ตะวัน-เก็ท อาการทรุดหลังอดอาหารในเรือนจำ
2022.05.25
กรุงเทพฯ
น.ส. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท นักกิจกรรมต้านรัฐบาล ซึ่งอดอาหารระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำในชั้นสอบสวน ในคดีความผิดเกี่ยวกับ ม. 112 มีสภาพร่างกายที่อ่อนเพลียและมีอาการวูบในระหว่างวัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยในวันพุธนี้
ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่า น.ส. ทานตะวัน ประกาศอดอาหารและดื่มเพียงนมวันละ 1 กล่อง มาเป็นเวลา 36 วัน นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนนี้ ส่วนเก็ท อดอาหารในลักษณะเดียวกันมาแล้ว 21 วัน โดยทั้งสองได้ทำไปเพื่อประท้วงการถูกเพิกถอนสิทธิการประกันตัว
“เธอ (ตะวัน) บอกการนั่งคุย พูดได้ ไม่ได้แปลว่าเธอแข็งแรงหรือร่างกายปกติ เพียงแต่ไม่ได้ออกแรงจึงไม่ล้ม ยอมรับว่าร่างกายไม่ไหวมานานแล้ว หน้ามืดวันละหลายรอบแม้เพียงขยับตัว พบความดันต่ำ คิดอะไรไม่ค่อยออก ไม่มีน้ำตาลเลี้ยงสมอง เมื่อวานเช้า (23 พฤษภาคม) มันหมดแรงจริง เพลียจึงต้องมีคนพยุงจังหวะไปหาหมอ ตอนสาย ๆ มีอาการปวดท้องด้วย ในนี้มีพี่หมอตามอาการ ดูแลดี แต่เรื่องที่บอกว่าหนูยังแข็งแรงเป็นปกตินี้ ไม่ใช่ไง หนูยังพูดความจริงเลย ทำไมราชทัณฑ์ไม่พูดความจริง” ศูนย์ทนายฯ ถ่ายทอดคำพูดของตะวัน ผ่านทวิตเตอร์
เบนาร์นิวส์ พยายามติดต่อกรมราชทัณฑ์เพื่อสอบถามอาการของ น.ส. ทานตะวัน และนายโสภณ แต่ไม่สามารถติดต่อได้
แต่เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 โดยกรมราชทัณฑ์ ได้เปิดเผยอาการของ น.ส. ทานตะวัน ว่า “สุขภาพเบื้องต้น นางสาว ทานตะวัน รู้สึกตัวดี สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดี สัญญาณชีพ อุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต อัตราการหายใจ และค่าออกซิเจนในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยทางทัณฑสถานหญิงกลางได้จัดเจ้าหน้าที่พยาบาลเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด”
ตะวัน ถูกควบคุมตัวในทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2565 หลังจากศาลได้เพิกถอนประกัน ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายถอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ในวันที่ 5 มีนาคม 2565 บริเวณริมถนนราชดำเนิน ก่อนจะมีขบวนเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี โดยถูกตั้งข้อหา ม. 112
น.ส. ทานตะวัน อายุ 20 ปี เป็นที่รู้จักจากการเคลื่อนไหวในนามกลุ่มทะลุวัง ทำจัดกิจกรรมสำรวจความคิดประชาชน ในประเด็น “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งทำให้ถูกดำเนินคดี ข้อหา ม. 112 และ ม. 116 และต่อมาถูกตั้งข้อหา ม. 112 อีกคดี จากการถ่ายถอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ก่อนมีขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 ก่อนถูกจับเธอเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม “มังกรปฏิวัติ” ซึ่งรวมแล้วตะวันถูกข้อหา ม. 112 รวม 2 คดี
“มันเหมือนแบตหมด”
ด้านเก็ท ซึ่งถูกควบคุมตัว ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 และประกาศอดอาหารในอีกสามวันให้หลัง ปัจจุบัน ก็มีสุขภาพที่แย่ลง
“น้ำหนักลดลงไปห้ากิโลแล้วพี่ ช่วงนี้มีวูบด้วย มันเหมือนแบตหมด ตาลาย ต้องพักสักแป๊บหนึ่ง… ผมก็พยายามอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ทำกิจกรรมมาก แต่ผมนอนแค่ช่วงกลางคืน ไม่อยากนอนมากเพราะฝันร้าย” นายโสภณ เปิดเผยกับตัวแทนของศูนย์ทนายฯ
นายโสภณ ถูกควบคุมตัวจากการเป็นผู้ปราศรัยในกิจกรรม “ทัวร์มูล่าผัว” เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 บนถนนราชดำเนิน โดยเขาถูกตั้งข้อหา ม. 112 และถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดี
ขณะที่ นายโสภณ อายุ 23 ปี เคยเป็นสมาชิกกลุ่ม We Volunteer (วีโว่) และแพทย์อาสาในกิจกรรมการเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2563 เคยถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วรวม 8 คดี ถูกตั้งข้อหาเช่น ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ความสะอาด, การใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, หมิ่นศาล, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กระทั่งถูกดำเนินคดี ม. 112 เป็นคดีแรก จากการร่วมกิจกรรมทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา
เอ็นจีโอร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดี
ก่อนหน้านี้ ทนายความพยายามยื่นขอประกันตัว น.ส. ทานตะวัน และนายโสภณ แล้วหลายครั้ง โดยใช้ทั้งหลักทรัพย์ และตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส. ค้ำประกัน แต่ไม่สำเร็จ โดยศาลระบุว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” อย่างไรก็ตาม จะมีการไต่สวนประกันของตะวัน ในวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2565 นี้
ด้าน น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ก่อนหน้านี้ มีการเผยแพร่เอกสารบนอินเทอร์เน็ตที่ระบุว่า ตะวัน และเก็ท เป็นบุคคลที่หน่วยงานรัฐเฝ้าระวังพิเศษ จึงอาจเชื่อได้ว่าการที่คนทั้งคู่ไม่ได้รับการประกันตัวอาจเพราะมีคำสั่งจากหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ศาล
“มีเอกสารเฝ้าระวังระดับสีแดงที่มีหน้าตะวัน และเก็ท ซึ่งอาจเชื่อได้ว่ากระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงโดยหน่วยงานอื่น ดังนั้นการไม่ให้ประกันตัวของเด็ก ๆ อาจไม่ได้เกิดจากดุลยพินิจที่เป็นธรรมตามกฎหมาย เราต้องตั้งคำถามถึงความอิสระของตุลาการ และขอเรียกร้องให้องคาพยพในกระบวนการยุติธรรมกลับมายืนอยู่บนหลักนิติธรรม ไม่ใช่ทำตามคำสั่งของหน่วยงานอื่น” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวผ่านโทรศัพท์ โดยไม่ได้ระบุหน่วยงานที่ว่าโดยชัดเจน
ด้านองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องเมื่อวันจันทร์นี้ ขอให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหว หรืออย่างน้อยให้ประกันตัวผู้ต้องหาที่โดนควบคุมตัวในข้อกล่าวหาละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ และควรได้พบแพทย์
นับตั้งแต่มีการชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 จนสิ้นเดือนเมษายน 2565 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 1,808 คน ในจำนวน 1,065 คดี ในนั้นเป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดี ม. 112 อย่างน้อย 190 คน ใน 204 คดี มีผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง รวมทั้ง ตะวันและเก็ทแล้วอย่างน้อย 11 ราย