ชุมนุมหน้ากระทรวงยุติธรรม ร้องนิรโทษกรรมคดีการเมือง และยกเลิก ม.112

รมว. ยุติธรรม ระบุ สภากำลังพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.11.09
กรุงเทพฯ
ชุมนุมหน้ากระทรวงยุติธรรม ร้องนิรโทษกรรมคดีการเมือง และยกเลิก ม.112 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงมารับหนังสือและกล่าวกับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพฯ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566
ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ /Thai News Pix

ประชาชนชุมนุมที่หน้ากระทรวงยุติธรรม เรียกร้องให้นิรโทษกรรม ผู้ที่ถูกดำเนินคดีการเมือง และยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้าน นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า การนิรโทษกรรมจะถูกหารือในสภา หลังจากมีการเสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เข้าสู่สภาแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2566 

กลุ่มเยาวชน และประชาชนหลายสิบคนในนาม “กลุ่มคณะราษฎรยกเลิก 112” รวมตัวกันที่หน้ากระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ บางคนใส่ชุดนักโทษ ใส่โซ่ตรวนที่ขา และชูป้ายเรียกร้องให้นิรโทษกรรมผู้ต้องหา และนักโทษคดีการเมือง ทั้งยังเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112

วันนี้พวกเรามาเพื่อที่จะยื่นหนังสือให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ทำไมเราต้องนิรโทษกรรมคดีระเบิด คดีที่มีความรุนแรงด้วย เพราะท้ายที่สุด มันเป็นคดีที่มูลเหตุจูงใจทางการเมือง เขาคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากรัฐ มีคนที่ยังไม่ถูกตัดสิน คดียังไม่สิ้นสุด สิทธิประกันตัวเป็นสิทธิที่เขาควรจะได้รับ ถ้าไม่มียุ่งเหยิงพยาน และหลบหนี ท้ายที่สุดเขาคือ คนคนนึงที่เป็นเหยื่อของความอยุติธรรมเช่นกัน เขาควรจะได้ออกมาใช้ชีวิต และไม่ต้องต่อสู้กับความรุนแรงของรัฐ” น.ส. ตะวัน ตัวตุลานนท์ กล่าวระหว่างการชุมนุม 

ทั้งนี้ ยังมีข้อเรียกร้องโดยสรุประบุว่า 1. รัฐบาลต้องนิรโทษกรรม และผู้ถูกดำเนินคดีที่มีมูลเหตุจากการเมือง ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน 2. นักโทษการเมืองในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดจะต้องได้รับสิทธิการประกันตัว 3. ยกเลิกมาตรา 112 เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และ 4. ยกเลิกการใช้กุญแจข้อเท้า และข้อกำหนดเยี่ยมญาติได้เพียง 10 คน เพิ่มวันเยี่ยมญาติในวันเสาร์ ให้ผู้ต้องขังคดีระหว่างการพิจารณาของศาล

ด้าน นายทวี ได้ลงมารับหนังสือเรียกร้องด้วยตัวเอง โดยกล่าวกับประชาชนและสื่อมวลชนว่า กระทรวงยุติธรรมจะพยายามปรับปรุงกฎหมาย เพื่อคืนสิทธิให้กับผู้ต้องขังทุกคน และสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมของประชาชน 

ตอนนี้ ทราบว่าพรรคการเมืองเสนอเรื่องเข้าสภาแล้ว ก็คงจะมีการบรรจุ การอภิปราย มีความเห็น ผมเชื่อว่า เวทีสภาเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนที่จะได้มีความเห็น แต่การประกันตัวเป็นเรื่องของศาล กระทรวงยุติธรรมเรามีหน้าที่แก้ไขกฎหมาย และทำให้กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกคนโดยเฉพาะในรัฐบาลปัจจุบัน เราจะยึดหลักนิติธรรม เราจะใช้เวทีของสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนประชาชนแก้กฎหมาย” นายทวี ระบุ

การชุมนุมขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เริ่มขึ้นในกลางปี 2563 ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2563 รัฐบาลเริ่มดำเนินคดีกับแกนนำ และผู้ชุมนุมทางการเมือง 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากคดีเกี่ยวกับการเมือง อย่างน้อย 1,925 คน ใน 1,241 คดี เป็นคดี ม.112 อย่างน้อย 278 คดี มีผู้ต้องหา 257 คน มีผู้ต้องขังคดีการเมืองถูกคุมขัง อย่างน้อย 36 คน แบ่งเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีและไม่ได้รับประกันตัว 26 คน ในนั้นเป็นคดี ม.112 จำนวน 14 คน และถูกขังในคดีที่สิ้นสุดแล้ว 10 คน

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 นายชัยธวัช ตุลาธน สส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เป็นตัวแทน สส. เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคล ซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร

เพื่อให้สังคมกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ เราจำเป็นต้องยุตินิติสงครามต่อประชาชน ให้ประชาชนที่เคยแสดงออกทางการเมืองโดยมีมูลเหตุความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเป็นก้าวแรกในการสร้างความยุติธรรมและปรองดองอย่างยั่งยืนในสังคมต่อไป กฎหมายฉบับนี้จะเป็นหมุดหมายในการคืนชีวิตใหม่ให้แก่ประชาชน แต่ไม่ควรสนับสนุนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของการใช้อำนาจรัฐต่อประชาชน” นายชัยธวัช กล่าว

ร่างนิรโทษกรรมดังกล่าว จะครอบคลุมถึงการกระทำของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) ในปี 2549 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2552-2553 กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ปี 2556-2557 ขบวนการนักศึกษาและประชาชนฝ่ายต่อต้าน คสช. ปี 2557-2562 และกลุ่มคณะราษฎร ปี 2563-2564

แต่ไม่ครอบคลุมถึงการนิรโทษกรรมให้ เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่เกินกว่าเหตุ, การกระทำผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา เว้นแต่เป็นการกระทำโดยประมาท, การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 113 หรือ คดีกบฏล้มล้างรัฐธรรมนูญ, ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และแบ่งแยกการปกครอง

ต่อประเด็นนี้ ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า รัฐบาลเพื่อไทยมีความพยายามที่จะสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง แต่เชื่อว่า การนิรโทษกรรมจะทำได้ยาก

โอกาสที่จะมีการนิรโทษกรรมนั้น ส่วนตัวคิดว่าเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจาก ม.112 ละเอียดอ่อนและสำคัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หากเพื่อไทยตัดสินใจดำเนินการนิรโทษกรรม อาจทำให้เกิดความขัดแย้งและวิกฤตทางการเมือง ต้องเผชิญกับแรงกดดัน ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับมาตราดังกล่าว” ดร. เอียชา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ขณะที่ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลควรทำนิรโทษกรรมแล้ว

“ตั้งแต่ รัฐประหารปี 49 ถึงปี 53 ก็มีคนตาย แต่พอปี 56 มีการเสนอนิรโทษกรรมก็เป็นเหตุให้เกิดการรัฐประหาร ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการชุมนุม และมีคดีเยอะ ถ้ามองว่าความขัดแย้งจบแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปเอาผิดในช่วงระหว่างที่ความขัดแย้งเกิดขึ้น ก็จะเป็นเหตุผลในการนิรโทษกรรมได้” นายยิ่งชีพ กล่าว 

จริง ๆ นิรโทษกรรมไม่ยากอะไรในทางกฎหมาย ก็แค่ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในอดีตประเทศเรานิรโทษกันมา 22 ครั้งแล้ว เคยนิรโทษกรรมคนที่ก่อกบฎ นิรโทษอะไรที่ร้ายแรงกว่า 112 มาเยอะแล้ว แต่พอยุคนี้กลับมีกลุ่มคนที่ทำให้มันเป็นเรื่องยาก ทำให้ 112 เป็นเงื่อนไขที่จะไม่นิรโทษกรรม” นายยิ่งชีพ กล่าวเพิ่มเติม

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่, มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี และชลัช ชมใจ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง