คนไทยถาม 'ดิจิทัลวอลเล็ตจะได้ทำไหม'

จิตต์สิรี ทองน้อย
2024.03.27
กรุงเทพฯ
คนไทยถาม 'ดิจิทัลวอลเล็ตจะได้ทำไหม' นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เปิดตัวนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ครั้งแรกบนเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรค ที่ธันเดอร์โดม สเตเดียม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี วันที่ 5 เมษายน 2566
ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ-Thai News Pix/เบนาร์นิวส์

ถึงแม้ว่า รัฐวีร์ ผุยพรม จะทำกิจกรรมในนามกลุ่มเสื้อแดงมาอย่างยาวนานตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 แต่ปัจจุบันนี้ รัฐวีร์กล่าวว่า เธอค่อนข้างผิดหวังกับผลงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างยิ่ง

“รัฐบาลน่าจะอยู่ 4 ปี แต่ไม่คาดหวัง ยังไม่เป็นรูปธรรม ชาวบ้านก็ยังรอดิจิทัลวอลเล็ต ทำไมยังไม่ได้”

ปัจจุบันรัฐวีร์อายุ 54 ปี และอาศัยอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงยุคสมัยที่ผ่านมา 

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 แต่ปัจจุบัน รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ทำงานมามากกว่าเจ็ดเดือนแล้ว แต่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะแปรนโยบายนี้เป็นการปฏิบัติตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ 

นโยบายดังกล่าวซึ่งเป็นการเติมเงินดิจิทัลมูลค่า 10,000 บาท ให้กับประชาชน พบกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูว่าที่มาของงบประมาณ 5 แสนล้านบาท จะมาจากทางใด รวมไปถึงข้อติดขัดด้านกฎหมายและวินัยการเงินการคลัง

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเศรษฐกิจไทยตกต่ำไปถึงระดับ -6.1% ในปี 2563 ช่วงโควิด ซึ่งนายเศรษฐากล่าวว่า ต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 5% ในช่วงสี่ปีในการทำงาน โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตไม่ถึงระดับนั้นแต่อย่างใด 

สัญญิงสัญญา

ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่ใกล้เคียงกับความเป็นประชานิยมที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีความเชี่ยวชาญ โดยเป็นการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท เข้ากระเป๋าคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ต่ำกว่า 70,000 บาทต่อเดือน หรือมีเงินฝากน้อยกว่า 500,000 บาท โดยจะมีคนไทยราว 50 ล้านคน มีเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ

240327_02.jpg
ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ถ่ายเซลฟี่กับแผ่นป้ายหาเสียงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย เขตบางแค กรุงเทพฯ วันที่ 12 เมษายน 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

กระนั้นยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของที่มางบประมาณ เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านวินัยการคลังและผิดกฏหมาย ยังเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่และยังหาข้อสรุปไม่ได้

รศ.ดร. อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า “กฏหมายไม่เอื้อ ประเทศชาติต้องอยู่ในวิกฤติ เศรษฐกิจ ถ้ากู้ก็ยากอาจผิดกฏหมายวินัยการเงินการคลัง หรือถ้าทำก็คือใช้งบประมาณ งบที่ต้องใช้ห้าแสนล้านก็ต้องตั้งเป็นงบขาดดุลเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ขาดดุลเยอะอยู่แล้ว ถ้าได้ ก็ต้องหาช่องทางหาเงิน ก็ต้องกู้ ออกพันธบัตรในประเทศ กู้ต่างประเทศหรือขึ้นภาษี คือทำได้แต่ก็มีผลกระทบเยอะ”

เมธิส โลหเตปานนท์ นักวิเคราะห์การเมืองไทยและนักศึกษาปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวว่าเมื่อคราวหาเสียง พรรคเพื่อไทยได้ประกาศว่า “จะไม่ต้องมีการกู้เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และโดยเฉพาะเป็นการกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในคราวเดียวด้วย”

“(การกู้) นอกจากจะเป็นการผิดวินัยการคลังแล้ว ยังไม่ใช่ยาถูกขนานเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย”

เมธิสกล่าวว่า ตามข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำอยู่ที่ 1.9% ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการส่งออกและภาคการลงทุนถดถอย ในขณะที่การอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นภาคส่วนที่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต้องการกระตุ้นยังมีการเติบโตดีอยู่

ทำเพื่อคะแนนเสียง

ในเดือนกุมภาพันธ์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งความเสี่ยงต่อการทุจริต ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต และความเสี่ยงด้านกฏหมาย โดยได้อ้างถึงตัวบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยว่ายังไม่ถึงขั้นประสบวิกฤติ เพียงแค่ชะลอตัวเท่านั้น

รศ.ดร. อัทธ์ กล่าวว่าส่วนตัวคิดว่านโยบายดังกล่าวไม่น่าทำได้ “แต่ก็ต้องทำเพราะเป็นนโยบายของเขา ถ้าไม่ทำก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น เปลี่ยนตัวนายกฯ หรืออาจจะเพราะว่าผิดกฏหมาย ก็ต้องหาเหตุผลมาว่าทำไม ทำไม่ได้ก็เสียรังวัดอีก”

“เป็นบทเรียนของพรรคการเมืองในรอบหน้า ทำไมไม่คิดให้ถี่ถ้วน ไม่ดูให้ดี อยากได้คะแนนเสียงจนไม่ดูรายละเอียด เสียรังวัด เสียศูนย์”

TH-digital-wallet 3.jpeg
ลูกค้ามองหาซื้อข้าวและอาหารกระป๋องที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ วันที่ 20 กันยายน 2565 (ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)

เมธิสกล่าวว่า นายกฯ เศรษฐาไม่มีทางเลือกมากนักขณะนี้ “เนื่องจากพรรคเพื่อไทยได้เน้นย้ำว่าจะมีการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จึงทำให้นายเศรษฐาถอยหลังได้ยาก นอกจากจะต้องแสดงออกว่าพยายามดำเนินนโยบายนี้แล้วอย่างถึงที่สุดก่อน ก็ไม่แน่ชัดว่าอาจดำเนินนโยบายนี้ในสโคปที่แคบลงหรือไม่”

ในการแถลงข่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กล่าวว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะมีความชัดเจนช่วงวันที่ 10 เมษายน ก่อนคนไทยจะได้รับเงินดิจิทัลถึงมือในช่วงไตรมาสสี่ก่อนสิ้นปีอย่างแน่นอน

“สถานการณ์เศรษฐกิจขนาดนี้เสียงตรงกันว่าต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังวันที่ 10 คือสรุปสุดท้าย และยืนยันว่าเดินหน้าโครงการแน่นอนและถึงมือประชาชนสิ้นปีนี้” จุลพันธ์กล่าว

หมดยุคประชานิยม

ไม่ใช่เรื่องน่ากังขาว่า นโยบายประชานิยมยุคทักษิณ ชินวัตร ได้เปลี่ยนโฉมหน้าทางการเมืองไทยไปอย่างไร จนถึงปัจจุบันนี้นโยบายอย่าง หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอทอป หรือสามสิบบาทรักษาทุกโรค ก็ยังมีการดำเนินการอยู่

TH-digital-wallet 4.jpeg
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกโค่นอำนาจ ทักทายผู้สนับสนุนขณะออกจากศาลฎีกา ในกรุงเทพฯ วันที่ 1 สิงหาคม 2560 (อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)

พรรคเพื่อไทยได้มีการใช้นโยบายประชานิยมหาเสียงเรื่อยมา โดยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง ได้มีการหาเสียงเรื่องนโยบายจำนำข้าว

ก่อนที่นโยบายดังกล่าวจะมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเรียกเงินกลับคืนคลัง และนางสาวยิ่งลักษณ์เอง ยังได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการดังกล่าว

รัฐวีร์ จากจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ประชานิยมส่งผลต่อการเลือกตั้ง แม้จะไม่ได้รับประกันว่าความนิยมจะคงอยู่ตลอดไป

“คะแนนนิยมเพื่อไทยตกลงเยอะมาก เสื้อแดงคุยกันว่าเพื่อไทยทำเพื่อพ่อคนเดียว แล้วถ้าดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้อีกก็จบแล้ว”

TH-digital-wallet-money .JPG
พนักงานธนาคารรวบรวมตรวจนับธนบัตรที่สาขาหนึ่งของธนาคารกสิกรไทย ในกรุงเทพฯ วันที่ 26 มกราคม 2566 (อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/เอเอฟพี)

รศ.ดร. อัทธ์ กล่าวว่า ในส่วนของผลงานรัฐบาลเศรษฐาเองไม่ได้มีผลงานอะไรใหม่

“ในอนาคตประชานิยมจะค่อย ๆ หายไป เป็นการกดดันประเทศเนื่องจากไม่มีเงิน และเป็นการเอาเงินไปสนับสนุนประชานิยมไม่ออกผล เป็นเพียงการรักษาแผลระยะสั้นเท่านั้น”

นักวิเคราะห์รายอื่นเช่น เมธิส เห็นว่ายังไม่ชัดเจนว่าประชานิยมจะอยู่คู่การเลือกตั้งไทยไปอีกนานแค่ไหน

“นโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจไม่เพียงพอต่อการชนะการเลือกตั้งในเมืองไทยอีกต่อไป พรรคการเมืองทุกพรรค ร่วมถึงพรรคอนุรักษ์นิยมที่ต่อต้านคุณทักษิณ เสนอนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว แต่นี่ก็อาจหมายความว่า ประชานิยมจะยังคงอยู่ เนื่องจากทุกพรรคก็เสนอการแจกเงินแจกผลประโยชน์ทั้งสิ้น พรรคที่ไม่มีนโยบายแบบนี้ ก็อาจส่งผลให้สูญเสียคะแนนในการเลือกตั้งได้”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง