รัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปัตย์เพียงฉบับเดียว
2021.06.24
กรุงเทพฯ
ในตอนค่ำของวันพฤหัสบดีนี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เห็นชอบรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์เพียงฉบับเดียว โดยมีสาระสำคัญว่าให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ แบบเดียวกับระบบเลือกตั้งที่ใช้ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ จะแก้ไขมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งว่าด้วยเรื่องจำนวนสมาชิกแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบปาร์ตี้ลิสต์ และมาตรา 91 ว่าด้วยวิธีการคำนวณสัดส่วน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ โดยจะกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ บัตรสำหรับการเลือกตั้งแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ คำกล่าวของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้เสนอให้แก้ไข มาตรา 83 ในญัตติของตนเช่นเดียวกัน และตามข้อสังเกตของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLAW)
“ฉบับที่ 13 มีคะแนนเกินกึ่งหนึ่ง และได้รับเสียงจากวุฒิสมาชิกเกินหนึ่งในสาม ฉบับที่ 13 จึงผ่านการรับหลักการ” นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาแจ้งที่ประชุม โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการแปรญัตติในวาระสองในลำดับถัดไป
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคต่าง ๆ ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 13 ฉบับ แต่ร่างฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับความเห็นชอบตามเกณฑ์ คือ เกินกึ่งหนึ่งขององค์ประชุมรวม และหนึ่งในสามของ ส.ว. โดยญัตติของประชาธิปัตย์ได้คะแนนรวม 552 คะแนน (ส.ส. 342 เสียง และ ส.ว. 210 เสียง) ไม่รับหลักการ ไม่รับญัตติ 24 คะแนน และงดออกเสียง 130 เสียง
“การเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งในครั้งนี้ มีถึง 3 ร่าง จาก 3 พรรคการเมืองหลัก มีใจความสำคัญที่จะนำเสนอระบบเลือกตั้งแบบเดียวกัน ร่างของพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้มีการแบ่งสัดส่วน ส.ส. เป็น ส.ส. เขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน (มาตรา 83) และให้คำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 (มาตรา 91) เท่านั้น” iLAW ระบุ
ทั้งนี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเปิดการอภิปรายเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ วาระที่หนึ่ง มาตั้งแต่วันพุธ โดยมี 9 ร่าง ที่เสนอโดย ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่อีก 4 ร่าง เสนอโดยฝ่ายค้าน ท่ามกลางบรรยากาศการประท้วงบนท้องถนนของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย
ฝ่ายค้านและกลุ่มฝ่ายประชาธิปไตยที่ประท้วง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2563 นั้น ได้เน้นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกอำนาจของวุฒิสมาชิกที่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับผู้แทนราษฎร ในห้าปีแรกของการเลือกตั้ง
ในส่วนพรรคก้าวไกล ยังได้เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ไม่ผ่านการตรวจญัตติชั้นต้นไป เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงความสำคัญของการแก้ มาตรา 272 ที่เห็นว่ามีไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจของทหาร
“จำเป็นเร่งด่วนที่สุดที่จะต้องแก้ให้ได้โดยเด็ดขาด คือ การยกเลิกอำนาจของ ส.ว. ที่จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 เราต้องยอมรับความจริงว่า ส.ว. 250 คนนี้ คือกลไกการสืบทอดอำนาจของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายรังสิมันต์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สมาชิกวุฒิสภาบางส่วนแสดงความไม่เห็นด้วย
“ตัดอำนาจ ส.ว. ในการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะมาตัดได้ไง ในเมื่อทำประชามติ มีคำถามพ่วง พี่น้องประชาชน 15 ล้านเสียงเขาบอกว่าเห็นด้วย ระยะที่ใช้อำนาจนี้มันเป็นเพียง 5 ปีเท่านั้นเอง” นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. ระบุ
ด้าน นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก เพราะ ส.ว. ไม่ให้ความร่วมมือ
“ในทางปฏิบัติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะเกิดขึ้นในสภา แต่ด้วยสภาวะที่มีกลไลในการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จึงมองไม่เห็นอนาคตเลยว่า จะสามารถแก้ไขได้จริงในช่วงเร็ว ๆ นี้” น.ส.นวพร สุนันท์ลิกานนท์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
สำหรับขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากนี้ iLaw ระบุว่า เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระที่ 1 จะมีการตั้งกรรมาธิการเพื่อจัดทำร่างแก้ไข แล้วนำเสนอให้รัฐสภาพิจารณาในวาระ 2 หากผ่านความเห็นชอบจะเข้าสู่การพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 เมื่อผ่านความเห็นชอบ มาตรา 256(8) ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ถามความเห็นจากประชาชนโดยการประชามติ ซึ่งถ้าประชาชนส่วนมากเห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญจะถูกทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย และถูกบังคับใช้
ฝ่ายประชาธิปไตยประท้วง
ตั้งแต่ก่อนรุ่งสางของวันพฤหัสบดีนี้ ประชาชน และนักศึกษา ได้จัดกิจกรรมชุมนุมในวาระครบรอบ 89 ปี การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 โดยได้ย้ำข้อเรียกร้องเดิมที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
การชุมนุมของประชาชนและนักศึกษากลุ่มราษฎร, ทะลุฟ้า และเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี หลายร้อยคน เริ่มขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีการจุดเทียน และอ่านประกาศคณะราษฎร เพื่อรำลึกถึงการก่อการอภิวัฒน์สยาม โดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย
นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ แกนนำกลุ่มราษฎร เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า การเคลื่อนไหวของประชาชนยังคงเป็นเช่นปี 2563 คือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และต้องมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
“การออกมาเคลื่อนไหวเป็นการทำหน้าที่ของพลเมือง ในเมื่อรัฐบาลคุณประยุทธ์ไม่สามารถบริหารดูแล หรือแก้ไขปัญหาโควิดได้ ก็ต้องออกมากดดัน... ผมมองว่าทั้ง 3 ข้อเรียกร้องไม่มีอะไรที่มันเกินไป ผู้มีอำนาจต้องฟังเสียงประชาชนให้มาก” นายภานุพงศ์ กล่าว
ต่อมาช่วงสาย ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังรัฐสภา ท่ามกลางการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนหลายร้อยนาย เมื่อถึงรัฐสภาได้มีการปราศรัยข้อเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีตัวแทน ส.ส. ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลออกมารับทราบข้อเรียกร้อง และมีการประชุมร่วมกัน ขณะที่มีการชุมนุมเป็นเวลาเดียวกับที่รัฐสภาอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560
“อยากให้ร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ร่างโดยเผด็จการ มีที่มาที่ไม่ชอบธรรม ประชามติก็ไม่โปร่งใส… การแก้ไขหรือร่างขึ้นมาใหม่ต้องกระทำผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด” นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำราษฎร กล่าว
เมื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำรัฐประหารในปี 2557 ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก่อนแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อ้างว่าเป็น “ฉบับปราบโกง” ต่อมา วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ประชาชนได้ออกเสียงประชามติ รับรัฐธรรมนูญดังกล่าว ด้วยคะแนน 16.8 ล้านเสียง และเห็นชอบในบทเฉพาะกาลที่มีอายุ 5 ปี ซึ่งให้สิทธิ ส.ว. ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี 15.1 ล้านเสียง ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกบังคับใช้ในปี 2560
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน