เลื่อนดิจิทัลวอลเล็ตไม่มีกำหนด ความเชื่อมั่นหด ประชาชนหมดหวัง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.09.16
กรุงเทพฯ
เลื่อนดิจิทัลวอลเล็ตไม่มีกำหนด ความเชื่อมั่นหด ประชาชนหมดหวัง แม่ค้าแผงส้มในตลาดสดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ร้านค้าขนาดเล็กเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะได้ประโยชน์จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล วันที่ 2 ตุลาคม 2566
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์

ประชาชนที่รอคอยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลโดยการนำของพรรคเพื่อไทยต่างผิดหวังที่รัฐบาลประกาศการลงทะเบียน และประกาศผลลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเพื่อรับเงิน 10,000 บาท อย่างไม่มีกำหนด โดยนักวิชาการชี้ว่า การประกาศเลื่อนครั้งนี้กระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ควรเร่งหาทางแก้ไขปัญหา

“มันเสียความรู้สึก แล้วมันก็ผิดหวังอยู่แล้ว เพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลโฆษณามาแต่ต้น ยิ่งตอนหาเสียงก็พูดไว้เต็มที่ ถ้าสุดท้ายแล้วทำไม่ได้จริง ๆ ก็อาจทำให้คนเสียศรัทธากับรัฐบาล เพราะคนที่เขาเลือกมาก็หวังว่าจะได้ผลจริง ๆ ไม่ใช่แค่คำพูดลอย ๆ” น.ส. จิราภรณ์ ทับอุษา พนักงานบริษัทเอกชนในจังหวัดชลบุรี อายุ 34 ปี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ถูกนำเสนอต่อสาธารณชนครั้งแรกในการปราศรัยหาเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 โดยนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งในขณะนั้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค โดยระบุว่า หวังให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ 

“ชาวบ้านไม่อยากได้อะไรหรอก นอกจากทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น น้ำมันถูกลง สินค้าหลายรายการถูกลง เพราะทุกวันนี้ น้ำมันแพง สินค้าทุกอย่างก็แพงตาม ชาวบ้านก็ขายของไม่ได้ เราไม่หวังอะไรมากหรอก แค่อยากขายของได้ มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน” นายสารีนา อาบะ 54 ปี อาชีพเกษตรกรจากจังหวัดสงขลา กล่าว 

หลังจากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล มีการเปิดเผยว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเริ่มช่วงต้นปี 2567 ก่อนเทศกาลสงกรานต์ แต่หลังจากนั้นรัฐบาลได้แถลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2567 โดยให้คำมั่นว่า ประชาชนไทย 50 ล้านคน ที่มีคุณสมบัติเข้ากับเงื่อนไขของโครงการจะได้ใช้เงิน 1 หมื่นบาทนี้ก่อนสิ้นปี 2567 

“เรามีแหล่งเงินเพียงพอสำหรับการดำเนินการโครงการชัดเจนทุกประการ มีประชาชนที่มีสิทธิ 50.7 ล้านคน แต่จากการประมาณการจะมีคนเข้าร่วมโครงการ 45 ล้านคน จึงมีการเตรียมงบประมาณรอไว้ทั้งสิ้น 4.50 แสนล้านบาท โดยแหล่งเงินแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ การบริหารจัดการการคลังของปีงบประมาณ 2567 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2568 2.85 แสนล้านบาท” นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุในเดือนกรกฎาคม 2567 

แต่ล่าสุด นายจุลพันธ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลจะเลื่อนการเปิดลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาท สำหรับคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนผ่าน 3 ธนาคารรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งแต่เดิมจะเริ่มลงทะเบียนในวันที่ 16 กันยายนนี้ออกไปก่อน

และยังประกาศเลื่อนการประกาศผลการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตบนแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” อย่างไม่มีกำหนดด้วย จากเดิมที่จะรู้ผลในวันที่ 22 กันยายนที่จะถึงนี้

“สาเหตุที่ต้องเลื่อนลงทะเบียนกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนนั้น เนื่องจากจะนำตัวเลขกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน มาหักจากจำนวน 36.4 ล้านคน จากนี้รัฐบาลจะนำรายชื่อผู้ลงทะเบียนไปตรวจสอบสิทธิตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด ยืนยันว่า รัฐบาลต้องการเดินหน้าโครงการดิจิทัล และจะทำเฟสสองเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2568 หลังจากช่วงไตรมาสสี่นี้ ได้ดูแลกลุ่มเปราะบางแล้ว” นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐได้ถึงวันที่ 15 กันยายน 2567 โดยผู้มีสิทธิรับเงินจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 8.40 แสนบาท ในปีภาษี 2566 มีเงินฝากในธนาคารไม่เกิน 5 แสนบาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ซึ่งกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า มีผู้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ 36.4 ล้านคน 

“การเลื่อนโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตสะท้อนถึงความไม่พร้อมในหลายมิติ ทั้งในด้านเทคโนโลยีและการจัดการทรัพยากรของรัฐ  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรอบคอบของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายขนาดใหญ่แบบนี้ โครงการนี้มันมีความจำเป็นต่อรัฐบาลมาก ๆ ในแง่ของการรักษาคำมั่นสัญญาทางการเมือง และถ้ามองในทางการเมืองอย่างเดียว มันสำคัญมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นด้วยซ้ำ” ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

รัฐบาลระบุว่า การจ่ายเงิน 1 หมื่นบาท เฟสแรก จะถูกจ่ายให้กับกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน คือ ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ 12.4 ล้านคน และผู้พิการ 2.1 ล้านคน โดยจะเป็นการโอนเงินสดผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน ตั้งแต่วันที่ 25-28 กันยายน 2567 ส่วนเฟสที่สอง ยังไม่มีกำหนดการโอนเงินให้ แต่กระทรวงการคลังเชื่อว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดจะไม่เกิน 40 ล้านคน

“คนทำงานอย่างพวกเรา ส่วนใหญ่ก็คาดหวังว่าเงินดิจิทัลจะช่วยให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ อะไรที่ต้องซื้ออยู่ทุกวัน อย่างอาหารแห้งติดครัว หรือสินค้าทั่วไปที่ซื้อบ่อย ๆ เช่น อาหารแมว มันก็จะช่วยได้เยอะ จะได้มีเงินใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจมันไม่ดี มันก็จำเป็นนะ ก็ช่วยแบ่งเบาภาระได้อยู่” น.ส. จิราภรณ์ กล่าว

เบื้องต้น ร้านค้าที่จะร่วมโครงการต้องเป็นร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น โดยประชาชนต้องซื้อสินค้าภายในอำเภอตามทะเบียนบ้าน และต้องซื้อแบบต่อหน้าเท่านั้นไม่สามารถซื้อออนไลน์ได้ 

เงื่อนไขในการใช้เงินดิจิตอล 1 หมื่นบาท อาทิ ไม่สามารถนำไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้ เป็นต้น ทั้งยังไม่สามารถเบิกถอนเป็นเงินสดได้

“คิดว่ารัฐบาลควรรีบหาวิธีแก้ปัญหา หรือสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนและรวดเร็วกว่านี้ เพราะจะส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือและความนิยมของรัฐบาล รวมถึงอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลเองอีกด้วย” ดร. เอียชา ระบุ 

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงาน 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง