่า เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะไม่ยินยอมให้รหัสต่อเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการปล่อยตัวนายสิริชัย ในเวลา 16.30 น. โดยไม่ได้ทำการขออำนาจศาลฝากขัง” นายนรเศรษฐ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์

ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ แก่สื่อมวลชน ถึงรายละเอียดการดำเนินคดีกับนายสิริชัย

การชุมนุมของเยาวชนและประชาชนในนาม “ราษฎร” เริ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา โดยมีข้อเรียกร้องหลักคือ การให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต่อมามีการจัดชุมนุมด้วยข้อเรียกร้องเดียวกัน ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ต่อเนื่องหลายครั้ง โดยรัฐบาลพยายามปราบปรามการชุมนุมที่เกิดขึ้นด้วยการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ การพยายามสกัดกั้นไม่ให้สามารถจัดชุมนุมได้ แต่ไม่สามารถหยุดกระแสเรียกร้องที่เกิดขึ้นได้

กระทั่งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตราจัดการกับผู้ชุมนุม ทำให้นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทั้งแกนนำ และผู้ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วย ม.112 จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2563 นี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างน้อย 48 ราย ใน 34 คดี โดยสถิตินี้ นับคดีที่ผู้ได้รับหมายเรียก ยังไม่ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาด้วย

โดยในวันนี้ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำคณะราษฎร ได้รับหมายเรียกจาก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้ไปรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา ความผิด ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  ในวันที่ 22 มกราคม 2564 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการระบุว่า เป็นการดำเนินคดีนี้จากการกระทำใดของนายพริษฐ์

คณะก้าวหน้าเรียกร้อง ยกเลิก ม.112

สืบเนื่องจากการจับกุมตัวนายสิริชัย ในเช้าวันพฤหัสบดีนี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะเลขาธิการคณะก้าวหน้า เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัวเรียกร้องให้ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่า สถานการณ์การใช้ ม.112 มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น

“สถานการณ์การนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาใช้ ก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และมีทีท่าจะแรงต่อเนื่องไปอีก ผมจึงมีความเห็นว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งเป็น “ผู้แทน” ของ “ราษฎร” ต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกมาตรา 112 โดยเร็วที่สุด” นายปิยบุตร ระบุ

“เราปล่อยให้ อนาคตของชาติ โดนตั้งข้อหา ดำเนินคดีแบบนี้ต่อไปไม่ได้ พวกเขาเสียสละเสรีภาพ และอาจรวมถึงร่างกาย ชีวิตด้วย เพื่อการต่อสู้ เทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้ว สิ่งที่เสียไปน้อยกว่าพวกเขามาก ต้องไม่ลืมว่า เงินเดือน ตำแหน่ง คะแนนเสียงจำนวนมาก ของ ส.ส.หลายคน ก็มาจากพวกเขา” อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ

ด้าน ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า นอกจากที่กรุงเทพฯ ในต่างจังหวัด ม.112 ยังเป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้คุกคามผู้ต่อต้านรัฐบาล

“แม้ก่อนหน้านี้ไม่มีการดำเนินคดีด้วย ม.112 ก็ยังพบการคุกคามผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ด้วยการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีด้วย ม.112 จากเจ้าหน้าที่ ซึ่งสะท้อนว่า ตลอดมารัฐบาลชุดนี้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของกลุ่มชนชั้นนำ” ดร.ฐิติพล กล่าวผ่านโทรศัพท์

ทนายอานนท์ ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน 2564 จากประเทศเกาหลีใต้

ตามการเปิดเผยของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและเวบไซต์ มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (The May 18 Memorial Foundation) ในประเทศเกาหลีใต้ ระบุว่า นายอานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และแกนนำคณะราษฎร ได้รับเลือกให้เป็นผู้ได้รับ 'รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน' ประจำปี 2564 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) หลังทำหน้าที่เป็นทนายความ ว่าความให้กับผู้ต้องหาคดีการเมืองมาเป็นเวลากว่า 10 ปี

กระทั่งนายอานนท์ ได้ขึ้นปราศรัยกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกในการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และเริ่มมีการพูดถึงประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ระหว่างการปราศรัยที่ริมถนนราชดำเนิน การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องทำให้ นายอานนท์ ถูกดำเนินคดี ม.112 อย่างน้อย 8 คดี ขณะที่คดีความผิดอื่น ๆ อีกกว่า 10 คดี รวมถึง โดนเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว และถูกนำตัวไปฝากขังในเรือนจำหลายครั้ง

“การดำเนินคดี ม.112 กับผม ก็ทำให้ผมแค่เสียเวลา และเหนื่อยเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้ผมกลัว… ข้อเรียก 3 ข้อยังคงเหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ในปีนี้พอโควิดหายก็จะเดินทางเพื่อพูดย้ำถึง 3 ข้อนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ตอนนี้เป็นช่วงพัก เลยเป็นโอกาสดีที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะได้ทำงานข้อมูลเพิ่มขึ้น” นายอานนท์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ก่อนทราบว่าตนเองจะได้รับรางวัลกวางจู

ทั้งนี้ รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มจัดขึ้นและมอบให้กับนักสิทธิมนุษยชนในปี 2543 โดยสำหรับคนไทย เคยได้รับมาแล้ว 2 ครั้ง คือ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในปี 2549 และนายจตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา หรือไผ่ ดาวดิน ในปี 2560

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง