รัฐแจกเงินหมื่นวันแรก 3.16 ล้านคน ในกลุ่มเปราะบาง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.09.25
กรุงเทพฯ
รัฐแจกเงินหมื่นวันแรก 3.16 ล้านคน ในกลุ่มเปราะบาง แม่ค้ายื่นถุงใส่ขนมให้กับลูกค้า กรุงเทพฯ วันที่ 4 กันยายน 2567
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

รัฐบาลเริ่มแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางวันแรก 3.16 ล้านคน ชาวบ้านที่ได้รับเงินแล้วเผยว่า รู้สึกดีใจ เพราะจะได้นำเงินไปซื้อของใช้ที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยอมรับว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตสำหรับประชาชนกลุ่มที่เหลือจะจ่ายได้ไม่ทันปี 2567 

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานเปิดตัวการโอนเงินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยระบุว่า ประชาชนกลุ่มแรกที่จะได้รับเงินหนึ่งหมื่นบาทผ่านพร้อมเพย์จากรัฐบาลเป็นประชาชนกลุ่มเปราะบาง 14.55 ล้านคน แบ่งเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12.40 ล้านคน และผู้พิการ 2.15 ล้านคน

“เงินหนึ่งหมื่นบาทเป็นจำนวนที่จะทำให้พี่น้องประชาชนหลายคนมีโอกาสสร้างชีวิตใหม่ มากพอที่เมื่อรวมกันหลายคน สามารถนำไปลงทุนทำมาค้าขาย สร้างหรือต่อยอดธุรกิจพร้อมรับโอกาสดี ๆ ที่จะเข้ามา รัฐบาลเราเชื่อในศักยภาพของพี่น้องคนไทยเสมอ เมื่อมีโอกาสมาถึงมือจะไม่ปล่อยโอกาสนี้ให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์อย่างแน่นอน” น.ส. แพทองธาร กล่าว

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลจะจ่ายให้กับกลุ่มเปราะบางเป็นเงิน 145,552.40 ล้านบาท เพื่อสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ลูกแรก ที่ทำให้คนไทยได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ต่อลมหายใจให้พี่น้องประชาชนรายเล็กที่กำลังเดือดร้อน

โดยในวันที่ 25 กันยายนนี้ รัฐบาลจะเริ่มจ่ายเงินให้กับผู้พิการ และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีเลขประจำตัวประชาชนลงท้ายด้วยเลข 0 วันที่ 26 กันยายน จ่ายให้กับผู้ถือบัตรที่มีเลขลงท้ายด้วยเลข 1-3 วันที่ 27 กันยายน จ่ายให้กับผู้ถือบัตรที่มีเลขลงท้ายด้วยเลข 4-7 และ 30 กันยายน จ่ายให้กับผู้ถือบัตรที่มีเลขลงท้ายด้วยเลข 8-9

”เงินจำนวนนี้ไม่มีเงื่อนไขในการใช้จ่ายแต่อย่างใด เมื่อเงินเข้าบัญชีสามารถนำไปใช้จ่ายได้ทันที เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด และถึงมือพี่น้องประชาชนมากที่สุดค่ะ ซึ่งการโอนเงินจะทยอยโอนให้ถึงมือพี่น้องประชาชนภายใน 4 วัน โดยเริ่มที่วันนี้เป็นวันแรก“ นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม

000_36EE7M2.jpg
พ่อค้ารถเข็นริมทางขายอาหารให้กับลูกค้าในกรุงเทพฯ วันที่ 21 สิงหาคม 2567 (เอเอฟพี)

ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยังมีประชาชนบางกลุ่มที่รัฐบาลโอนเงินไม่สำเร็จ ซึ่งต้องรอระยะเวลาแก้ไข

“ยอดเงินทั้งหมดที่จะโอนให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการในวันนี้ จำนวน 3,167,565 ราย เริ่มโอนตอนเที่ยงคืนสำเร็จทั้งหมดตอน 7 โมงเช้าวันนี้ กลุ่มผู้พิการยังมีอีกราว 90,000 คน ยังมีสถานะที่ต้องแก้ไข เช่น บัตรผู้พิการหมดอายุ บัตรผิดพลาด และยังไม่ได้เชื่อมช่องทางในการจ่ายเงิน” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ ระบุว่า หลังจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะประสานแก้ไข และมีการโอนให้กับกลุ่มที่ตกหล่นนี้ในวันที่ 22 ตุลาคม, 22 พฤศจิกายน และ 22 ธันวาคม เป็นครั้งสุดท้าย หากดำเนินการแก้ไขไม่ทันจะถือว่าสละสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนนอกกลุ่มเปราะบาง เชื่อว่าจะไม่สามารถจ่ายเงินได้ภายในปี 2567 

“ปีนี้น่าจะยาก เพราะติดปัญหาเรื่องระบบ แต่จะรีบที่สุด เพราะเราทราบว่าความต้องการของประชาชน คือการเร่งรัดในเรื่องนี้” นายจุลพันธ์ เปิดเผย

ประชาชนดีใจได้เงินหมื่นใช้จ่าย

“รู้สึกโชคดีนะที่ได้ก่อน แต่ก็เข้าใจว่าคนอื่น ๆ ก็คงลำบากเหมือนกัน อยากให้ทุกคนได้เร็ว ๆ เหมือนกัน ช่วงนี้ลำบากกันมาก ค่าครองชีพสูง ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนมันเยอะ เงินนี้คงเอาไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก่อน ซื้อของเข้าบ้าน แม้เราจะไม่ได้พึ่งพาเงินนี้เป็นหลัก แต่มันช่วยได้เยอะ เพราะช่วงนี้หลานเพิ่งย้ายโรงเรียน ค่าใช้จ่ายเยอะหน่อย” นายอาบีดีน เมฆลอย ชาวกรุงเทพฯ อายุ 64 ปี ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ถูกนำเสนอต่อสาธารณชนครั้งแรกในการปราศรัยหาเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 โดยนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งในขณะนั้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค โดยระบุว่า หวังให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ 

“หลังเลือกตั้งเป็นต้นมาเศรษฐกิจฝืดเคือง ข้าวของแพงมาก ยิ่งสำหรับอาชีพเรา ต้องหมุนเงินตลอด ได้เงินก้อนนี้มาช่วยทุ่นภาระได้มาก ว่าจะเอาไปซื้อข้าวสารกับพวกน้ำมันพืชอะไรตุนไว้ จะรีบใช้เงินตัวนี้ให้หมดภายในวันสองวัน กลัวข้าวของจะราคาแพงขึ้นอีก เพราะน้ำท่วม” นางทอง คำมูล ชาวเชียงใหม่ อาชีพรับจ้างทำอาหารให้โรงเรียน อายุ 64 ปี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

หลังจากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล มีการเปิดเผยว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเริ่มช่วงต้นปี 2567 ก่อนเทศกาลสงกรานต์ แต่หลังจากนั้นรัฐบาลได้แถลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2567 โดยให้คำมั่นว่า ประชาชนไทย 50 ล้านคน ที่มีคุณสมบัติเข้ากับเงื่อนไขของโครงการจะได้ใช้เงิน 1 หมื่นบาทนี้ ก่อนสิ้นปี 2567 

000_363W46T.jpg
คนขับรถสามล้อ รอรับลูกค้าหน้าแผงขายผลไม้ ในกรุงเทพฯ วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 (ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)

“เรามีแหล่งเงินเพียงพอสำหรับการดำเนินการโครงการชัดเจนทุกประการ มีประชาชนที่มีสิทธิ 50.7 ล้านคน แต่จากการประมาณการจะมีคนเข้าร่วมโครงการ 45 ล้านคน จึงมีการเตรียมงบประมาณรอไว้ทั้งสิ้น 4.50 แสนล้านบาท โดยแหล่งเงินแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ การบริหารจัดการการคลังของปีงบประมาณ 2567 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2568 2.85 แสนล้านบาท” นายจุลพันธ์ ระบุในเดือนกรกฎาคม 2567 

อย่างไรก็ตามในวันที่ 16 กันยายน 2567  นายจุลพันธ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลจะเลื่อนการเปิดลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาท สำหรับคนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนผ่าน 3 ธนาคารรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งแต่เดิมจะเริ่มลงทะเบียนในวันที่ 16 กันยายนนี้ ออกไปก่อน

และยังประกาศเลื่อนการประกาศผลการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตบนแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” อย่างไม่มีกำหนดด้วย จากเดิมที่จะรู้ผลในวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา

“อยากให้มีนโยบายช่วยเหลือคนมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับคนหาเช้ากินค่ำที่เขาไม่มีเงินเดือนประจำไปตลอด ไม่ใช่ให้แค่เงินก้อนเดียวแล้วไม่มีอะไรช่วยอีก ส่วนคนกลุ่มอื่นที่มีเงินเดือนมีกำลังซื้อเขาดูแลตัวเองได้อยู่แล้ว” นางทอง กล่าว

ต่อโครงการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทของรัฐบาล ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า รัฐบาลควรเร่งให้ความชัดเจนแก่ประชาชนนอกกลุ่มเปราะบาง เพราะหากยิ่งล่าช้าจะยิ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล 

“รัฐมีหน้าที่สื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน และเร็วที่สุดว่า จะดำเนินโครงการอย่างไรต่อ เพราะโครงการนี้จำเป็นกับรัฐบาลเพื่อไทยมาก ๆ ในเรื่องการรักษาคำสัญญาทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อความนิยม ที่ผ่านมาการเลื่อนโครงการก็กระทบความเชื่อมั่น และแสดงให้เห็นความไม่พร้อมของรัฐบาลมามากพอแล้ว ยิ่งล่าช้าต่อไปยิ่งไม่เป็นผลดีกับตัวรัฐบาล และพรรคร่วมเอง” ดร. เอียชา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ และวิทยากร บุญเรือง ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง