เบญจา อะปัญ ได้ประกันคดี ม.112 หลังถูกขัง 99 วัน

ศาลกำหนดเงื่อนไขประกันใส่ EM และห้ามทำกิจกรรมที่กระทบสถาบันกษัตริย์
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.01.14
กรุงเทพฯ
เบญจา อะปัญ ได้ประกันคดี ม.112 หลังถูกขัง 99 วัน น.ส. เบญจา อะปัญ นั่งรถยนต์ส่วนตัวออกมาจากประตูทัณฑสถานหญิงกลาง พร้อมกับชูสามนิ้วให้กับประชาชนที่มาให้กำลังใจ หลังได้รับการปล่อยตัว วันที่ 14 มกราคม 2565
สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์

ศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว น.ส. เบญจา อะปัญ นักเคลื่อนไหวจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันศุกร์นี้ หลังเจ้าตัวถูกคุมขังนาน 99 วัน จากคดีที่เกี่ยวกับ ม. 112 สองคดี โดยศาลได้กำหนดเงื่อนไขให้ น.ส. เบญจา ต้องใส่อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring-EM) และห้ามทำกิจกรรมที่กระทบสถาบันกษัตริย์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว น.ส. เบญจา ในเวลา 14.15 น. หลังจากที่ทนายความได้ยื่นเรื่องขอประกันตัวในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยศาลพิเคราะห์ว่า น.ส. เบญจา เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 64 จํานวน 3 วิชา ตามหนังสือรับรอง มีภาระต้องเข้าเรียน จัดทํารายงานรายวิชา และเข้าสอบ ซึ่งไม่สามารถเรียนได้จากภายในเรือนจำ

“หากจําเลยต้องถูกคุมขังจะไม่สามารถศึกษาต่อตามที่มหาวิทยาลัยกําหนด อันจะทําให้จําเลยไม่สามารถสําเร็จการศึกษาได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิทางการศึกษา และอนาคตของจําเลย โดยจําเลยยินยอมที่จะไม่ทํากิจกรรมหรือก่อเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะไม่เข้าร่วมชุมนุม ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ยินยอมให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ และกําหนดเงื่อนไขใด ๆ ที่ศาลกําหนด”​ ศูนย์ทนายฯ ระบุคำชี้แจงของศาล

“เมื่อจําเลยยินยอมปฏิบัติตามคําสั่งและเงื่อนไขของศาลทุกประการ จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลย ระหว่างพิจารณา โดยตีราคาประกัน 100,000 บาท ยึดหลักประกันและทําสัญญาประกัน โดยกําหนดเงื่อนไข ข้อห้ามและในช่วงเวลาจํากัด เพื่อมิให้จําเลยมีโอกาสไปกระทําการอันมีลักษณะเป็นความผิดเช่นเดียวกับคดีนี้อีก โดยให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลย มีผลตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 65” ตอนหนึ่งของคำสั่งศาล

ศาลได้ระบุเงื่อนไขการให้ประกันตัว ดังนี้ 1. ห้ามจำเลยทํากิจกรรมหรือก่อเหตุที่จะกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 3. ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 18.00-06.00 น. เว้นแต่มีเหตุจําเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปเรียนและไปสอบ หรือเหตุอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล และให้จําเลยกลับเคหสถานทันที เมื่อปฏิบัติภารกิจในเหตุจําเป็นเสร็จสิ้น 4. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และ 5. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM)

ทั้งนี้ ศาลได้แต่งตั้ง ผศ.ดร. อดิศร จันทรสุข เป็นผู้กํากับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามคําสั่งศาล และให้จําเลยมารายงานตัวต่อศาล ภายในวันที่ 23 พฤษภาคม 65 เวลา 12.00 น.

ต่อมาในเวลา 18.15 น. ทัณฑสถานหญิงกลางได้ปล่อยตัว น.ส. เบญจา ท่ามกลางการรอรับของประชาชน และสื่อมวลชนหลายสิบชีวิต ซึ่ง น.ส. เบญจา ได้นั่งรถยนต์ส่วนตัวออกมาจากประตูเรือนจำมีการชูสามนิ้ว และโบกหนังสือ “รัฐประชาชาติ ของ ดร.ธงชัย วินิจกุล” ให้แก่ผู้มารอรับโดยกล่าวเพียงสั้นๆว่า “ขอบคุณนะ คิดถึงไว้เจอกัน”

สำหรับ 2 คดีที่ น.ส. เบญจา ได้รับการประกันตัวในวันนี้ คือ คดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 และ คดีอ่านแถลงการณ์หน้าตึกซิโนไทย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ซึ่งทั้งสองคดีมีความผิดที่อาจเข้าข่าย ม. 112 โดย น.ส. เบญจา ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564

ทั้งนี้ น.ส. เบญจา มีคดีที่ถูกฟ้องเกี่ยวกับ ม. 112 รวม 6 คดี และหากรวมคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมอื่น 19 คดี เคยถูกตัดสินให้ถูกจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จากคดีละเมิดอำนาจศาล หลังจากปราศรัยที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำการชุมนุมคนอื่น โดยโทษจำคุกดังกล่าว ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เพื่อต่อสู้คดีระหว่างการอุทธรณ์

การชุมนุมซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ 1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เริ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 โดยมีการชุมนุมหลายร้อยครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

นับตั้งแต่มีการชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 จนสิ้นปี 2564 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว 1,747 ราย 980 คดี มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายชุมนุมของตำรวจกว่า 100 ราย โดยในนั้นมีเด็ก เยาวชน และสื่อมวลชนรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการสรุปจำนวนผู้บาดเจ็บที่แน่ชัด

ปัจจุบันยังมีแกนนำการชุมนุมบางคนถูกควบคุมตัวระหว่างการดำเนินคดี และพิจารณาคดี คือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, นายอานนท์ นำภา และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ซึ่งทั้งหมดถูกฟ้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม และ ม. 112

สุนทร จงเจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง