รัฐบาล : แจกดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท 50 ล้านคน ไตรมาสสี่
2024.04.10
กรุงเทพฯ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะแถลงความชัดเจนเรื่องโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทว่า พร้อมจะแจกให้กับประชาชนไทย 50 ล้านคนแน่นอนภายในไตรมาสที่สี่ ปี 2567 นี้ ด้านนักวิชาการมองว่า โครงการนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น และไม่คุ้มค่าในระยะยาว
“นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ที่จะยกระดับเศรษฐกิจระดับประเทศและระดับชุมชน ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว โดยประชาชนและร้านค้าจะได้ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนได้ในไตรมาสสาม และเงินจะส่งตรงถึงพี่น้องประชาชนในไตรมาสสี่ปีนี้” นายเศรษฐา แถลงที่ทำเนียบรัฐบาล
นายเศรษฐา ระบุว่า รัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย โดยดำเนินโครงการนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง และเกษตรกร
“จะให้สิทธิ์แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคนผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด จะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยประมาณร้อยละ 1.2-1.6 ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด” นายเศรษฐา กล่าว
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า การจัดสรรงบประมาณเป็นการดำเนินตามข้อกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
“วงเงิน 5 แสนล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านงบประมาณได้ทั้งหมด โดยเป็นการจัดการงบประมาณปี 67-68 ควบคู่กันไป” นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ ระบุว่า ที่มาของเงินที่ใช้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท 2. ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มเกษตรกร 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 172,300 ล้านบาท และ 3. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
โครงการนี้จะมีอายุโครงการ 6 เดือน มีเป้าหมายจ่ายให้กับประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป รายได้ต่อปีไม่เกิน 8.4 แสนบาท และมีเงินในบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท สามารถใช้เงินจำนวนนี้กับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น ไม่ให้ใช้กับร้านสะดวกซื้อ หรือห้างขายส่งขนาดใหญ่
รัฐบาลจะพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ขึ้นเพื่อใช้กับโครงการนี้ โดยเงินดังกล่าวจะไม่สามารถใช้ซื้อบริการ น้ำมันเชื้อเพลิง อบายมุข และสินค้าออนไลน์ได้ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถถอนเงินสดออกมาใช้ได้เมื่อลงทะเบียนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว
ต่อโครงการนี้ ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า รัฐบาลควรหาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ และยั่งยืนมากว่าโครงการแจกเงิน
“สถานการณ์เศรษฐกิจ ปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินอาจไม่จำเป็นมากนัก เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณโดยไม่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน โครงการนี้อาจไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร เพราะใช้งบประมาณมาก แต่กระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นเท่านั้น มิได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่แท้จริง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอาจให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่ามากกว่า” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าว
โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ถูกนำเสนอต่อสาธารณชนครั้งแรกในการปราศรัยหาเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 โดยนายเศรษฐา ซึ่งในขณะนั้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ต่อมามีการเปิดเผยว่า จะสามารถเริ่มโครงการได้ในช่วงต้นปี 2567 ก่อนเทศกาลสงกรานต์ กระทั่งมีการแถลงเลื่อนการดำเนินโครงการออกไปในปลายปี 2567
“ในทางการเมืองระยะสั้น โครงการนี้คุ้มค่าสำหรับพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรครัฐบาล เนื่องจากหากประสบความสำเร็จจะช่วยสร้างคะแนนนิยมจากประชาชน และเสริมภาพลักษณ์ว่าให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ในระยะยาว พรรคอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการหาเสียงสนับสนุนหากเศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
ต่อประเด็นความจำเป็นในการดำเนินโครงการ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า รัฐบาลต้องดำเนินโครงการนี้ เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น
“เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์การฟื้นตัวของรายได้ประชาชนที่มีความเหลื่อมล้ำ หลังจากช่วงโควิด-19 ปัญหาจากหนี้ครัวเรือน และภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีเงินหมุนเวียน” นายจุลพันธ์ กล่าว
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน