ข้าวโพดกับไฟป่า : ผู้ร้ายเบื้องหลังหมอกควันพิษในภาคเหนือไทย-ลาว

สุเบล ราย บันดารี สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2023.04.18
เชียงราย
ข้าวโพดกับไฟป่า : ผู้ร้ายเบื้องหลังหมอกควันพิษในภาคเหนือไทย-ลาว มลพิษทางอากาศบนดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 21 มีนาคม 2566
นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์

ในห้วงเวลาเกือบเที่ยงคืน วันที่พระจันทร์ขึ้นเต็มดวงออกสีส้มสะพรึงแกมน้ำตาลไหม้กลางท้องฟ้า ลอยเหนือแสงไฟถนนที่ปกคลุมไปด้วยหมอกฝุ่นหนาคละคลุ้งในอากาศ

“จมูกเราแสบไหม้ กลืนน้ำลายลำบาก แสบตาจนน้ำตาไหล เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว” พัทธนิก มาสะ ประชาชนในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย กล่าวโดยเธอสวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น ขณะยืนเข้าแถวร่วมกับชาวบ้านเพื่อทำบุญตักบาตรในประเพณีเป็งปุ๊ด ซึ่งเป็นประเพณีของชาวพุทธทางภาคเหนือ

“ประเพณีนี้ของศาสนาพุทธเป็นประเพณีที่มีความสำคัญ เราตักบาตรเพื่อขอให้โชคดี” เธอกล่าว “นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงมาอยู่กันที่นี่ แม้ว่าอากาศจะแย่สุด ๆ ก็ตาม”

ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือของไทย และประเทศลาว รวมถึงประชาชนในรัฐฉานของประเทศเมียนมา ต่างทุกข์ทรมานจากปัญหาฝุ่นควันซึ่งหนักที่สุดในรอบหลายปี

ประชาชนหลายพันคนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ และคนที่ทำงานในจังหวัดเชียงใหม่ได้รับแจ้งให้ทำงานอยู่ที่บ้านและอย่าออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยจังหวัดเชียงใหม่ของไทยติดอันดับหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดของโลกเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ในบางพื้นที่มีค่ามลพิษสูงกว่าระดับปลอดภัยต่อสุขภาพมากถึง 16 เท่า ตัวการสำคัญสองอย่างที่อยู่เบื้องหลังมลพิษสุดอันตราย คือ ไฟป่าที่อยู่เหนือการควบคุมและการกำจัดตอซังข้าวโพดด้วยการเผาซึ่งกินพื้นที่ในวงกว้าง การเผาตอซังข้าวโพดเริ่มต้นหลังฤดูการเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกุมภาพันธ์เพื่อเตรียมพื้นที่ในฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ที่จะมาถึงในเดือนพฤษภาคม

ไฟป่าถูกพัดพาจนลุกลามเนื่องจากอากาศที่แห้งกว่าปกติ ไฟป่าหลายแห่งเกิดขึ้นในพื้นที่ภูเขาซึ่งยากต่อการเข้าถึง และทีมดับเพลิงของไทยไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณที่มากพอ

ในขณะเดียวกัน เกษตรกรแผ้วถางป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูกข้าวโพด โดยข้าวโพดส่วนใหญ่จะนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้นหมายถึงความต้องการข้าวโพดที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงราคาข้าวโพดก็ปรับตัวสูงขึ้นตาม ซึ่งเป็นแรงขับให้เกษตรกรต้องปลูกให้มาก เลี้ยงให้โต และเผามากยิ่งขึ้น

“สถานการณ์ที่เห็นคือ จุดสูงสุดของกิจกรรมทางการเกษตรที่แย่ในตลอดหลายปีมานี้” รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าว “นี่คือสถานการณ์ฝุ่นควันที่แย่ที่สุดในช่วงเวลากว่า 10 ปีมานี้”

นโยบายขจัดการเผาเป็นศูนย์ ที่ยังไม่บังคับใช้

การทำไร่ข้าวโพดขยายตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งภูมิภาค ระหว่างช่วงปี 2558-2562 พื้นที่ป่าประมาณ 10.6 ล้านไร่ (กว่า 1.7 ล้านเฮคเตอร์) ถูกแปรสภาพให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการปลูกข้าวโพด เธอกล่าว

รัฐบาลไทยประกาศนโยบายขจัดการเผาให้เป็นศูนย์ในเดือนมีนาคม แต่นโยบายดังกล่าวยังไม่บังคับใช้ ผู้มีอำนาจในกรุงเทพฯ “กำลังหวังว่ามันจะหายไปเองทั้งหมดเพราะพวกเขากำลังเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง” รัตนศิริ กล่าว

230418-th-environment1-rfa.jpg

ทุ่งข้าวโพดที่ถูกเผาหลังการเก็บเกี่ยว ในหมู่บ้านดอยสะโง้ จังหวัดเชียงราย วันที่ 5 เมษายน 2566 (สุเบล ราย บันดารี/เรดิโอฟรีเอเชีย)

อาชู (Achoo) เกษตรกรไร่ข้าวโพดชาวไทยในหมู่บ้านดอยสะโง้ จังหวัดเชียงราย มองว่าการเผาไม่ใช่ปัญหา

“เป็นเรื่องธรรมชาติ หลังจากคุณเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว คุณก็เผาส่วนที่เหลือ” เธอกล่าว “ทุกคนก็ทำแบบนี้ และเราก็ทำแบบนี้มาหลายปี”

แต่มีผลบังคับด้านเศรษฐกิจในการทำงานที่นี่ด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ พืชส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านปลูก คือ ผักสวนครัว มันสำปะหลัง สับปะรด และพืชดอกที่กินได้ชนิดอื่น ๆ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกเขาเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากหนึ่งในเกษตรกรผันตัวมาเป็นพ่อค้าคนกลาง คอยขนส่งข้าวโพดให้กับบริษัทผลิตอาหารสัตว์

“เราไม่ต้องทำอะไรเลย เราได้รับเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยมาจากคน ๆ นี้ เราไม่ต้องมีเงินมาลงทุนด้วยซ้ำ” อาชู กล่าว “หลังจากเก็บเกี่ยว เขาจะมาเก็บผลผลิตจากเราแล้วนำไปขายต่อในเมือง”

อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า จุดความร้อน หรือที่เรียกกันว่าฮอตสปอต (Hot Spot) คือพื้นที่ที่เกิดการเผาไหม้หรือมีแนวโน้มจะเกิดการเผาไหม้ พื้นที่เหล่านี้มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นและเชื่อมโยงไปถึงการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงการทำไร่ข้าวโพดเพื่อเป็นอาหารสัตว์ อีกทั้งความต้องการข้าวโพดที่สูงขึ้นยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้โดยตรง

ตามข้อมูลตัวเลขของรัฐบาล ประเทศไทยต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างน้อย 8 ล้านตัน แต่สามารถผลิตได้ประมาณ 5 ล้านตัน นั่นหมายความว่าส่วนที่เหลือต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ความต้องการของบริษัท

อัลลิยา กล่าวว่า สองทศวรรษก่อน ไทยจัดทำโครงการเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) ข้ามพรมแดนกับฟาร์มใน สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา ภายใต้เงื่อนไขการนำเข้าข้าวโพดปลอดภาษีศุลกากร นับตั้งแต่นั้นจึงเกิดการเผาขึ้นทั่วภูมิภาค

อัลลิยาและนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ กล่าวว่าความต้องการข้าวโพดจำนวนมากขับเคลื่อนโดย บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีกรุ๊ป บริษัทสัญชาติไทยที่เป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีกำลังการผลิตปีละ 27,650 ตัน

230418-th-environment2-rfa.jpg

หมอกควันปกคลุมภูเขา เมื่อมองจากหมู่บ้านดอยสะโง้ ในจังหวัดเชียงราย วันที่ 5 เมษายน 2566 (สุเบล ราย บันดารี/เรดิโอฟรีเอเชีย)

“รัฐบาลไทยสนับสนุนบริษัทเดียวเป็นการเฉพาะ – ซีพี – ซึ่งมีความรับผิดชอบต่อการทำเกษตรพันธสัญญาไร่ข้าวโพดในภาคเหนือและในประเทศเพื่อนบ้าน” รัตนศิริ กล่าว

เพื่อโน้มน้าวให้ชาวนาเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกข้าวโพด ซีพีระบุว่าบริษัทจะมอบความช่วยเหลือด้านการเงินแบบปลอดดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกร ในกรณีที่เกษตรกรต้องการ และยังให้สัญญาว่าบริษัทจะรับซื้อผลผลิตในราคาประกันตามช่วงริเริ่มของโครงการที่มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ (Royal Initiative Discovery Institute) เป็นผู้ประกาศเมื่อเดือนธันวาคม โดยมูลนิธิดังกล่าวเป็นโครงการน้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ ที่สนับสนุนการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชนบท

อัลลิยา กล่าวว่า เกษตรกรหลายคน “ไม่มีทรัพยากรหรือศักยภาพ และไม่มีทางเลือก” นอกจากต้องทำเกษตรพันธสัญญาไร่ข้าวโพด

“สิ่งที่หายไปในกลไกทางกฎหมายและการจัดทำนโยบายคือความรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงไปถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่พวกเขากอบโกยผลประโยชน์จากการทำไร่ข้าวโพด” อัลลิยา กล่าว

ซีพีระบุว่า บริษัทกำลังจัดทำโครงการติดตามและยืนยันข้อมูลแหล่งที่มาของข้าวโพดเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ โดยดูว่าข้าวโพดนั้นมาจากแหล่งปลูกที่การทำการเกษตรแบบยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบว่า แหล่งปลูกมีการตัดไม้ทำลายป่าและมีการเผาตอซังข้าวโพดหรือไม่

ไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ของเครือซีพี กล่าวว่า บริษัท “ให้ความสำคัญกับการสร้างห่วงโซ่การผลิตอาหารที่ยั่งยืนมาโดยตลอด ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการลดมลพิษข้ามพรมแดนที่เกี่ยวกับฝุ่นควันด้วยเช่นกัน”

ซีพีไม่ได้ตอบคำถามของเรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์ เกี่ยวกับกรณีที่ว่าบริษัทจะทำอย่างไร หากเกษตรกรไม่สามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำของบริษัทในการยุติการเผาตอซังข้าวโพด

ข้อมูลตามรายงานด้านธัญพืชและอาหารสัตว์ของสำนักบริการการเกษตรต่างประเทศ (Foreign Agricultural Service - FAS) ในสังกัดกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA) ระบุว่าความต้องการอาหารสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาข้าวโพดปรับตัวสูงขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ราคาข้าวโพดที่ปลูกในท้องถิ่นสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 26 “เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดในท้องถิ่นที่ไม่เพียงพอและความไม่มั่นคงด้านการค้าข้าวโพดในระดับโลก”

ไฟป่า

นอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้น ผู้เชี่ยวชาญต่างระบุว่าไฟป่าที่กำลังเผาไหม้อยู่ในปีนี้ ถือเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของหลายพื้นที่ในภูมิภาค เนื่องจากเข้าสู่ช่วงต้นของฤดูแล้งหลังจากสิ้นสุดปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิพื้นผิวของน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเส้นศูนย์สูตรลดต่ำลง ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประเทศในทวีปเอเชียที่ตั้งอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมีอากาศเย็นลง มีความชื้น และมีฝนตกมากขึ้น

ใน สปป.ลาว คุณภาพอากาศยังคงอยู่ที่ระดับ “ส่งผลเสียต่อสุขภาพ” ไปจนถึง “อันตรายต่อสุขภาพ” เป็นเช่นนี้มานานเกิน 4 สัปดาห์ ข้อมูลคุณภาพอากาศจาก IQAir ระบุว่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อยู่ที่ 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ถึง 11 เท่า

ผู้อยู่อาศัยใน สปป.ลาว กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาลาวว่า ควันพิษลอยมาจากทุกทิศทาง ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวโทษการเผาในที่โล่งแจ้งและการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่มาจากปัญหาไฟเผาไหม้ในปีนี้

“ทัศนวิสัยในการมองเห็นต่ำ เราต้องสวมหน้ากากตอนออกนอกบ้าน ลูกของฉันป่วยและมีอาการคันตา คันจมูก เหมือนเป็นหวัดหรือเป็นไข้” ประชาชนในกรุงเวียงจันทน์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาลาว เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

แพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเวียงจันทน์กล่าวว่า พวกเขามี “คนไข้ที่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจจำนวนมาก”

ในรัฐฉานของประเทศเมียนมา ประชาชนในจังหวัดท่าขี้เหล็กซึ่งมีพรมแดนติดกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาพม่าว่า พวกเขาได้รับผลกระทบรุนแรงจากฝุ่นควันมาตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา จนทำให้การสู้รบต้องยุติไป

ประชาชนในพื้นที่ กล่าวว่า ในอดีตจะมีปัญหาฝุ่นควันประมาณ 2-3 วัน แต่ครั้งนี้ปัญหาดังกล่าวมีอยู่ยาวนานและรุนแรงยิ่งขึ้น

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอลนีโญหรือปรากฏการณ์ที่อุณภูมิพื้นผิวของน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเพิ่มสูงขึ้นได้นำพาความแห้งแล้งและอากาศที่อบอุ่นขึ้น รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไฟป่าและปัญหาฝุ่นควัน ตามข้อมูลของศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน (ASEAN Specialized Meteorological Center - ASMC)

230418-th-environment3-rfa.jpg

ไฟป่าทำลายป่า ริมถนนทางขึ้นดอยช้าง ในจังหวัดลำพูน วันที่ 4 เมษายน 2566 (สุเบล ราย บันดารี/เรดิโอฟรีเอเชีย)

“เหมือนจะไม่มีการจัดการการเผาแบบไร้การควบคุมเพื่อรักษาสุขภาพของป่า หากคุณไม่จัดการอย่างเหมาะสม ไฟขนาดเล็กอาจจะกลายเป็นไฟขนาดใหญ่อย่างง่ายดายและเกินการควบคุม” ผศ.ดร. เอกบดินทร์ วินิจกุล อาจารย์หัวหน้าภาควิชาด้านการพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology - AIT)

เจ้าหน้าที่ของทางการไทยจะไม่กล่าวถึงสาเหตุอันน่าสงสัยของการเกิดไฟป่า แม้ว่าจะมีหลายคนถูกจับกุมเพราะตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอาจเป็นผู้ก่อประกายไฟ

นักเคลื่อนไหวกล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า เหตุผลอาจเป็นเพราะการแผ้วถางป่าเพื่อสร้างพื้นที่เพาะปลูกแห่งใหม่หรือเพื่อการเก็บเห็ด การใช้ไฟเผาทำลายป่าช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่อุดมไปด้วยสารอาหารซึ่งนำไปสู่การเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดราแทบจะในทันทีภายหลังการเผา โดยเกษตรกรสามารถค้นหาและเก็บเห็ดเหล่านั้นไปขายต่อได้ในตลาด

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า หากไม่มีการจัดการปัญหาฝุ่นควัน ผู้คนจะยิ่งเสียชีวิตจากเรื่องนี้มากขึ้น

มลพิษทางอากาศคือ หนึ่งในความเสี่ยง 10 อันดับแรกที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนในทุกประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2562 ประชากรจำนวนกว่าครึ่งล้านเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศ มูชตาค เมมอน (Mushtaq Memon) ผู้ประสานงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ด้านสารเคมีและมลพิษประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว

“ความท้าทายเร่งด่วนในการจัดการปัญหาการเผาชิ้นส่วนพืชผลทางการเกษตรในที่โล่งแจ้ง ได้แก่ การจัดหาทรัพยากรที่เพียงพอและทันเวลา” ให้แก่เกษตรกร เขากล่าว

ผศ.ดร. เอกบดินทร์ กล่าวว่า ฝุ่นควันข้ามพรมแดน “ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง”

“เราต้องจัดการปัญหาร่วมกัน หากเราไม่ดำเนินการด้วยวิธีที่เป็นรูปธรรมในเร็ว ๆ นี้ สถานการณ์คงจะแย่ยิ่งขึ้น” เขากล่าว “และมันจะเกิดขึ้นในทุก ๆ ปี”

รายงานโดย เรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง